17 ส.ค. ‘วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ’ ครบ 1 ปี การจากไปของ ‘มาเรียม’

17 ส.ค. วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติครบ 1 ปี การจากไปของ มาเรียม

 

         17 ส.ค. “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” ครบ 1 ปี การจากไป ของ มาเรียม พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” เผย 6 ข้อ คุณูปการหลังการจากไปของ “มาเรียม” ย้ำ ต้องร่วมใจ เดินหน้าสร้างสวรรค์ในโลกแห่งความจริง และสร้างสวรรค์ในท้องทะเลไทย

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เผยแพร่รูปภาพและข้อความ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” บอกเล่าถึงเรื่องราวของ “วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ” และการครบรอบการจากไปครบ 1 ปี ของ “มาเรียม” พะยูนน้อยขวัญใจคนไทย โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

17 สิงหาคม ปีที่แล้ว เลยเที่ยงคืนไม่เท่าไหร่ คือเวลาที่พะยูนน้อยจากพวกเราไป

 

จึงอยากเล่าว่า หนึ่งปีที่ผ่านมา เกิดอะไรบ้าง #หนึ่งปีที่มาเรียมไปสวรรค์

 

หนึ่ง - วันอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ แม้ยังไม่ประกาศเป็นทางการ แต่ผ่านที่ประชุมทะเลชาติไปแล้ว และกรมทะเลนำมารณรงค์แล้ว

 

วันพะยูนหมายถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับพะยูน พ่วง 4 สัตว์สงวน/สัตว์คุ้มครอง/สัตว์หายากทะเลไทย

 

ยังหมายถึงวันรณรงค์สู้ขยะทะเล เพราะอย่างที่ทราบกัน ในท้องมาเรียมมีเศษถุงพลาสติก

 

กิจกรรม/ความรู้/การรณรงค์ ทำวันไหนก็ได้

 

แต่ถ้าพร้อมใจกันทำวันนี้ มันมีความหมายมากกว่า

 

ยังหมายถึงการรวมตัวของนักวิชาการครึ่งร้อยในช่วงนี้ เพื่อสร้างมาตรฐานศึกษาวิจัยสัตว์หายาก

 

ปีนี้เป็นปีแรก เจอโควิด และเป็นช่วงรอยต่อของกรรมการทะเลชาติ คณะทำงานสัตว์หายากยังประชุมไม่ได้

 

แต่ปีหน้า สัญญาไว้ จะทำให้ดีกว่านี้แน่นอน

 

สอง - มาเรียมโปรเจ็ค ยังรอคิวเข้าครม. แต่หลายเรื่องก้าวหน้าไปตามแผนแล้ว

 

โรงพยาบาลสัตว์หายากภูเก็ต เปิดแล้วแม้ยังไม่เต็มร้อย น้องเต่ามะเฟืองไปใช้บริการแล้ว

 

โรงพยาบาลเต่าทะเล สัตหีบ ได้รับการปรับปรุงเยอะเลย (ภาคเอกชนช่วยกันครับ)

 

โรงพยาบาลเต่าทะเล ระยอง กำลังเดินหน้า แม้ยังต้องไปอีกไกล แต่อย่างน้อยก็เริ่มต้น

 

คุณหมอช่วยชีวิตเต่าได้สัปดาห์ละหลายตัว

 

ศูนย์เต่าทะเลเกาะมันใน ระยอง กำลังอยู่ช่วงขยาย บ่อพักพิงเต่าทะเล 30 ไร่เริ่มมีคุณเต่าพิการไปอาศัย

 

ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์หายาก เริ่มเกิดเครือข่าย ทั้งมหาลัยต่างๆ มาช่วยกัน จันทบุรี ระนอง ตรัง นคร ฯลฯ

 

ขอรวมข้อมูลอีกนิด จะเล่าเรื่องนี้ยาวๆ

 

แต่ยืนยันได้ว่า มาเรียมโปรเจ็คกำลังทำให้เมืองไทยเป็นผู้นำอาเซียนในเรื่องการช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากอย่างแน่นอน

