เรื่องของ ‘ในหลวง รัชกาลที่ 9’ กับ ‘ปลาเทราต์’ และ ‘ปลานิล’

เรื่องของ ในหลวง รัชกาลที่ 9’ กับ ปลาเทราต์และ ปลานิล

 

              เรื่องของ ในหลวง รัชกาลที่ 9’ กับ ปลาเทราต์และ ปลานิล โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

#50ปีปลาเทราต์ไทย

 

#ความตั้งใจของมหากษัตริย์

 

เพื่อนร่วมงานของผม รศ.วราห์ และ อ.ประพันธ์ศักดิ์ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ เพิ่งประสบความสำเร็จในการเลี้ยง ปลาเทราต์ ระบบปิด

 

ความสำเร็จครั้งนี้หมายถึงเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคที่ ปลาเทราต์ สามารถสร้างรายได้จริงจังให้กับวงการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย

 

แต่ผมไม่ได้ตั้งใจจะมาเล่าเรื่องงานวิจัย

 

ผมจะเล่าเรื่องย้อนกลับไปครึ่งศตวรรษ

 

เรื่องของคน ๆ หนึ่งกับปลา 2 ชนิด

 

เรื่องของ ในหลวง รัชกาลที่ 9 กับ ปลาเทราต์ และ ปลานิล

 




 

++++

 

พศ.2508 ปลานิล 50 ตัวที่ จักรพรรดิอากิฮิโตะ ถวายแด่พระองค์ เดินทางมาถึงเมืองไทย

 

ปลานิล ออกลูกหลานใน สวนจิตรลดา

 

พระองค์พระราชทานให้กรมประมง เพื่อนำไปเพาะพันธุ์ให้เกษตรกรทั่วประเทศ

 

เป็นปลาเศรษฐกิจ ราคาถูก ทุกคนเข้าถึงได้ เลี้ยงง่ายขายง่าย

 

ปัจจุบัน ปลานิล คือปลาน้ำจืดสร้างรายได้สูงสุดชนิดหนึ่งของเกษตรกรไทย

 

และเป็นปลาที่หากินได้ตั้งแต่แผงริมฟุตบาท ไปจนถึงในร้านหรูในนาม ปลาทับทิม

 

ในเวลาใกล้เคียงกัน พระองค์ทรงตั้งใจส่งเสริมพันธุ์ปลาอีกชนิด

 

ปลาที่เลี้ยงยากกว่า อยู่ได้เฉพาะที่ แต่ขายได้ราคาสูง

 

เพราะยุคนั้นบนยอดดอยห่างไกล ชาวบ้านลำบาก บางคนหันเข้าหาพืชเสพติด

 

จะปราบปรามอย่างไรก็ไม่หมดสิ้น ตราบใดที่รากเหง้าของปัญหายังไม่ถูกแก้ไข

 

นั่นคือที่มาของโครงการหลวงบนดอย ปลูกไม้ดอกไม้ผลเมืองหนาว

 

และเลี้ยงปลาเมืองหนาว

 

ปลาที่ขายได้ราคา ผลผลิตไม่ต้องมากมาย แต่เป็นที่ต้องการ

 

ปลา rainbow trout

 

พระองค์สนใจ ปลาเทราต์ จึงได้ปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญจากแคนาดา ตั้งแต่พ.ศ. 2513

 

พ.ศ.2516 ปลาเทราต์ ชุดแรกจากแคนาดามาถึงเมืองไทย เริ่มลองเลี้ยงที่อำเภอฝาง

 

โลกนี้ ความสำเร็จไม่มาในพริบตา

 

ปลาเทราต์ ตาย การทดลองล้มเหลว

 

โลกนี้ ความล้มเหลวถือเป็นความสำเร็จ สำหรับคนที่ไม่คิดเลิก

 

ไม่คิดเลิกทำเพื่อแผ่นดินไทย

 

การทดลองเริ่มต้นใหม่ที่ดอยอินทนนท์ ใน พ.ศ.2518

 

ก่อนพัฒนามาเป็นโครงการหลวงดอยอินทนนท์ในพ.ศ.2522

 

คุณพ่อผมเป็นข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ

 

ท่านพาผมไปดอยอินทนนท์สมัยเป็นเด็ก ผมเห็น ปลาเทราต์ เป็นครั้งแรกที่นั่น

 

จำได้ว่าตื่นเต้นมาก เคยแต่อ่านหนังสือเจอว่าอยู่เมืองนอก ไม่คิดว่า เมืองไทยจะมี ปลาเทราต์

