เปิดประวัติ-ผลงาน 7 ศิลปิน “ศิลปาธร” 7 สาขา ประจำปี 2563

สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศรายชื่อ 7 ศิลปิน “ศิลปาธร” 7 สาขา ประจำปี 2563 พร้อมจัดนิทรรศการเชิดชูเกียรติ เผยแพร่ประวัติ และผลงาน ณ หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

 

          นายอิทธิพล  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานงานแถลงข่าวประกาศผลการคัดเลือกและยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” ประจำปี พ.ศ. 2563 โดยมี นางสาววิมลลักษณ์ ชูชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปวัฒนธรรม ร่วมสมัย (สศร.) ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรม คณะกรรมการตัดสินฯ คณะกรรมการคัดสรรฯ เข้าร่วมงาน ณ ห้องออดิทอเรียม หอศิลป์ร่วมสมัยราชดำเนิน

 

 

          นายอิทธิพล กล่าวว่า สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม ได้ดำเนินโครงการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” มาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2547 เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินร่วมสมัยรุ่นกลางที่ได้ทุ่มเทพลังความคิด สติปัญญา สร้างสรรค์ผลงานอันทรงคุณค่าเป็นที่ประจักษ์ต่อวงการศิลปะร่วมสมัยและผลงานได้เผยแพร่ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย ได้มอบรางวัล “ศิลปาธร” ให้แก่ศิลปินร่วมสมัยดีเด่นจำนวน 7 สาขา ได้แก่ สาขาทัศนศิลป์ - นายอริญชย์  รุ่งแจ้ง  สาขาสถาปัตยกรรม - นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล  สาขาวรรณศิลป์ - นายอุเทน มหามิตร  สาขาดนตรี - นายไกวัล  กุลวัฒโนทัย  สาขาศิลปะการแสดง - นายวรรณศักดิ์  ศิริหล้า  สาขาศิลปะการออกแบบ - นายสุรชัย  พุฒิกุลางกูร และสาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว - นางสาว อโนชา สุวิชากรพงศ์

 

 

           “ปัจจุบันมีศิลปินที่ได้รับรางวัล “ศิลปาธร” แล้วทั้งสิ้น 1 พระนาม คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงได้รับการยกย่องเป็นศิลปาธร สาขาศิลปะการออกแบบ (แฟชั่นและเครื่องประดับ) และอีก 80 รายชื่อ โดย รางวัลที่มอบให้แก่ศิลปินศิลปาธร ประกอบด้วย เข็มเชิดชูเกียรติและเงินรางวัลจำนวน 1 แสนบาท ทั้งนี้ ศิลปินศิลปาธร นับเป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ที่มีกำลังความคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน อันทรงคุณค่า สามารถประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมอันเป็นทุนทางวัฒนธรรมนำมาต่อยอดการสร้างสรรค์ผลงานให้เกิดคุณค่าและมูลค่าเพิ่มในระบบเศรษฐกิจ อุทิศกำลังเวลา ความคิด ทักษะและประสบการณ์ความรู้ สร้างสรรค์ประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติได้อย่างน่าภาคภูมิใจ” นายอิทธิพล กล่าว

 

 

ประวัติและผลงาน 7 ศิลปิน “ศิลปาธร” 7 สาขา ประจำปี 2563

 

สาขาทัศนศิลป์ - นายอริญชย์  รุ่งแจ้ง  

 

 

          อริญชย์ รุ่งแจ้ง เกิดเมื่อ 21 พฤศจิกายน 2517 จบการศึกษาคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทุนไปศึกษาต่อที่ Écolenationalesupérieure des beaux-arts de Paris. สาธารณรัฐฝรั่งเศส