 

สาม - พื้นที่อนุรักษ์พะยูน ตรัง-กระบี่ เครือข่ายร่วมมือกันเต็มที่

 

ปีนี้เรามีพะยูนตายน้อยลงมากเมื่อเทียบกับปีก่อน

 

ยังมีการสำรวจแหล่งพะยูนใหม่ๆ ทั้งกรมทะเล/กรมอุทยาน

 

จนพบพะยูนที่คุระบุรี พังงาแบบมีหลักฐานชัดเจน ยังพบพะยูนในอ่าวพังงาตอนใน

 

ที่น่าตะลึงคือพะยูนที่บ้านเพ ระยอง โผล่มาทั้งที่ไม่มีรายงานมา 20-30 ปี

 

ฝูงพะยูนกว่า 20 ตัวที่อันดามัน กลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น ต่อเนื่องถึงตอนนี้

 

การสำรวจยังดำเนินต่อไป ขยายผลไปพื้นที่อื่นๆ ที่มีเครือข่ายร่วมมือเต็มที่

 

เพื่อไปสู่การคุ้มครองพื้นที่สัตว์หายาก รักษาแหล่งอาหาร แหล่งอาศัย ให้ทั้งสัตว์ทั้งผู้คนข้างทะเล

 

สี่ - ขยะทะเล มาเรียมทำให้เกิดการเดินหน้าก้าวใหญ่ แบนถุงจากห้างร้านตั้งแต่ต้นปี ลดได้นับหมื่นล้านใบ

 

ยังหมายถึงกิจกรรมมหาศาล ความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย

 

มาเรียมจ๋า บอกเธอบนฟ้าไม่ได้หรอกว่า เพราะเธอผู้จากไป มีขยะหายไปจากทะเลเท่าไหร่ มีสัตว์รอดตายไปกี่ร้อยกี่พันชีวิต

 

แต่บอกได้แน่นอน โลกนี้ยังไม่เคยมีสัตว์ทะเลตัวไหน สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง หยุดขยะลงทะเลได้เท่าเธออีกแล้ว

 

ขนาดดาราฮอลลีวู้ดยังโพสต์ภาพเธอ

 

ห้า - ความรักทะเลของคนไทย มากขึ้นมากมายมากอย่างไม่เคยปรากฎ

 

ทุกครั้งที่คนไทยคิดถึงเธอ ขยะในมือเขาน้อยลงหนึ่งช้อน สองสามชิ้นหากคิดถึงมากหน่อย

 

ยังหมายถึงความรักที่ทำให้เกิดการดูแล

 

เด็กน้อยจูงมือพ่อแม่ไปเก็บขยะริมทะเล ลุงป้ารีบแจ้งข่าวเมื่อเจอสัตว์เจ็บ

 

พี่ชายจูงน้องวิ่งแจ้นไปหาผู้ใหญ่บ้าน เพื่อบอกว่าเต่าขึ้นมาวางไข่

 

และคงมีน้อยประเทศในโลกที่ใครทำร้ายทะเล จะมากจะน้อย ล้วนเป็นกระแสในพริบตา

 

เป็นข่าวใหญ่ ส่งผลให้เกิดการจัดการ/จับกุมรวดเร็ว

 

สุดท้าย - อยากบอกง่ายๆ กว่าหนึ่งร้อยปีที่ประเทศไทยเริ่มอนุรักษ์ทะเล ยังไม่มีใครทำเหมือนมาเรียมได้

 

เมื่อเธออยู่ เธอสร้างความรัก

 

เมื่อเธอจากไป เธอยิ่งสร้างความรัก

 

หนึ่งปีผ่านไป ความรักไม่น้อยลงเลย

 

สองปี สามปี สี่ปี จะอีกกี่ปี

 

ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ ทะเลไทยเกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

 

เมื่อพะยูนน้อยตัวหนึ่งจากพวกเราไปสู่สวรรค์บนฟ้า

 

