‘เริ่มที่เรา’ NEW YEAR NEW YOU

เริ่มที่เรา’NEW YEAR NEW YOU

 

         ทุก ๆ ครั้งที่ “เทศกาลปีใหม่” เวียนมาถึง เราหลาย ๆ คนมักถือเป็นโอกาส ในการ “เริ่มต้นใหม่”

 

         เพื่อให้ “อดีต” ผ่านพ้นไป

 

และเพื่อเป็น “บทเรียน” สำหรับ “ปัจจุบัน” เพื่อก้าวเดินต่อไปใน “อนาคต”

           

นี่อาจเป็น “กุศโลบาย” ประการหนึ่ง ในการหา “แรงจูงใจ” และ “กำลังใจ” จากสิ่งใหม่ ๆ ที่เวียนมาถึง เพื่อการ “เริ่มต้นใหม่” อีกครั้ง

           

ทั้งนี้และทั้งนั้น ก็เพื่อ “การเปลี่ยนแปลง” นั่นเอง !

 

         แน่นอนว่า ไม่ใช่ทุก ๆ คน จะประสบความสำเร็จ

 

แน่นอนว่า มีผู้คนจำนวนไม่น้อย ที่ผิดพลาด ผิดหวัง ล้มเหลว ไม่สมดั่งใจที่มุ่งหวัง

 

         และแน่นอนว่า ไม่มีใครยินยอมหรือยินดี ที่จะจ่อมจมอยู่กับความล้มเหลวไม่สมดั่งใจไปตลอด ตรงกันข้าม ทุก ๆ คนที่ว่านี้ ต่างมุ่งหมายและมุ่งมั่นเพื่อการเปลี่ยนแปลง โดยการ “เริ่มต้นใหม่” อีกครั้ง

 

 

         “เทศกาลปีใหม่” เป็นหนึ่งใน “คำตอบ” เพื่อการ “เริ่มต้นใหม่”

 

         ชัดเจนว่า นี่ย่อมต้องเป็น “เรา” ไม่ใช่ “เขา” และไม่ใช่ “ใคร”

 

         เพราะมีแต่ “เรา” เท่านั้น ที่จะ “เริ่มต้น” กระทำการ “เปลี่ยนแปลง” ทั้งหลายทั้งปวง ด้วยตัวของ “เรา” เอง

 

         มีแต่ “เรา” เท่านั้น ที่จะตั้ง “เป้าหมาย” ใน “การเปลี่ยนแปลง” เพื่อตัวของ “เรา” ได้ !

 

         ความจริงก็คือ นี่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายดายนัก ทว่า ! นี่ก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นเกินกำลัง ที่จะสามารถทำได้

 

         ในทางพระพุทธศาสนา มีคำสอนที่ว่าด้วย “มัชฌิมาปฏิปทา” หรือ “ทางสายกลาง” ที่ไม่ตึงจนเกินไป และไม่หย่อนจนเกินไป

 

         และในทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน ที่มีคำอธิบายถึง “อิทธิบาท 4

 

อันหมายถึงฐานหรือหนทางสู่ความสำเร็จ หรือ “คุณธรรม” ที่นำไปสู่ “ความสำเร็จแห่งผล” 4 ประการ

             

หนึ่งคือ “ฉันทะ” หรือ “ความพอใจ” คือ ความต้องการที่จะทำ ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ และปรารถนาจะทำให้ได้ผลดียิ่ง ๆ ขึ้นไป

 

         หนึ่งคือ “วิริยะ” หรือ “ความเพียร” คือ ขยันหมั่นประกอบสิ่งนั้น ด้วยความพยายาม เข้มแข็ง อดทน ไม่ท้อถอย

 

         หนึ่งคือ “จิตตะ” หรือ “ความคิด” คือ ตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำ และทำสิ่งนั้นด้วยความคิด เอาจิตฝักใฝ่ ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านเลื่อนลอยไป

 

         หนึ่งคือ “วิมังสา” หรือ “ความไตร่ตรอง” หรือ “ทดลอง” คือ หมั่นใช้ปัญญา พิจารณาใคร่ครวญ ตรวจหาเหตุผล และตรวจสอบข้อยิ่งหย่อนในสิ่งที่ทำนั้น มีการวางแผน วัดผล คิดค้นวิธีแก้ไขปรับปรุง

 

         นี่คือ “แนวทาง” 4 ประการ เพื่อ “นำทาง” ไปสู่ “ความสำเร็จแห่งผล” ที่มุ่งหวัง

 

         เพื่อนำไปสู่ “ความเปลี่ยนแปลง”

 

เพื่อ “เริ่มต้นใหม่”

 

         “เริ่มที่เรา-เปลี่ยนที่เรา-เพื่อตัวของเรา” !!!

 








สแกนคิวอาร์โค๊ด เพื่อดาวน์โหลดอ่านทั้งฉบับ

//....................

CR : DAD MAGAZINE https://www.dad.co.th/ ความสุขในศูนย์ราชการฯ

//....................