          อริญชย์ รุ่งแจ้ง เป็นศิลปินไทยร่วมสมัยชื่อดังที่นำ “ความเป็นไทย วัฒนธรรมไทย” ไปเผยแพร่ผ่านผลงานศิลปะให้เป็นที่รู้จักในระดับโลกเน้นการสร้างมุมมองใหม่โดยนำเอาบริบทที่อยู่ในสังคมมาสร้างงานใหม่ (Recontextualization) อันเป็นแนวทางการสร้างสรรค์ที่กำลังเป็นกระแสในต่างประเทศ เขาสร้างโจทย์เพื่อการขับเคลื่อนผลงานที่มักมีความเกี่ยวพันกับเรื่องราวของ เวลา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ระหว่างเขาที่มีต่อสิ่งรอบตัวการเล่าเรื่องที่สำคัญและเรื่องรองที่ทับซ้อนกับประเด็นต่างๆ รอบตัว

          งานของอริญชย์ โดดเด่นด้วยการใช้สื่อมัลติมีเดีย ด้วยการติดตั้งวิดีโอแบบเฉพาะพื้นที่เพื่อแสดงถึงลักษณะสำคัญของงานในการสร้างความทรงจำ เขารวมวัตถุในชีวิตประจำวันเข้ากับกระบวนการทางศิลปะ รวบรวมและบันทึกเรื่องจากคำบอกเล่าและผสานเรื่องเหล่านั้นเข้ากับเรื่องที่เป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ด้วยวิธีนี้ทำให้เขาประสบความสำเร็จในการนำเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์และเรื่องส่วนตัวที่อยู่ห่างไกลมารวมกันผ่านเวลาและสถานที่เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความซับซ้อนระหว่างพื้นที่สาธารณะและพื้นที่ส่วนตัว รวมถึงระหว่างสถานที่และความทรงจำ ผลงานสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้วงการศิลปะร่วมสมัย 

          ในปี 2556ได้รับการคัดเลือกให้เข้าไปร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 ด้วยผลงาน Golden Teardrop (2013)ต่อมาในปี 2560เขาเป็นศิลปินไทยเพียงคนเดียวที่ถูกคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานในมหกรรมศิลปะร่วมสมัย Documentaครั้งที่ 14 ทั้งสองงานถือเป็นมหกรรมศิลปะที่ยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของโลกสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยได้เป็นที่รู้จักผ่านผลงานสร้างสรรค์อันทรงคุณค่าของศิลปิน

          ผลงานโดดเด่น  ได้แก่ พ.ศ. 2556 ผลงานชุด“Golden Teardrop”ในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 55 ศิลปินนำขนมหวาน“ทองหยอด”เป็นแกนกลางในการสร้างผลงานชุดนี้เพื่อนำเสนอการตีความทางประวัติศาสตร์แบบใหม่ ที่ท้าทายและตั้งคำถามต่อการถ่ายทอดประวัติศาสตร์ผ่านการเดินทางของอาหาร

          พ.ศ. 2560 ผลงานชุด“246247596248914102516… And then there were none (2017) และ And then there were none (Tomorrow we will become Thailand) (2016) ” ศิลปะจัดวางที่ประกอบด้วยวิดีโอ ภาพวาดเหตุการณ์จากข่าวหนังสือพิมพ์ หลักฐานจำลองทางประวัติศาสตร์ และประติมากรรมที่จำลองจากรูปปั้นนูนต่ำบนฐานอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยขึ้นมาใหม่ในรูปแบบทองเหลืองหล่ออันงดงามตระการตา เป็นผลงานศิลปะที่หลอมรวมความทรงจำส่วนตัวของศิลปินเข้ากับประวัติศาสตร์การเมืองของไทย กรีก และเยอรมันเข้าไว้ด้วยกันอย่างแนบเนียน กลมกลืน และลุ่มลึก

          พ.ศ. 2561  ศิลปะจัดวาง วิดีโอและประติมากรรมชุด “MONGKUT”สะท้อนความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (พ.ศ.2394-2411) กับจักรพรรดิโปเลียนที่ 3(พ.ศ. 2395-2413) ในช่วงเวลาที่โลกตะวันตกขยายอาณานิคมครอบครองพื้นที่จำนวนมากในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ.2404 มงกุฎจำลององค์ที่สองถูกนำมาถวายแด่จักรพรรดิโปเลียนที่ 3 โดยคณะราชทูตของสยามที่พระราชวังฟงแตนโบลศิลปินจำลองเครื่องมงคลราชบรรณาการจากรัชกาลที่ 4เพื่อเปิดเผยประวัติศาสตร์เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยในความสัมพันธ์ของสยามและฝรั่งเศส     