ทิ้งไว้ซึ่งความรักและบทเรียน

 

ที่คนไทยกำลังเรียน กำลังทำ

 

เพื่อสร้างสวรรค์ในโลกแห่งความจริง

 

สร้างสวรรค์ในท้องทะเลไทย

 

ให้เพื่อนๆ ของเธอ...มาเรียม”

 

 

ภาพ - Shin Sirachai Arunrugstichai

 

                ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังได้แชร์ “ความทรงจำ” ครบ 1 ปี ที่เขียนถึง “มาเรียม” ด้วย โดยเนื้อหาที่มีการแชร์มามีดังนี้

 

“มาเรียมจากไปแล้ว ผลการชันสูตรพบเศษถุงพลาสติกในท้อง การจากไปของเธอบอกอะไรเราได้บ้าง #เจ็ดข้อที่มาเรียมฝากไว้

 

หนึ่ง - นับจากต้นปี มาเรียมเป็นสัตว์สงวนรายที่สองที่ตายและพบพลาสติกในท้อง หลังจากเมื่อเดือนก่อน พบเต่ามะเฟืองตายที่ระยอง โดยมีถุงใบใหญ่อยู่ในท้องเช่นกัน

 

สอง - นับจากต้นปี มีสัตว์หายากที่ตาย/บาดเจ็บโดยมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับขยะทะเล ทั้งภายนอกและภายใน จำนวนนับร้อยตัว (มีรายงานเต่าทะเลติดขยะ/กินขยะแทบทุกวัน)

 

สาม - เมื่อพลาสติกเข้าไปในตัวสัตว์ทะเล โอกาสที่จะช่วยเป็นไปได้ยากยิ่ง แม้มาเรียมจะอยู่ภายใต้การดูแลอย่างดี แต่สุดท้ายก็จากไป

 

การหวังให้สัตว์ที่กินขยะทะเลเข้าไปแล้วเราช่วยเหลือได้ เป็นเรื่องดังฝัน สิ่งสำคัญกว่านั้นคือทำอย่างไรให้ไม่มีขยะทะเล เพื่อสัตว์ทะเลจะได้ไม่กิน/ติด

 

สี่ - มาเรียมทำให้เกิดแผนพะยูนแห่งชาติ จะเข้าคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ภายใต้คณะกรรมการทะเลแห่งชาติ เพื่อพิจารณาในวันจันทร์

 

ในแผนมีหลายเรื่องสำคัญ ทั้งด้านการอนุรักษ์พะยูน จัดการพื้นที่ร่วมกัน มาตรการต่างๆ ในการใช้ประโยชน์จากทะเล ฯลฯ ซึ่งทุกคนล้วนหวังว่า เมื่อทำออกมาแล้ว จะช่วยเพื่อนๆ ของมาเรียมได้

 

ทว่า...มีสิ่งหนึ่งที่ไม่มีแผนใดสามารถทำได้ หากปราศจากความร่วมมือของทุกคนในชาติ คือปัญหาจากขยะทะเล

 

แม้แผนพะยูนแห่งชาติจะประสบความสำเร็จ แต่ตราบใดที่ในทะเลยังมีขยะ พะยูนทุกชีวิตก็ยังคงเสี่ยงต่อไป

 

ห้า - ข้อมูลการเก็บขยะทะเลอย่างต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 2 ปีของอุทยานอ่าวพังงา ต้นทางของขยะทะเลในกระบี่และตรัง ที่อาศัยของน้องมาเรียมและฝูงพะยูน แสดงให้เห็นว่า ขยะทะเลไม่ได้ลดลงเลย อันที่จริง เพิ่มขึ้นด้วยซ้ำ

 

ใน 10 เดือนแรกของปี 61 เจ้าหน้าที่อุทยานเก็บขยะทะเลได้ 82.3 ตัน

 

ใน 10 เดือนแรกของปี 62 เก็บได้ 95.28 ตัน (ปีงบประมาณ)

 

เจ้าหน้าที่กลุ่มเดิม พื้นที่เก็บขยะที่เดิม เก็บทุกวัน ข้อมูลนี้จึงเชื่อได้ว่า ปัญหาเรื่องขยะทะเลยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ (รายละเอียดอยู่ในโพสต์ก่อนของผมครับ)

 

หก - การจากไปของน้องมาเรียม คงช่วยกระตุ้นให้คนไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทะเล/ขยะพลาสติกได้อีกครั้ง แต่เท่านั้นจะพอหรือ ?

