สิ่งที่ ‘ปชช.’ ต้องรู้ !! ก่อน ‘รัฐบาล’ ตัดสินใจเข้าร่วม ‘CPTPP’

สิ่งที่ ปชช.ต้องรู้ !! ก่อน รัฐบาลตัดสินใจเข้าร่วม ‘CPTPP’

 

ภายในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้ รัฐบาลโดยคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะตัดสินใจว่า จะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่

 

นี่คือสิ่งที่ประชาชนทุกคนควรทราบ ก่อนการตัดสินใจดังกล่าว

 

ไบโอไทย จะทยอยนำข้อสรุปที่มาจาก รายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบจากการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) สภาผู้แทนราษฎร มานำเสนออย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจบนพื้นฐานของการปกป้องผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่และทรัพยากรของประเทศ มากกว่าการคำนึงถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากบางสาขาของคนบางกลุ่ม

 

ข้อความที่โควทมาในภาพทุกถ้อยคำมาจากรายงานของกมธ. สภาผู้แทนฯ ซึ่งแต่งตั้งจากส.ส.จากทั้งพรรคฝ่ายค้านและรัฐบาล รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน

 

โดยในผลสรุปที่เกี่ยวกับเรื่องพันธุ์พืชนั้น รายงานได้ระบุผลกระทบมากถึง 7 ข้อ ซึ่งไบโอไทยนำผลกระทบข้อแรก (ข้อ 1) มานำเสนอ ดังนี้

 

"1.สูญเสียประสิทธิภาพในการกำกับดูแลการขออนุญาต และแบ่งปันผลประโยชน์ในกรณีที่มีการใช้พันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไป พันธุ์พืชป่า หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพันธุ์พืชดังกล่าวในการปรับปรุงพันธุ์เพื่อประโยชน์ในทางการค้า เนื่องจากไม่สามารถกำหนดให้แสดงหลักฐานการขออนุญาตและแบ่งปันผลประโยชน์ในการยื่นขอจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ได้อีกต่อไป ทำให้ต่างชาติมีโอกาสที่จะมาลักลอบเอาพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปขอรับความคุ้มครองในต่างประเทศ ซึ่งจะทำให้ผู้ส่งออกไม่สามารถจำหน่ายไปยังประเทศที่พันธุ์นั้นได้รับความคุ้มครองสิทธิ และจะเป็นการเปิดโอกาสให้กับต่างชาติเข้ามานำพันธุ์พืชของไทยไปพัฒนาได้ และส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศได้เร็วกว่านักปรับปรุงพันธุ์พืชชาวไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ปัจจุบันประเทศไทยยังขาดความพร้อมด้านระบบฐานข้อมูลพันธุ์พืชดั้งเดิม"

 

รายงานนี้ได้ผ่านความเห็นชอบแล้วโดยสภาผู้แทนราษฎร ถือเป็นความเห็นของสภาฯ แต่รัฐบาลจะตัดสินใจอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

 

ประชาชนมีสิทธิอย่างเต็มที่ ที่จะแสดงความคิดเห็นและแสดงออกว่า เราต้องการให้รัฐบาลตัดสินใจเช่นไร ในระยะเวลาประมาณ 90 วัน นี้

 

 

การเข้าร่วม CPTPP โดยมีเงื่อนไขให้ยอมรับอนุสัญญา UPOV1991 จะส่งผลกระทบต่อวิถีการพัฒนาสายพันธุ์พืชโดยเกษตรกรและชุมชน ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และความมั่นคงทางอาหารของประเทศอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีการขยายสิทธิผูกขาดให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ โดยนอกเหนือจากพวกเขาจะได้สิทธิคุ้มครองในพันธุ์พืชใหม่แล้ว ยังขยายสิทธิการคุ้มครองไปยังสายพันธุ์พืชที่มีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ หรืองอนุพันธ์สำคัญของพันธุ์พืชใหม่ (Essentially derived variety; EDV) ของบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วย

 

รายงานการวิคราะห์ของกรรมาธิการ CPTPP สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมีสมาชิกกรรมาธิการรวม 48 คน ทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล  ผู้ทรงคุณวุฒิ (รวมทั้งอธิบดีกรมวิชาการเกษตร อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา และอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ) เป็นต้น  ได้สรุปเรื่องผลกระทบในกรณีพันธุ์พืช สอดคล้องกับที่ไบโอไทยได้เคยนำเสนออย่างต่อเนื่องมาก่อนหน้านี้

 

ทั้งนี้ในรายงานฉบับดังกล่าวได้ระบุผลกระทบไว้ดังนี้

 

"2.อาจสร้างปัญหาการละเมิดสิทธินักปรับปรุงพันธุ์พืชโดยไม่เจตนา จากการขยายสิทธิคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ให้ครอบคลุมถึงอนุพันธ์สำคัญ (Essentially derived variety; EDV) ของพันธุ์พืชใหม่ด้วย หากเกสรจากพันธุ์พืชใหม่ถูกลมหรือสัตว์พาหะนำไปผสมกับพันธุ์พืชพื้นเมืองทั่วไปในแปลงข้างเคียง ในบางกรณีอาจทำให้เมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรในแปลงข้างเคียงเข้าข่ายที่จะเป็น EDV ได้ นอกจากนี้การให้ความคุ้มครองแก่ EDV ยังจะส่งผลกระทบต่อการคัดเลือก และพัฒนาพันธุ์พืชของเกษตรกรรายย่อยและชุมชนท้องถิ่นโดยอาจไม่สามารถทาตามวิถีของเกษตรกรที่มีมาแต่เดิมในการคัดเลือกเก็บพันธุ์ ซึ่งมีลักษณะที่ต้องการที่เกิดขึ้นใหม่จากในแปลงปลูกมาปลูกได้"

 

ผลประโยชน์อะไรหรือ ที่จะทำให้รัฐบาลไม่ฟังคำท้วงติงของกมธ. (ทั้ง ๆ ที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมีสัดส่วนในกมธ.เป็นจำนวนมาก) ไม่ฟังเสียงของสภา ฝ่าความเห็นคัดค้านของประชาชน เดินหน้าเข้าร่วม CPTPP ?