                                       

 

สาขาสถาปัตยกรรม - นายฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล  

 

 

          ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล เกิดเมื่อ 5 พฤษภาคม  2515  จบการศึกษา UC Berkeley , College of Environmental Design, Bachelors of Arts in Architecture,  1990-1994 และ Harvard University , Graduate School of Design, Masters of Architecture I, 1996-2000 

          ฉัตรพงษ์ ชื่นฤดีมล เกิดที่ประเทศไทยและเติบโตในสหรัฐอเมริกา หลังจบการศึกษาจากในระดับปริญญาโทจากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาเวิร์ด เขาตัดสินใจเดินทางกลับประเทศไทย โดยก่อตั้งสำนักงานสถาปนิกแชทอาร์คิเต็ค

          ผลงานของฉัตรพงษ์ สะท้อนถึงชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในแง่มุมที่ถูกซุกซ่อนอยู่ผ่านทางสถาปัตยกรรม การให้ความสำคัญกับสิ่งที่อยู่รอบตัวแต่อาจถูกมองข้าม การเปิดมุมมองให้มนุษย์ตระหนักถึงคุณค่าของการอยู่ร่วมกันระหว่างส่วนพื้นที่ส่วนตัวกับพื้นที่สาธารณะ การสร้างความยืดหยุ่น การใช้”ซอย”ถนนเล็กๆซึ่งเป็นตัวแทนการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน ด้วยรั้วบานพลิก  ซอยไม่ตัน ซุ้มต้นไม้ในซอย  ผนังแก้วริมถนนที่พลุกพล่าน สิ่งเหล่านี้บ่งบอกถึงทัศนคติของศิลปินที่แสดงถึงความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกันจนกลายเป็นชุมชนที่น่าอยู่  ดังจะเห็นได้จากงานบ้านเอกมัย ศาลาอารียา 

          ความชัดเจนในงานของฉัตรพงษ์อีกประการหนึ่งคือการสร้างกระบวนการความคิดด้วยการเริ่มต้นจากงานวิจัยไปสู่งานสร้างผลงานจริง เป็นการแสดงออกถึงความพยายามในการทำความเข้าใจกับสถาปัตยกรรมและสิ่งรายรอบให้น่าสนใจ ทำให้เกิดผลงานที่มีทั้งรายละเอียด มีมิติในเชิงลึกและเชิงกว้างสอดประสานเป็นเรื่องราวเดียวกัน การใช้สถาปัตยกรรมในการสร้างโลกคู่ขนานระหว่างประวัติศาสตร์ชุมชนเก่ากับโลกในปัจจุบัน โลกของศิลปะกับการพาณิชย์อย่างกลมกลืน  การปรับปรุงกายภาพอาคารส่งผลให้พื้นที่โดยรอบมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดังตัวอย่างงานโรงแรมสามเสนสตรีท โรงแรมนันดา เฮอริเทจน์ โรงแรมเดอะลาบาลิส

          ในเชิงสังคมฉัตรพงษ์ได้ริเริ่มศึกษาวิจัยเกี่ยวกับบ้านพักคนงานก่อสร้าง ชุมชนมักกะสัน และชุมชนอ่างศิลา เพื่อค้นหาความงามที่ซุกซ่อนอยู่และนำมาพัฒนาต่อยอดเป็น”สถาปัตยกรรมสารเลว” เพื่อบอกเล่าถึงสุนทรียภาพของชนชั้นที่หลากหลาย ในขณะที่โลกกำลังเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่ารวดเร็ว ผลงานของฉัตรพงษ์ทำให้เราต้องหันกลับทบทวนบทบาทของศิลปินสถาปนิกในฐานะผู้สะท้อนสังคมผ่านผลงานอย่างละเอียดรอบคอบมากขึ้นเพื่อที่จะก้าวเดินอย่างแข็งแรงในเส้นทางของตนเองต่อไป

