ล้มแบน ‘พาราควอต’ จับตา ! ประชุม ‘กก.วัตถุอันตราย’ จ. 28 ก.ย.นี้ !

ล้มแบน พาราควอต จับตา ! ประชุม กก.วัตถุอันตรายจ. 28 ก.ย.นี้ !

 

BIOTHAI” ผวา ! ล้มแบน พาราควอต จับตาบทบาท ของ คู่หูวัตถุอันตราย “สุริยะ-เฉลิมชัย” ในการประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” วันจันทร์ที่ 28 ก.ย.63

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “มูลนิธิชีววิถี -BIOTHAI” ได้เผยแพร่รูปภาพและข้อความ ให้จับตาการประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ในวันจันทร์ที่ 28 ก.ย.63 ที่อาจมีการล้มการแบนสารพิษ “พาราควอต” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

         “จับตาบทบาทของคู่หูวัตถุอันตราย “สุริยะ-เฉลิมชัย” ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 28 กันยายน 2563 นี้ หลังจากมีข่าวก่อนหน้านี้ว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.กระทรวงเกษตรฯ ได้มีคำสั่งให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ รับข้อเสนอของกลุ่มคัดค้านการแบนสารพิษ เสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นประธานให้พิจารณาทบทวนการแบนพาราควอต

 

โดยคณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการบรรจุวาระ ที่ 4.3 เรื่องการดำเนินการ ข้อเสนอ และความเห็น เกี่ยวกับประกาศแบนพาราควอต และคลอร์ไพริฟอส (ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ฉบับที่ 6 พ.ศ.2563) ซึ่งต้องจับตาว่า การบรรจุวาระนี้ เกี่ยวกับการล้มแบนพาราควอต ตามที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ อย่างไร ?

 

อย่าลืมว่า ความร่วมมือในการล้มแบน ไกลโฟเซต สารเคมีกำจัดวัชพืชก่อมะเร็งที่หลายประเทศเช่น ออสเตรีย เยอรมนี ฝรั่งเศส เม็กซิโก และเวียดนาม ได้ประกาศแบนซึ่งจะมีผลในเร็ว ๆ นี้นั้น สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือระหว่างนายสุริยะ และนายเฉลิมชัย จนกลายเป็นที่มาของมติคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้น นายสุริยะ เป็นคนชงลูก โดยอ้างข้อร้องเรียนของกระทรวงเกษตรสหรัฐอเมริกา และผลกระทบที่มีต่ออุตสาหกรรมอาหารที่จะได้รับผลกระทบจากการนำเข้าข้าวสาลี และถั่วเหลือง หากมีการแบนไกลโฟเซต ส่วนกระทรวงเกษตรฯภายใต้กำกับของ นายเฉลิมชัย ดำเนินการให้ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้เหตุผลสนับสนุนยกเลิกการแบนด้วยเหตุผลหลักว่า ไม่มีสารทดแทน และอ้างข้อมูลว่า มีเกษตรกรคัดค้าน เป็นต้น

 

ส่วนคราวนี้ การยกเลิกการแบนส่งสัญญาณ โดย นายเฉลิมชัย ซึ่งจะเป็นการรับลูก-ส่งลูก เพื่อล้มการแบนพาราควอตระหว่างสองคู่หูหรือไม่ ? ต้องดูรายละเอียดและผลการประชุมของคณะกรรมการในวันจันทร์ที่ 28 กันยายน นี้

 

หากมีมติใด ๆ ที่เกี่ยวกับการล้มการแบนพาราควอต หรือเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือสองคู่หูวัตถุอันตราย 2 คนนี้แน่ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นายเฉลิมชัย ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงเกษตรฯ ว่า จะมีท่าทีอย่างไรต่อข้อเรียกร้องของกลุ่มคัดค้านการแบน ที่ต้องการให้ยกเลิกการแบน หรือเลื่อนการแบน พาราควอต ออกไป

 

ควรทราบว่า หากมีการทบทวนการแบนด้วยเหตุผลว่า ไม่มีสารทดแทน หรือไม่สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นไม่ได้ จะเป็นเรื่องเหลวไหล เพราะประเทศในเขตร้อนที่ปลูกพืชเศรษฐกิจชนิดเดียวกับประเทศไทย คือ อ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ได้ทยอยยกเลิกการใช้ และกำลังจะยกเลิกการใช้ พาราควอต แล้วหลายประเทศ ตัวอย่างเช่น

 

บราซิล ซึ่งมีพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่าไทย 7.3 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่าไทย 14.6 เท่า ยกเลิกการใช้ พาราควอต เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2563

 

มาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 7.4 เท่า ยกเลิกการใช้ พาราควอต เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563

 

เวียดนาม ซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดใกล้เคียงกับไทย ยกเลิกการใช้ พาราควอต ตั้งแต่ปี 2561

 

ไนจีเรีย ที่มีพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังมากกว่าไทย 4.9 เท่า ปลูกข้าวโพดมากกว่าไทย 4.4 เท่า พื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่าไทย 4.3 เท่า กำลังดำเนินการให้มีการยกเลิกโดยเร็ว และร่วมกับสถาบันวิจัยเกษตรเขตร้อน IITA แนะนำวิธีการทางเลือกในการทดแทน พาราควอต เพื่อรองรับการแบน

 

ก่อนการแบน พาราควอต เมื่อ 27 พฤศจิกายน 2562 ตลาดสารพิษที่มีพิษเฉียบพลันสูงกว่าเมโทมิล หรือคาร์โบฟูราน ซึ่งเราเคยแบนไปแล้วหลายเท่า อีกทั้งก่อโรคพาร์กินสันชนิดนี้นั้น มียอดขายนับหมื่นล้านบาทต่อปี การล้มการแบนสารพิษซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และองค์กรสุขภาพทั้งหลายได้เสนอให้ยกเลิกการใช้ตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมานั้น อาจถูกตั้งข้อสังเกตได้ว่า เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์มหาศาลของใครคนใดคนหนึ่ง หรือหลายคน หรือไม่ ?

 

 

 

//................

                CR : BIOTHAI

                https://www.facebook.com/biothai.net/

//................