 

ความตายของสัตว์ทะเลต่างๆ ในอดีต รวมทั้งวาฬนำร่องที่สงขลา เต่ามะเฟืองที่ระยอง ทำให้เราตระหนักครั้งแล้วครั้งเล่า

 

แต่ข้อมูลขยะทะเลที่เพิ่มขึ้นในอ่าวพังงา แสดงให้เห็นชัดว่า แค่ตระหนักยังไม่พอ แค่เลิกใช้ 2-3 วันจากนั้นก็กลับมาใช้ต่อ

 

มันเป็นเพียงกระแสชั่ววูบ

 

มาเรียมเป็นเสมือนเด็กน้อยในสงครามระหว่างมนุษย์กับขยะทะเล

 

สงครามกับความรับผิดชอบของพวกเราเอง

 

สงครามที่พวกเรากำลังจะพ่ายแพ้...

 

เจ็ด - หากอยากให้การจากไปของมาเรียมไม่สูญเปล่า เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่าตระหนัก

 

เราต้องไปให้ถึงมาตรการลดพลาสติกจากต้นทาง ตามโรดแมปแบนพลาสติกใช้แล้วทิ้ง ที่กำหนดไว้ในปี 65 (ถุงก๊อบแก็บ หลอด แก้วใช้แล้วทิ้ง ฯลฯ)

 

เคราะห์ดีที่ท่านผู้บริหารระดับสูงสุดที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทั้งท่านรัฐมนตรี ท่านปลัดคนใหม่ (อธิบดีกรมทะเล) ฯลฯ ล้วนเคยลงไปเยี่ยมน้องมาเรียม

 

การจากไปของมาเรียม อาจเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้มีการเร่งรัดโรดแมปที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดความจริงก่อนปี 65

 

เพราะยิ่งรอ สัตว์ทะเลก็ยิ่งเจ็บ ยิ่งทรมาน ยิ่งตาย

 

ในฐานะประธานคณะทำงานสัตว์ทะเลหายาก ผมจะเสนอประเด็นเร่งรัดมาตรการแบนพลาสติกเข้าที่ประชุมแน่นอน

 

ที่เหลือ ก็คงต้องฝากไว้กับความรักระหว่างคนกับน้องมาเรียม

 

มันเหมือนเป็นบทพิสูจน์ความรักความจริงใจของคนไทยกับท้องทะเล...

 

สุดท้าย หากมาเรียมพูดได้ เธอคงอยากบอกคนไทยว่า

 

เธอไม่โกรธคนไทยหรอก เพราะคนที่ใช้ถุงใบนั้น คงไม่รู้หรอกว่า นั่นคือสาเหตุที่ทำให้เธอป่วย

 

แต่เธอไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก กับเพื่อนๆ ของเธอ พะยูน เต่า โลมา วาฬ ฯลฯ

 

ในช่วงชีวิตของมาเรียม เธอคงฝันถึงทะเลที่สวยสะอาด

 

ทะเลที่เธอสามารถโลดแล่นไปได้ตามใจปรารถนา สามารถกินหญ้าทะเลได้อย่างไร้กังวล

 

ทะเลที่ปราศจากขยะแปลกปลอมของมนุษย์

 

วันนี้ เธอคงอยู่ในทะเลแห่งนั้นแล้ว...”

 






 

 

//...............

                CR : Thon Thamrongnawasawat

       https://www.facebook.com/thon.thamrongnawasawat

//...............