‘บ้านหนองหล่ม-ดอนตาล’ : บุญเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน-ไหลเรือไฟโบราณ

บ้านหนองหล่ม-ดอนตาล’: บุญเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน-ไหลเรือไฟโบราณ

 

         หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ฮีตสิบสอง-ครองสิบสี่แต่หลายคนที่ได้ยินอาจไม่เข้าใจนัก

 

ฮีตสิบสอง-ครองสิบสี่เป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวอีสาน ที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน และเป็น วัฒนธรรมท้องถิ่น ที่แสดงถึงความเป็นเอกลักษณ์ ความเป็นชาติ และเจริญรุ่งเรืองมานาน

 

ฮีตสิบสองมาจากคำสองคำ คือ ฮีต และ สิบสอง คำว่า ฮีต มาจากคำว่า จารีตและคำว่า สิบสอง มาจากคำว่า สิบสองเดือนรวมกันก็คือ จารีตหรือประเพณีในแต่ละเดือนของแต่ละปี

               

ส่วน ครองสิบสี่ คือ ครองธรรม 14 อย่าง เป็นแนวทางที่ใช้ปฏิบัติต่อกัน

 


แดดสายริมฝั่งโขง

 

หลายคนคงเคยไป มุกดาหารและถ้าไป มุกดาหาร หลายคนก็จะนึกถึงสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่โด่งดัง เช่นว่า ภูผาเทิบ หรือการข้าม สะพานมิตรภาพไทย-ลาว เพื่อข้ามแดนไป ฝั่งลาว

               

แต่ มุกดาหาร มีอะไรมากกว่านั้น โดยเฉพาะ วัฒนธรรมท้องถิ่น

               

ที่แนบแน่นกับ วิถีชีวิต และสืบทอดขนบธรรมเนียมประเพณี จากอดีตจนถึงปัจจุบัน

 

         บ้านหนองหล่ม ต.โพธิ์ไทร อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม และหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ หมู่บ้านนี้ ได้สืบทอดประเพณีสำคัญของแต่ละเดือนอย่างแข็งขัน

 


เฮือนอีสานที่บ้านหนองหล่ม

 

         “เดือนเก้า” งานบุญที่สำคัญคือ ฮีตเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน

 

ที่ อ.ดอนตาล คนส่วนใหญ่สืบเชื้อสาย เผ่ากะเลิง ที่มาจากคำว่า ข่าเลิง ซึ่งหมายถึง ข่าพวกหนึ่ง ในตระกูลมอญเขมร ที่ยึดมั่นในวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขง และถือได้ว่า เป็น 1 ใน 8 กลุ่มชาติพันธุ์ ของ มุกดาหาร

 

         ฮีตเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน” มาจากความเชื่อว่า ใน “วันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 ของทุกปี ยมทูตจะปลดปล่อยให้ดวงวิญญาณของพ่อ-แม่บรรพบุรุษ ได้ออกมารับอาหารคาวหวานจากลูกหลานในเวลาก่อนรุ่งสาง

 

ในวันนี้ ลูกหลานจะนำ อาหารคาว-หวาน ใส่ กระทงใบตอง ไป ฝังลงดิน ภายในบริเวณวัด

 

แต่จะฝังเพียงครึ่งเดียว โดยให้มีส่วนที่โผล่พ้นเหนือดินมาเล็กน้อย

 

พร้อมกับจุดเทียนจนเป็นประกาย ส่องแสงระยิบระยับไปทั่วบริเวณวัด เพื่อบอกกล่าวแม่ธรณี ฝากส่งอาหารคาว-หวาน ไปถึงดวงวิญญาณของผู้ล่วงลับ โดยจะมีการขานชื่อและกรวดน้ำ

 


เตรียมใบตองสำหรับงานบุญ

 

ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน ย้อนอดีตให้เราฟังว่า ในครั้งที่คุณตาคุณยายยังเด็ก จำได้ว่า ก่อนจะถึงวันบุญ ข้าวประดับดิน” ผู้ใหญ่จะพาเด็ก ๆ เข้าป่าหาเผือก หามัน เพื่อมาทำขนมหวาน

 

ส่วนผู้ชายก็จะหาปลา เพื่อมาทำอาหารคาว

 

พอตกค่ำ ทุกบ้านก็จะมีกิจกรรมร่วมกันทำอาหาร-ขนมหวาน และร่วมกัน เย็บใบตองเพื่อบรรจุ จนถึงรุ่งเช้าก็จะไปทำบุญตักบาตร ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ที่วัด เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับบรรพบุรุษ

 

ที่น่าตื่นตาตื่นใจก็คือ งาน บุญข้าวประดับดินยังไม่ได้จบแค่นั้น หากแต่ยังต่อเนื่องไปจนถึงประเพณี ไหลเรือไฟที่บรรดาฝ่ายชายในหมู่บ้าน จะต้องไปจัดเตรียมหาอุปกรณ์ เพื่อประกอบเป็นเรืออีกด้วย

 


อลังการไหลเรือไฟ

 

