ปี 63 ฝุ่นพิษ ‘PM 2.5’ คร่าชีวิตคน 1.6 แสน ใน 5 เมืองใหญ่ของโลก !

ปี 63 ฝุ่นพิษ ‘PM 2.5’ คร่าชีวิตคน 1.6 แสน ใน 5 เมืองใหญ่ของโลก !

 

ฝุ่นพิษ “PM 2.5” เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ของประชากรราว 160,000 ราย ใน 5 เมืองใหญ่ของโลก ในปี พ.ศ.2563 เฉพาะ “กทม.” ร่วมหมื่นราย

 

กรุงเทพฯ, 18 กุมภาพันธ์ 2564  – ผลการศึกษาของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ IQAir จากการวิเคราะห์ข้อมูลจากป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง (live Cost Estimator) ออนไลน์ พบว่า ปี 2563  ฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 160,000 รายใน 5 เมืองใหญ่ที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ในขณะที่หลายเมืองมีคุณภาพอากาศดีขึ้นบ้าง อันเป็นผลมาจากมาตรการล็อคดาวน์ช่วงการระบาดของโควิด-19 ผลกระทบที่รุนแรงจากมลพิษทางอากาศย้ำถึงความจำเป็นในการขยายระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดอย่างรวดเร็ว สร้างระบบขนส่งมวลชนไฟฟ้าที่ประชาชนเข้าถึงได้ และยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

อวินัช จันทร์ชาญ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ อินเดีย กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลเลือกใช้ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ มากกว่าพลังงานหมุนเวียน นั่นคือต้นทุนด้านสุขภาพที่ประชาชนต้องเป็นผู้จ่าย มลพิษทางอากาศจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มความเสี่ยงจากการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดทางสมอง ความเจ็บป่วยจากโรคหอบหืด และเพิ่มความรุนแรงของโควิด-19 ในเมื่อทางแก้ปัญหามลพิษทางอากาศมีอยู่พร้อมแล้วและมีราคาไม่แพง เราจึงไม่อาจทนหายใจเอาอากาศสกปรกเข้าปอดอีกต่อไป

 

ปี 2563 กรุงเดลี ประเทศอินเดียมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ประมาณ 54,000 ราย หรือคิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 1 คนต่อประชากร 500 คน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 13,000 ราย และมีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่เกี่ยวข้องกับฝุ่นพิษ PM 2.5 อย่างต่อเนื่องคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 3.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 101,570,000,000 บาท หรือคิดเป็นร้อยละ 8.2 เทียบกับ GDP ทั้งหมดของกรุงจาการ์ตา

 

ในประเทศไทย มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรกว่า 14,000 รายใน 6 จังหวัด โดยคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 149,367,000,000 บาทกรุงเทพมหานครมีความเสียหายมูลค่าทางเศรษฐกิจจากมลพิษ PM2.5 กว่า 3.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 104,557,000,000 บาท โดยคิดเป็นร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัด(city’sGDP) โดยฝุ่นพิษ PM 2.5 เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากรในกรุงเทพฯ เกือบ 10,000 ราย ซึ่งถือเป็นจังหวัดที่มีการเสียชีวิตจากฝุ่นพิษ PM 2.5 สูงสุดในประเทศไทย รองลงมาคือ เชียงใหม่ ชลบุรี สมุทรสาคร ขอนแก่น และระยอง ปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดความเสียหายที่เกิดขึ้นคือ ระยะเวลา ความหนาแน่นของประชากร และกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในจังหวัด ในขณะที่ประเทศไทยใช้มาตรการล็อคดาวน์เพื่อรับมือกับสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 มาหลายเดือนแล้ว แต่ปัญหามลพิษทางอากาศกลับไม่ได้ลดน้อยลงเลย และกำลังคุกคามสุขภาพของประชาชน และระบบเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เว้นแต่ว่าวิกฤตมลพิษทางอากาศจะได้รับการแก้ไข

 

ในปี 2563 ความเสียทางเศรษฐกิจโดยประมาณจากฝุ่นพิษ PM 2.5  ใน 14 เมืองที่ปรากฎอยู่ในป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 149,367,000,000 บาทและเมืองที่มีค่าความเสียหายจากมลพิษ PM 2.5 สูงที่สุดที่บันทึกไว้คือ โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรประมาณ 40,000 ราย และคิดเป็นความสียหายทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ประมาณ 43,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 1,284,560,000,000 บาท ลอสแองเจลิสทำสถิติสูงสุดด้าน

 

