งดงาม “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ตามแบบฉบับ “ผ้ายกเมืองนคร”

พัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช ประสบความสำเร็จ แกะลายและทอผ้า ประยุกต์ “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” สวยงามตามแบบฉบับ “ผ้ายกเมืองนคร” เป็นต้นแบบผืนแรก

          นายจรัญ อินทสระ พัฒนาการจังหวัดนครศรีธรรมราช พร้อมด้วย นางสาวจริยา คงตุก พัฒนาการอำเภอชะอวด ตลอดจน เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชน ลงพื้นที่ติดตามความก้าวหน้าการทอผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ของร้านกนกศิลป์นคร ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด ที่สามารถแกะลาย และพัฒนารูปแบบผ้าทอของกลุ่มให้มีความสวยงามและโดดเด่น ตามแบบฉบับผ้ายกเมืองนคร ขณะนี้มีกลุ่มทอผ้าที่สามารถแกะลายและทอผ้าสำเร็จแล้ว จำนวน 1 กลุ่ม อีก 8 กลุ่ม อยู่ระหว่างการแกะลาย ตลอดจนพัฒนารูปแบบให้เหมาะสมตามความถนัด และลักษณะกี่ที่ใช้ทอซึ่งมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ ร้านกนกศิลป์นคร ได้มอบ “ผ้ายกเมืองนคร” ลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” ที่ทอสำเร็จเป็นผืนแรกให้กับสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนารูปแบบการทอผ้าต่อไป

 

 

          ในส่วนของ จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มอบลายผ้า “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เบื้องหน้าพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ให้แก่กลุ่มทอผ้าในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 9 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค กลุ่มทอผ้ายกนครบ้านมะม่วงปลายแขน กลุ่มทอผ้าบ้านเนินมวง ร้านกนกศิลป์นคร กลุ่มทอผ้าบ้านบางงู กลุ่มทอผ้าบ้านขอนหาด กลุ่มทอผ้าบ้านบางด้วน กลุ่มทอผ้าบ้านเนินธัมมัง และกลุ่มทอผ้าบ้านทำเนียบ

 

 

          “ผ้ายกเมืองนคร” เป็นผ้าพื้นเมืองเอกลักษณ์ของท้องถิ่นจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่าสวยงาม แบบอย่างผ้าชั้นดีในหมู่คนชั้นสูงมีชื่อเสียงด้านฝีมือในการทอผ้ายกเป็นเลิศมาตั้งแต่ในอดีต เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อัตลักษณ์ที่สำคัญของผ้าทอยกดอกเมืองนคร คือ ผ้าจะยกนูนขึ้นเป็นลวดลายชัดเจนและมีความละเอียดประณีต จนนักท่องเที่ยวต้องหาซื้อผ้ายกเมืองนครไว้ในครอบครอง

 

 

          สันนิษฐานกันว่ามีการทอผ้าลวดลายสีสันแบบ “ผ้ายกเมืองนคร” กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น แบบอย่างการทอผ้าที่มีลักษณะพิเศษสลับซับซ้อนและพิถีพิถันนั้น ว่ากันว่าได้มาจากเมืองไทรบุรี และเมื่อประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งสูงค่ามีราคา จึงทำให้ผ้ายกเมืองนครได้รับการยกย่องให้เป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าที่ขึ้นชื่อในลำดับต้นๆ ของเมืองไทยในเวลาต่อมา แต่เดิมผ้ายกเมืองนครถือเป็นผ้าสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ เจ้าเมือง และขุนนางชั้นสูง ต่อมาจึงมีการดัดแปลงเป็นผ้าสำหรับคหบดี เจ้านายลูกหลานเจ้าเมือง และสามัญชนทั่วไป ใช้นุ่ง สำหรับงานพิธีสำคัญต่างๆ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านเลยไป มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยอย่างผ้ายกเมืองนคร แทบจะเหลือสถานะเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์ จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นฟูการผลิต  “ผ้ายกเมืองนคร”  ให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยฝีมือช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ ที่ “ศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง” และ “ศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค” จังหวัดนครศรีธรรมราช  จึงทำให้ผ้ายกเมืองนครกลายเป็นผลิตภัณฑ์  OTOP  ขึ้นชื่อในปัจจุบัน

 

 

          ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีพระดำรัสเมื่อครั้งเสด็จไปเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงาน “OTOP City 2020” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2563 ความตอนหนึ่งว่า “ข้าพเจ้าได้มีโอกาสตามเสด็จสมเด็จย่า สมเด็จพระพันปีหลวงมาตั้งแต่เด็ก ได้เห็นท่านทรงงาน และรับรู้ถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่าน ในการอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านและสืบสานภูมิปัญญาไทยมาโดยตลอด เห็นการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง ข้าพเจ้า มีความตั้งใจที่จะสืบสานพระราชปณิธาน โดยข้าพเจ้าได้นำประสบการณ์การทำงาน การศึกษา การเดินทางไปชมผ้าไทยและงานหัตถกรรมพื้นบ้านตามภาคต่าง ๆ ทำให้เห็นผลงานที่สามารถนำมาพัฒนาให้ร่วมสมัยและเป็นสากลได้”

 

 

 

          นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงสร้างแรงบันดาลใจและแบ่งปันองค์ความรู้ให้แก่วงการผ้าไทย ทรงมีพระวินิจฉัยนำแนวคิดอันเป็นสากล มาสู่การพัฒนาต่อยอดมรดกภูมิปัญญาผ้าไทย ให้ผ้าไทยเป็นสิ่งแสดงเรื่องราวอัตลักษณ์วัฒนธรรมประจำถิ่น สามารถนำไปออกแบบและตัดเย็บเป็นเครื่องแต่งกาย ที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย และทำให้เกิดความรัก ความตระหนัก ให้ผ้าไทยมีชีวิตชีวา คงคุณค่า อยู่สืบไป อีกทั้งยังได้รับพระกรุณาธิคุณ ประทานพระอนุญาตแบบลายมัดหมี่แก่ช่างทอผ้า ชื่อลาย “ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ” เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่และสื่อความหมายถึงการส่งมอบความรักและความสุขให้แก่ชาวไทยทุกคน และประทานอนุญาตให้กลุ่มทอผ้าทุกกลุ่ม ทุกเทคนิค สามารถนำไปใช้ทอผ้า ผลิตผ้าได้ ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

 

          สำหรับแบบลาย "ผ้ามัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ" ที่ทุกลวดลายเปี่ยมด้วยความหมาย อาทิ ลาย S หมายถึง Sirivannavari สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา /ลาย S จำนวน 10 แถว หมายถึง พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 /ลายเชิงผ้ารูปหัวใจ หมายถึง ความรักที่พระองค์มีต่อประชาชนชาวไทยทุกคน = Eternal Love /เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในการพัฒนาลวดลายผ้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไทยให้มีความร่วมสมัย สามารถก้าวสู่ระดับสากล และเพื่อสืบทอดวิถีชุมชนให้ยั่งยืน