          ผลงานที่มีความโดดเด่น ได้แก่ Nanda Heritage Hotel, completed 2015 โรงแรมที่ถูกออกแบบโดยมีแนวความคิดการผสมผสานวัฒนธรรมเก่า – วัฒนธรรมใหม่  องค์ประกอบส่วนใหญ่ของอาคารเกิดจากการประยุกต์วัสดุและโครงสร้างสถาปัตยกรรมต่างยุคเข้ามาไว้ด้วยกัน  ตึกปูนฉาบเรียบทาสีเทาเข้มกับโครงสร้างเหล็กที่ดูโมเดิร์น ถูกตกแต่งรายละเอียดไปด้วยแผ่นไม้เก่า เฟอร์นิเจอร์โบราณ รีไซเคิลวัสดุจากบ้านไม้สักเก่าของเจ้าของโครงการเกือบทุกชิ้นเข้ามาจัดวาง เปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ ประกอบร่างฟื้นคืนชีวิตใหม่ขึ้นอีกครั้งภายในพื้นที่ส่วนกลางของโรงแรม

           “Bangkok Bastards” Project สถาปัตยกรรมสารเลวสร้างให้เกิดคุณค่า

 

 

สาขาวรรณศิลป์ - นายอุเทน มหามิตร  

 

 

 

          อุเทน  มหามิตร เกิดเมื่อ 18 พฤศจิกายน 2518 จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          อุเทน มหามิตร เป็นกวีซึ่งมีความเป็นศิลปินสูง (Real Artist) เขาสร้างสรรค์บทกวีไร้ฉันทลักษณ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว งานบทกวี เรื่องสั้น และงานเขียนอื่นๆ ของเขามีลักษณะเป็นแนวเหนือจริงที่อุดมด้วยพลังจินตนาการและมวลสารแห่งความอัศจรรย์ใจ ขณะเดียวกัน เขายังเป็นนักทดลองทางภาษา ภาษากวีของเขา บางครั้งก็ฉุดดึงให้ผู้อ่านดิ่งด่ำไปใต้มหาสมุทรแห่งตัวอักษรอันดำมืด และบางครั้งก็ปีนไต่ระดับบรรทัดได้โลดโผนโจนทะยาน หมิ่นเหม่ตกขอบและไม่ใส่ใจกรอบหรือระเบียบวิธีการสร้างงาน บางครั้งใช้กลวิธีของกลบท เช่น กลบทถอยหลังเข้าคลอง ให้ผู้อ่านอ่านได้อย่างอิสระจากซ้ายไปขวา จากขวาไปซ้าย หรือนำทักษะด้านวิจิตรศิลป์มาสร้างจินตภาพอันอลังการ งานเขียนของเขาจึงเป็นศิลปะของการทำให้แปลกที่มุ่งหมายให้ผู้อ่านได้ “สะดุด” และฉุกคิดถึงสาระสำคัญอันเกี่ยวเนื่องด้วยโลก ชีวิต และสังคม