ผู้ชายในหมู่บ้าน นอกจากจะมีหน้าที่หาปลา ในวันก่อนงานบุญ “ข้าวประดับดิน” แล้ว ก็ยังยังต้องเตรียมประกอบเรือ สำหรับ “ไหลเรือไฟ” ในวันแรม 14 ค่ำ เดือน 9 เช่นกัน

 

ประเพณี ไหลเรือไฟในสมัยโบราณ เป็นการปฏิบัติบูชา คารวะแม่คงคา

 

ซึ่งถือได้ว่า เป็นการขอขมา ที่เหล่าลูกหลานได้กินได้ใช้ และอาจจะทำอะไรผิดพลาดล่วงเกินไปด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

 

เรือจะทำจาก ต้นกล้วยสาว ที่ยังไม่ออกปลี ไม่มีลูก ประกอบเข้ากับไม้ไผ่ เป็น เรือแม่  ลำใหญ่ 1 ลำ ยาวประมาณ 20 ม. และมี เรือลูกอีกจำนวนหนึ่ง ตามกำลังศรัทธาของชาวบ้าน

 

แล้วทั้ง เรือแม่ และ เรือลูก ก็จะถูกบรรจุด้วยข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน  เสื่อ หมอน ผ้าห่ม  เสื้อผ้า และ ฯลฯ พร้อมกับประดับประดาอย่างสวยงาม

 

ในวันงานช่วงเย็น ๆ ฝ่ายชายก็จะช่วยกันนำเรือแม่และเรือลูก ขึ้นไปด้าน ต้นน้ำ กลาง ลำน้ำโขง เพื่อจะ “ไหลเรือไฟ” ผ่านหมู่บ้าน ให้ชาวบ้านได้ร่วมกันคารวะ

 

เรือลูก จะถูกปล่อยมาก่อน ในช่วงประมาณหนึ่งทุ่มเศษ ๆ ส่วน เรือแม่ จะไหลตามมา ในช่วงประมาณสองทุ่มเศษ ๆ ซึ่งในช่วงเวลานั้น ชาวบ้านก็จะเฉลิมฉลอง ด้วยขบวนแห่กลองยาวกันอย่างครึกครื้น

 


คุณตาขาลายอวดรอยสัก

 

นี่เป็นงาน บุญเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน และเชื่อมต่อกับประเพณี ไหลเรือไฟ ที่มีมาแต่โบราณกาล จนถึงปัจจุบัน

 

นี่เป็น ฮีตสิบสองที่ผูกพันกับ วิถีชีวิต ของคน ลุ่มน้ำโขง ทั้ง 2 ฝั่ง

 

และสืบทอดผ่านผู้คนแห่ง บ้านหนองหล่ม อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ที่เป็นหมู่บ้านวัฒนธรรม และหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

 

มุกดาหาร ไม่ได้มีแค่สถานที่ท่องเที่ยวอันโด่งดัง แต่ยังมี รากทางวัฒนธรรม อันยิ่งใหญ่

 

ที่ อ.ดอนตาล ไม่เพียงมี กลองมโหระทึก ที่ทำจากสำริด และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เก็บรักษาไว้ที่ วัดมัชฌิมาวาส หากแต่ยังมี วิถีชีวิต ของคน ลุ่มน้ำโขง ให้ได้เรียนรู้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ

 


ลวดลายรอยสักดูกันชัด ๆ

 

คุณเคยรู้ไหมว่า ใบตอง มาจาก ฝั่งลาว และถูกตัดเป็นชิ้น เพื่อเป็นวัตถุดิบสำคัญ ในการห่อแหนม หมูยอ และ ฯลฯ โดยผู้คนในชุมชนที่ ฝั่งไทย

 

คุณเคย ล่องเรือแม่น้ำโขง เพื่อทึ่งกับสารพัดวิธี หาปลา และแปลกใจกับพันธุ์ปลานานาชนิดในแม่น้ำโขง พร้อมกับชมความงามของพระอาทิตย์ตก ที่สวยที่สุดแห่งหนึ่ง ในประเทศไทยหรือไม่

 

คุณเคยได้ยินใช่ไหมถึงเรื่องราวของความวิจิตรพิสดาร จาก รอยสัก ตั้งแต่ข้อเท้าขึ้นไปถึงบั้นเอว ของ ผู้บ่าวขาลาย แห่ง เผ่ากะเลิง1 ใน 8 กลุ่มชาติพันธุ์ ของ มุกดาหาร

 


ล่องเรือชมพระอาทิตย์ตก

 

ทั้งหมดนี้ รอเราอยู่ ที่ บ้านหนองหล่ม อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร

 

นี่แหละ “วิถีชีวิต” ที่มาจาก “ฐานรากของชีวิต”

 

และ “ฐานรากของชีวิต” เช่นนี้แหละ ที่สืบต่อกันมาจนเป็น “วัฒนธรรม” ที่ทั้งเข้มแข็ง ทั้งงดงาม และยังเชื่อมโยงกับชีวิต อย่างแนบสนิทจริง ๆ...

 

 

//............................

หมายเหตุ : บ้านหนองหล่ม-ดอนตาล’: บุญเดือนเก้า-ข้าวประดับดิน-ไหลเรือไฟโบราณ : คอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย จตุระคน” (ออนอาร์ต) : บางกอกไลฟ์นิวส์

//...........................