เริ่มแล้ว !! เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. “สมรสเท่าเทียม”

แฮชแท็กร้อนโลกโซเชียล #สมรสเท่าเทียม เมื่อเว็บไซต์รัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. ประเด็นการเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมทั้งมีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่างๆ ได้

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในสื่อโซเชียลมีการติดแฮชแท็ก #สมรสเท่าเทียม กันอย่างล้นหลามเมื่อเว็บไซต์รัฐสภา เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่าง พ.ร.บ. ประเด็นการเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

 

          ประเภทร่าง เสนอโดยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่เป็นร่างการเงิน

          เสนอโดย นายธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกับคณะ เป็นผู้เสนอ

 

          ข้อมูลประกอบการพิจารณา

          เสนอเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๑ หลักทั่วไป บรรพ ๕ ครอบครัวและบรรพ ๖ มรดก สาระสำคัญหลักของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ การเสนอขอแก้ไขเพื่อให้บุคคลธรรมดาทั้งเพศเดียวกันและต่างเพศ สามารถทำการหมั้นและสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเมื่อบุคคลธรรมดาได้หมั้นหรือสมรสกันอย่างถูกต้องตามกฎหมายแล้วก็ให้มีสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่สมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องต่าง ๆ ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่า “ความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา” เป็น “ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สมรส” ทรัพย์สินระหว่างสามีภริยา เป็น “ทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส”  รวมถึงการแบ่งมรดกของผู้ตายที่มีคู่สมรส โดยได้ขอแก้ไขถ้อยคำในหลายมาตราที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติว่า “สามีและภรรยา” เป็น “คู่สมรส”

 

          การหมั้น ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์ทำการกันได้ และเสนอกำหนดคำศัพท์ขึ้นใหม่เป็น “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น” แทนคำว่า “ชาย” และ “หญิง” และแบบของการหมั้นให้ผู้หมั้นส่งมอบหรือโอนทรัพย์สินให้กับผู้รับหมั้น ในส่วนของเรื่องสิทธิและหน้าที่ระหว่างคู่หมั้นยังคงตามหลักการเดิมเพียงแต่ปรับถ้อยคำเป็น “ผู้หมั้น” และ “ผู้รับหมั้น”

 

          การสมรส ให้บุคคลเพศเดียวกันหรือต่างเพศซึ่งมีอายุสิบแปดปีบริบูรณ์ สามารถสมรสกันได้ หรือหากมีเหตุอันสมควรศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนนั้นได้ สำหรับเงื่อนไขการสมรสยังคงหลักการเดิม แต่มีการปรับถ้อยคำจากคำว่า “ชาย” หรือ “หญิง” เป็น “บุคคล” เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสมรสระหว่างบุคคล เช่น

 

  • บุคคลซึ่งเป็นญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมาจะทำการสมรสกันมิได้
  • บุคคลจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสไม่ได้
  • การสมรสจะทำได้ต่อเมื่อบุคคลทั้งสองยินยอมเป็นคู่สมรส
  • คู่สมรสต้องอยู่กินกันฉันคู่สมรสและช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูตามความสามารถและฐานะของตน
  • การจัดการทรัพย์สิน หนี้สินของคู่สมรส สัญญาที่เกี่ยวกับทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส
  • การหย่า เหตุหย่า การฟ้องหย่าระหว่างคู่สมรส สิทธิได้รับค่าทดแทน การแบ่งสินสมรส
  • การเป็นผู้อนุบาลคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งกรณีศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  • การรับบุตรบุญธรรม

 

          การรับมรดก กรณีผู้ตายมีคู่สมรส ต้องมีการแบ่งทรัพย์สินระหว่างผู้ตายกับคู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยให้นำเรื่องส่วนแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส และคู่สมรสที่ร้างกันหรือแยกกันอยู่โดยยังมิได้หย่ากันตามกฎหมายยังคงมีสิทธิโดยธรรมในการสืบมรดกซึ่งกันและกัน

 

          ผู้ที่เกี่ยวข้อง

  1. ศาลยุติธรรม
  2. อัยการสูงสุด
  3. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
  4. กระทรวงมหาดไทย
  5. กรมการปกครอง
  6. กรมบัญชีกลาง
  7. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
  8. สมาคม ชมรม องค์กร ที่ดำเนินงานเกี่ยวกับบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ
  9. ประชาชน

 

          ประเด็นเพื่อรับฟังความคิดเห็น

  1. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” และ “ต่างเพศ” สามารถทำการหมั้นกัน  ได้หรือไม่
  2. ควรแก้ไขให้บุคคลไม่ว่าจะเป็น “เพศเดียวกัน” หรือ “ต่างเพศ” สามารถสมรสกันได้ ตามกฎหมายหรือไม่
  3. ควรแก้ไขอายุบุคคลที่จะทำการสมรสกันได้ต้องมีอายุ 18 ปีขึ้นไป หรือไม่
  4. ควรแก้ไขให้คู่สมรสทั้งที่เป็นเพศเดียวกันและต่างเพศมีสิทธิ หน้าที่ ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหมือนสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาหรือไม่

 

 

          ทั้งนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนทั่วไป สามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่
https://www.parliament.go.th/section77/survey_commend.php?sid=137&id=94

 

CR : สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?&id=94&error_protect