          ผลงานตีพิมพ์มีจำนวนมากในรูปแบบหนังสือทำมือซึ่งพิมพ์ในจำนวนจำกัด โดยลงมือทำเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่เขียน บรรณาธิกร พิสูจน์อักษร จัดหน้า เรียงพิมพ์ เข้าเล่ม และจำหน่าย เรียกว่าเป็น ‘โรงพิมพ์อิสระครบวงจร’ ให้แก่สำนักพิมพ์เหล็กหมาดที่ก่อตั้งขึ้นเอง นอกจากนี้ ยังมีผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์จากสำนักพิมพ์อื่นๆ เช่น “นิทานอิสระ” สำนักพิมพ์โกมล  คีมทอง รวมเรื่องสั้น “ภวาภพ” โดยสำนักพิมพ์สเกล รวมบทกวี “กอปร” “ลึงค์คดี” และ “ทะเล่อทะล่า 2-3 บรรทัด/โรคลากไส้ดินสอชั่วลัดนิ้วมือเดียว” โดยสำนักพิมพ์ชายขอบ หนังสือรวมบทกวี “ฤดูมรสุมบนสรวงสวรรค์” เข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ประเภทกวีนิพนธ์ ปี 2550 รวมเรื่องสั้นขนาดสั้น “หยากไย่ไรเรื้อน” และหนังสือรวมบทกวีนิพนธ์ “หมวกทรงกลมลอยวนรอบกรวยฝน”  โดยสำนักพิมพ์สมมติ นอกจากจะเป็นนักมายากลทางภาษาที่หมกมุ่นเล่นแร่แปรธาตุจากตัวหนังสือแล้ว ปัจจุบันยังทดลองปลอมตัวเป็นศิลปิน ทำงานศิลปะสาดสีเทสี ค้นหาความเป็นไปได้ด้วยรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อกลบเกลื่อนแฝงเร้นตัวเองในพื้นที่ที่ชื่อว่า ‘วงการศิลปะ’

          อุเทน มหามิตร นับเป็นความหวังใหม่ในวงการวรรณศิลป์ร่วมสมัย

          ผลงานโดดเด่น ได้แก่ กวีนิพนธ์ (ปี 2562) “ทางแยกเวลาในหน้าต่าง” งานเขียนซึ่งอ่านได้ 2 ทิศทาง ทำให้เห็นถึงพลังทางภาษาที่พลิกผันได้

 

 

สาขาดนตรี - นายไกวัล  กุลวัฒโนทัย

 

 

 

          ไกวัล  กุลวัฒโนทัย เกิดเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2510 จบการศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ไกวัล  กุลวัฒโนทัย เป็นศิลปินสาขาดนตรีที่มีผลงานสร้างสรรค์ครอบคลุม ครบเครื่อง ทั้งดนตรีไทยและดนตรีสากล เกือบทุกรูปแบบ อาทิ ดนตรีคลาสสิค ดนตรีไทยดั้งเดิม ดนตรีไทยประยุกต์ ป๊อป แจ๊ส และดนตรีไทยร่วมสมัย ความสามารถหลากหลายนับตั้งแต่การขับร้องเพลง การประพันธ์เพลง การเรียบเรียงและการอำนวยเพลง เริ่มศึกษาวิชาดนตรีที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรมศิลปากร ได้เข้าร่วมงานกับวงฟองน้ำ ศึกษาการประพันธ์เพลงจาก บรูซ  แกสตัน และปรมาจารย์ดนตรีไทย อาทิ บุญยงค์ เกตุคง จำเนียร ศรีไทยพันธ์ เป็นต้น ซึ่งมีอิทธิพลต่อแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานประพันธ์ดนตรี

          ไกวัลเป็นกำลังสำคัญให้แก่คณะนักร้องประสานเสียงหลายวง เช่น วงสวนพลู และวงเสียงไทยคอรัส ในบทบาทผู้อำนวยเพลงและผู้ประพันธ์เพลงได้ทดลองสร้างผลงานประสานเสียงที่มีเอกลักษณ์ไทย ทั้งเรียบเรียงเพลงเก่าและประพันธ์ขึ้นใหม่ ไกวัลยังโดดเด่นในการประพันธ์เพลงประกอบละครเพลง ประกอบภาพยนตร์ และประกอบงานระดับชาติ อาทิ ดนตรีประกอบการแสดงชุดแม่น้ำของแผ่นดิน

          ผลงานโดดเด่น ได้แก่ ผลงานดนตรีด้านขับร้องประสานเสียงสร้างสรรค์ให้แก่คณะนักร้องประสานเสียงสวนพลูที่สร้างชื่อเสียง คือ เพลงการละเล่นเด็กไทย หรือ เพลง งูกินหาง โดยการนำการละเล่นของเด็กสมัยก่อนมาแต่งเป็นเพลงและสร้างสรรค์ท่าทางประกอบการแสดงขึ้น นำออกแสดงครั้งแรกเมื่อปี 2552 ณ สำนักงานใหญ่ องค์การยูเนสโก สาธารณรัฐฝรั่งเศส 