 

 

ก่อนเดือนสิงหาคม 2564 รัฐบาลจะตัดสินใจอีกครั้งว่า จะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ ทั้ง ๆ ที่รายงานการศึกษาของสภาฯระบุอย่างชัดเจนว่า เกษตรกรและวิสาหกิจขนาดเล็กขนาดย่อมจะได้รับผลกระทบอย่างมากและกว้างขวาง

 

หากประเทศไทยเข้าร่วม CPTPP บริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่จะเข้ามาผูกขาดตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศในเวลาอันรวดเร็ว เนื่องจาก UPOV1991 ได้ขยายสิทธิผูกขาดในพันธุ์พืชใหม่ให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์มากยิ่งไปกว่า UPOV1978 ซึ่งอนุญาตให้เกษตรกรเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อได้ และไม่กีดกันนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยในการเข้าถึงสายพันธุ์พืชเพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์

 

ประเทศไทยได้ให้สิทธิผูกขาดการขาย นำเข้า ส่งออก แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์มาตั้งแต่ปี 2542 ผ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ซึ่งร่างขึ้นตาม UPOV1978 โดยการยื่นขอรับ "หนังสือสำคัญแสดงการจดทะเบียนพันธุ์พืชใหม่" (ค.พ.2)

 

จากสถิติจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน 2563 มีสายพันธุ์พืชใหม่ได้รับการจดทะเบียนแล้ว 619 สายพันธุ์ โดยบริษัทเอกชนที่ได้สิทธิครอบครองพันธุ์พืชใหม่ที่สุดคือ มอนซานโต้ และกิจการเมล็ดพันธุ์ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับสิทธิครอบครองพันธุ์พืชไปบริษัทละ 77 สายพันธุ์ รองลงมาคือ อีสท์เวสต์ซีดส์ ยักษ์ใหญ่จากยุโรป จำนวน 49 สายพันธุ์

 

สัดส่วนของบริษัทเอกชนที่ได้สิทธิในพันธุ์พืชใหม่นั้นมีสัดส่วนสูงถึง 63% ในขณะที่บุคคลทั่วไปนั้นมีสัดส่วนเพียง 9.5% เท่านั้น

 

การศึกษาของ Dwijen Rangnekar ที่ประมวลการศึกษาหลายชิ้นเกี่ยวกับเรื่องนี้ในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษ ซึ่งศึกษาการนำระบบทรัพย์สินทางปัญญามาใช้ในเรื่องพืชพบว่า การขอรับการคุ้มครอง 68-89% อยู่ในกลุ่มผู้ยื่นรับความคุ้มครองเพียง 5% เท่านั้น ผู้ยื่นคำขอ 75-82% ไม่ได้รับการคุ้มครองแม้แต่ชิ้นเดียวระหว่างปี 1965-1995 เขาสรุปว่าการคุ้มครองสิทธินักปรับปรุงเป็นประโยชน์กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เท่านั้น มิใช่นักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย

 

ประเด็นไม่ได้อยู่แค่นั้น ระบบการให้สิทธิผูกขาดที่ขยายอำนาจให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้นเช่น UPOV1991 จะทำให้เกิดการรวมศูนย์เพิ่มมากขึ้นไปอีก

 

การศึกษาของ Srinivasan ยืนยันการศึกษาดังกล่าวโดยจากการวิเคราะห์ข้อมูลของสมาชิก UPOV 30 ประเทศ ในพืชหลักสำคัญ 6 ชนิด พบว่ามีการรวมศูนย์ของอุตสาหกรรมเมล็ดพันธุ์ในระดับสูง และกระบวนการแปลงเมล็ดพันธุ์ซึ่งเคยเป็นทรัพย์สินสาธารณะมาเป็นทรัพย์สินเอกชนโดยผ่านระบบกฎหมายดังกล่าว ได้เอื้ออำนวยให้เกิดการควบรวมกิจการระหว่างบริษัทเมล็ดพันธุ์ด้วยกันเอง นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา

 

ปัจจุบันเราจึงพบได้ว่าบรรษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของโลกไม่กี่บริษัทครอบครอบตลาดเมล็ดพันธุ์กว่า 80% ของโลก บริษัทเหล่านั้นทั้งมาลงทุนโดยตรงในประเทศไทยและร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของไทย ครอบครองตลาดเมล็ดพันธุ์แทบทั้งหมดในสาขาพืชไร่ เช่น ข้าวโพด และผัก

 

หากประเทศไทยต้องยอมรับ UPOV1991 บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นจะขยายการครอบครองพันธุ์พืชนอกเหนือจากข้าวโพด และพันธุ์ผัก ซึ่งบัดนี้อยู่ในมือของพวกเขาแล้ว แต่จะรวมถึงสายพันธุ์ข้าว ไม้ผล และอื่น ๆ ด้วย

 

ตัวเลข 63% ที่อยู่ในมือบริษัทจะเพิ่มเป็น 80-90% และอาจมีบริษัทเพียง 3-4 บริษัทเท่านั้นที่จะครอบครองสายพันธุ์พืชใหม่ดังกล่าวไว้ทั้งหมด

 

"เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาของเกษตรกรรายย่อยเท่านั้น แต่จะเกี่ยวข้องกับอาหารในจานของพวกเราทุกคนด้วย"

 

 

//.....................

              CR : มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI

//.....................