 

ผมยังเด็กไป ยังไม่รู้ว่า แม้เมืองไทยไม่มี ปลาเทร้าต์

 

แต่มีคนที่ไม่เคยเลิกพยายาม

 

ความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า เรื่อยมาจนถึงปี 2541 โครงการหลวงได้รับ ไข่ปลาเทร้าต์ จากอเมริกา

 

โครงการหลวง กรมประมง ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ ช่วยกันพยายามอีกครั้ง

 

นับจากวันแรกที่ ปลาเทร้าต์ มาสู่เมืองไทย 25 ปีผ่านไป

 

เราเพาะฟัก ลูกปลาเทร้าต์ สำเร็จเป็นครั้งแรก !

 

ปลาเทราต์ โครงการหลวง เริ่มเป็นที่รู้จัก

 

โรงแรม/ร้านหรูในกรุงเทพสั่งเป็นประจำ เพราะสดกว่าอร่อยกว่าปลานำเข้า

 

ผลิตภัณฑ์ ปลาเทราต์ โครงการหลวง เริ่มขายอยู่ตามที่ต่าง ๆ

 

และอีก 25 ปีต่อมา ปลาเทราต์ไทย ก้าวไปอีกขั้น

 

พ.ศ.2563 คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ด้วยความสนับสนุนจากปตท. ประสบความสำเร็จในการเลี้ยง ปลาเทราต์ ระบบปิด

 

เราสามารถเลี้ยง ปลาเทราต์ ได้ ไม่ต้องกังวลต่อการหลุดรอดออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติ

 

อ้าว...แล้วค่าแอร์ล่ะ ?

 

คำตอบคือเรามีความเย็นจากก๊าซ LNG

 

ความเย็นที่ทำให้เรา ปลูกทิวลิป ทำ สวนสตรอว์เบอร์รี่ ได้ที่ ระยอง

 

ความเย็นเดียวกันสามารถนำมาเลี้ยง ปลาเทราต์ ได้

 

เรายังมีไฟฟ้าหมุนเวียน พลังงานสะอาดที่เริ่มกระจายไปทั่วประเทศไทย

 

นั่นคือความหมายของนวัตกรรมและเกษตรยุคใหม่

 

แต่ไม่ว่าจะมีเทคโนโลยีสูงส่งเพียงใด

 

ทั้งหมดนั้นอาจไร้ความหมาย

 

หากไม่มีปลา ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้

 

และไม่มีจุดเริ่มต้น

 

จุดเริ่มต้นที่ย้อนไปครึ่งศตวรรษ !

 

xxxxx

 

ปลานิล เลี้ยงเพื่อปากท้องคนทั่วประเทศ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนที่ใครก็หากินได้

 

ปลาเทราต์ เลี้ยงเพื่อแก้ปัญหาบนยอดดอย เพื่อสร้างรายได้ให้ไม่ต้องหันไปทำลายป่าหรือพึ่งพาพืชเสพติด

 

นั่นคือวิสัยทัศน์และการกระทำที่เกิดเมื่อ 50 ปีก่อน

 

ก่อนจะมาเป็นทุกวันนี้

 

Two Fish & One King

 

ไม่มีหนังเรื่องนี้หรอก

 

แต่มีความจริงบนผืนแผ่นดินไทยให้ดูแทน

 

xxxxx

 

แม้พระองค์ไม่อยู่แล้ว แต่บางสิ่งยังอยู่

 

ความตั้งใจเพื่อแผ่นดินไทยยังอยู่

 

ความมุ่งมั่นยังไม่สูญสลาย

 

และเป็นแรงผลักดันให้หลายคนไม่หยุด

 

ไม่เลิก ไม่ยอม ไม่ท้อ

 

เพราะพวกเรายังคงศรัทธากับบางอย่าง

 

ศรัทธาต่อความตั้งใจของมหากษัตริย์

 

ศรัทธาต่อความพยายามครึ่งศตวรรษ

 

ศรัทธาต่อกำลังของแผ่นดิน !

 

xxxxx

 

กำลังที่ไม่มีวันหมดหรอก

 

ไม่มีวัน...

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

 

http://www.nicaonline.com/.../201.../750-2019-04-18-03-43-42

 

ข้อมูลงานวิจัย ติดต่อภาควิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์

 

 


//......................

              CR :Thon Thamrongnawasawat

 

//......................