          ผลงานดนตรีด้านละครเพลงละครเพลงเรื่องแรกที่สร้างชื่อเสียงและสร้างปรากฏการณ์ที่สำคัญหลายอย่างในวงการละครเพลง คือ (ปี 2546)  คู่กรรม เดอะมิวสิคัล เป็นละครเพลงเรื่องแรกของประเทศไทยที่ร้องทั้งเรื่องด้วยบทเพลงจำนวน 50 คิว โดยไม่มีบทสนทนา (ปี 2552) แม่นาค เดอะมิวสิคัล เป็นละครที่ได้รับความชื่นชมจากสื่อและผู้ชมมากมาย ถูกเรียกร้องให้นำกลับมาแสดงใหม่มากที่สุด จนได้นำกลับมาแสดงใหม่ในปี 2562

          ผลงานดนตรีประกอบภาพยนตร์ผลงานที่ได้รับรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ จากสมาพันธ์ภาพยนตร์แห่งประเทศไทย สาขาดนตรีประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ปี 2550) ดนตรีประกอบภาพยนตร์แอนนิเมชั่นเรื่อง “พระพุทธเจ้า”   (ปี 2551) ดนตรีประกอบภาพยนตร์เรื่อง “แปดวัน แปลกคน”

 

 

สาขาศิลปะการแสดง - นายวรรณศักดิ์  ศิริหล้า

 

 

          วรรณศักดิ์   ศิริหล้า เกิดเมื่อ 2 ธันวาคม 2512 ผ่านการศึกษาอบรมการแสดงพื้นฐานจากกลุ่มละครมะขามป้อมฝึกฝนหุ่นละครเล็กจากครูสุรินทร์ ยังเขียวสด และ ครูยุพิน กุลนิตย์ อบรมศิลปะการแสดงจากคณะละคร 28 ฝึกฝนศิลปะการแสดงจากภัทราวดีเธียร์เตอร์ โดย ครูเล็ก ภัทราวดี มีชูธน ศิลปินแห่งชาติ และ ครูนาย มานพ มีจำรัส ศิลปินศิลปาธร

          วรรณศักดิ์เป็นศิลปินผู้มีพลังความสามารถในวงการศิลปะการแสดงร่วมสมัยอย่างมีอัตลักษณ์โดดเด่นน่าชื่นชม  เป็นผู้มีทักษะรอบด้านทั้งในฐานะนักแสดงเดี่ยว นักแสดงนำ นักแสดงสมทบหลากหลายบทบาททั้งในละครเวทีและภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดง ผู้เขียนบท และผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของละครเวทีมากมาย  นำความรู้เฉพาะตัวด้านศิลปะการแสดงไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนและการพัฒนาเยาวชน  สามารถเชื่อมโยงวิชาการละครกับการศึกษาด้วยกระบวนการสอนและกิจกรรมที่กระตุ้นแรงบันดาลใจ มีความคิดสร้างสรรค์ในการใช้พื้นที่ในการแสดงอย่างหลากหลาย ทั้งริมถนน ในโรงละคร สวนสาธารณะ หอศิลป์ โรงเรียน ร้านอาหาร สนามเด็กเล่น คลับบาร์และโรงแรม 

          นอกจากเป็นผู้มีบทบาทร่วมผลักดันเครือข่ายเทศกาลละครกรุงเทพแล้ว  วรรณศักดิ์ยังเป็นศิลปินไทยร่วมสมัยที่มีแนวคิดและผลงานสร้างสรรค์ส่องสะท้อนมิติความหลากหลายในสังคมและความเสมอภาคเท่าเทียม เช่น การนำเสนอประเด็นของปัจเจกชนและกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT โดยวิธีละมุนละม่อม มีศิลปะและอารมณ์ขันที่เจือไว้ด้วยความขมขื่นของความจริงที่ชวนให้ผู้ชมตระหนัก สร้างการยอมรับ ความเข้าใจและความเคารพในความหลากหลายแต่เท่าเทียมของมนุษย์ในสังคมไทยและสังคมโลก