ค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจจากฝุ่นพิษ PM 2.5 ต่อคน โดยคิดเป็นมูลค่าประมาณ 2,700 เหรียญสหรัฐต่อคน หรือ 80,658.20 บาทต่อคน

 


 

กรีนพีซ เรียกร้องให้รัฐบาลในทุกระดับสนับสนุนให้เกิดลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ เพื่อเป็นการป้องกันสุขภาพของประชาชนจากมลพิษทางอากาศที่ร้ายแรง

 

แฟรงค์ แฮมเมส ผู้บริหาร IQAir กล่าวว่า การหายใจของคนเราไม่ควรเป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ความจริงที่ว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรราว 160,000 รายใน 5 เมืองใหญ่ น่าจะทำให้เราฉุกคิด โดยเฉพาะในปีที่ผ่านมาที่หลายเมืองมีคุณภาพอากาศดีขึ้นเนื่องจากมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจน้อยลง ภาครัฐ บริษัทต่าง ๆ และภาคประชาชนต้องร่วมกันลดแหล่งกำเนิดมลพิษทางอากาศและทำให้เมืองของเราน่าอยู่ขึ้น

 

วริษา สี่หิรัญวงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างโครงสร้างพื้นฐานของระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดในหลาย ๆ ส่วนของโลกนั้นมีต้นทุนถูกกว่าการลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษ โดยที่ยังไม่รวมต้นทุนผลกระทบของมลพิษทางอากาศและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่ รัฐบาลต้องการให้เกิดการฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ จากสถานการณ์การระบาดของโควิด -19 ภาครัฐจำเป็นต้องสนับสนุนการจ้างงาน และสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และเพิ่มการลงทุนระบบพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ เราต้องการสภาวะปกติที่ดีขึ้นไม่เพียงเพื่ออากาศที่ดีของเรา แต่รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว อุทกภัย ความแห่งแล้งยาวนาน คลื่นความร้อน พายุที่รุนแรง –  ที่เป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

 


 

              หมายเหตุ :

[1] ฝุ่นพิษ PM 2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน การสัมผัสกับPM 2.5 ถือเป็นปัจจัยเสียงทางสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของประชาชนทั่วโลก และเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรของประชากร 4.2 ล้านรายในปี 2558

 

[2] ป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริง (live Cost Estimator) ออนไลน์ พัฒนาโดยศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (Centre for Research on Energy and Clean Air) โดยใช้ข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงจาก IQAir ร่วมกับแบบจำลองความเสี่ยงทางวิทยาศาสตร์ ตลอดจนข้อมูลจำนวนประชากรและสุขภาพ เพื่อติดตามวัดผลกระทบด้านสุขภาพและเศรษฐกิจจากมลพิษทางอากาศตามเวลาจริง ป้ายแสดงผลตัวเลขตามเวลาจริงใช้อัลกอริทึมและข้อมูลคุณภาพอากาศระดับพื้นดินแบบรายชั่วโมงในเมืองต่าง ๆ ทั่วโลกมาคำนวณความเสียหายโดยพิจารณาผลกระทบทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากมลพิษ PM 2.5 ตลอดทั้งปี โดยคำนวนความเสียหายสะสมในช่วง 365 วันตามระดับมลพิษที่บันทึกไว้ในระหว่างปีจนถึงปัจจุบัน มลพิษทางอากาศมากมายส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเราซึ่งรวมถึงมลพิษ PM2.5  ดังนั้นตัวเลขที่คำนวณได้จึงน่าจะเป็นการประเมินค่ามลพิษทางอากาศทั้งหมดที่ต่ำเกินไป

 

ป้ายแสดงผลตัวเลขสร้างขึ้นด้วยวิธีการที่อธิบายไว้ในรายงาน อากาศพิษ: ราคาเชื้อเพลิวฟอสซิล (Toxic Air: The Price of Fossil Fuels) ที่จัดทำโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และศูนย์วิจัยพลังงานและอากาศบริสุทธิ์ (CREA) ซึ่งรวบรวมผลทางวิทยาศาสตร์ล่าสุดเกี่ยวกับความสัมพันธ์การตอบสนองต่อการสัมผัสระหว่าง มลพิษทางอากาศและผลลัพธ์ด้านสุขภาพตลอดจนต้นทุนทางเศรษฐกิจของสภาวะสุขภาพที่เชื่อมโยงกับมลพิษทางอากาศในบทความวิจัยทางวิทยาศาสตร์

 

//......................

              CR : greenpeace thailand

//......................