          ผลงานโดดเด่น ได้แก่ การแสดงเดี่ยว (ละครเวที) ครั้งแรก จากเรื่อง คืนที่คีอานูรีฟ  จูบฉัน  Last night Keenureav kissed me ไฉไลไปรบ Chilai goes to War อสรพิษ ที่รัก The Snake, My Mom, Be Loved Who moved My Dream?,

 

 

สาขาศิลปะการออกแบบ - นายสุรชัย  พุฒิกุลางกูร

 

 

          สุรชัย   พุฒิกุลางกูร เกิดเมื่อ 12 เมษายน 2508 จบการศึกษา  สาขาจิตรกรรม คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          สุรชัยเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Illusion ที่ได้รับการยกย่องว่า เป็นบริษัทผู้สร้างภาพประกอบโฆษณาอันดับหนึ่งของโลก ได้รับรางวัลด้านออกแบบภาพประกอบโฆษณาระดับประเทศและระดับโลกมากมายหลายเวที กล่าวได้ว่า สุรชัย เป็นนักสร้างภาพประกอบโฆษณาที่ได้รับรางวัลมากที่สุดในโลก ปัจจุบัน สุรชัยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับศิลป์บางกอก

          สุรชัยมีความสนใจและถนัดการวาดภาพแบบ Super Realistic หรือภาพวาดที่เหมือนจริงจนดูไม่รู้ว่าเป็นภาพวาด ตั้งแต่สมัยที่ยังศึกษาอยู่ที่คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้เขาทำสิ่งนี้ได้ดีมากแต่ก็ยังรู้สึกว่ายังไม่ใช่คำตอบในการสร้างผลงานที่แตกต่างและดีที่สุด จนกระทั่งได้มาทำงานในวงการโฆษณา เขาเปลี่ยนเครื่องมือการสร้างสรรค์ภาพจากสีฝุ่น สีน้ำมัน สีอะคริลิก พู่กันลม ไปเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ และกลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกการสร้างภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรือ Computer-generated imagery (CGI) ในประเทศไทย

          ผลงานของสุรชัยทุกชิ้นมีความละเอียดเสมือนจริงดังเช่นภาพถ่าย มีการผสมผสานเทคนิคที่หลากหลาย ทั้งการสร้างภาพด้วยโปรแกรม 3 มิติ ภาพถ่าย และการตกแต่งภาพด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ กระบวนการออกแบบภาพประกอบของเขาไม่ใช่เพียงทำให้เหมือนจริงมากที่สุด แต่ต้องสะท้อนอารมณ์และเล่าเรื่องราวได้ บางครั้งอาจจะลดทอนความเหมือนจริงบางอย่างลง และเพิ่มความเหมือนจริงบางอย่างขึ้น เพื่อทำให้ความคิดโดดเด่นและยังมีความสวยงาม

          ผลงานโดดเด่น ได้แก่ Heaven and Hell  โฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ที่ได้รับรางวัลรวมมากที่สุดในโลก   เล่าถึงความทนทานแข็งแรงของกระเป๋าเดินทาง Samsonite รุ่น Cosmolite โดยนำการผจญภัยของกระเป๋ามาเปรียบเทียบกับการเดินทาง ของเจ้าของกระเป๋า

          Heaven คือสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างการเดินทางบนเครื่องบินของผู้โดยสาร ชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจเปรียบกับสรวงสวรรค์ โดยทำเป็นภาพประติมากรรม หินอ่อน

          Hell คือ ภายใต้ห้องเก็บสัมภาระของเครื่องบินลำเดียวกัน รวมไปถึง กระบวนการขนส่งสัมภาระต่างๆ ที่โหดร้ายทารุณ ถูกวางให้เป็นวัสดุสำริด สีแดงเดือดจากลาวาสีแดง ที่ให้ความรู้สึกสมบุกสมบัน ร้อนแรง และโหดร้าย

          มีเพียงกระเป๋า Samsonite สีบรอนซ์เงิน ที่แข็งแรงที่สุดเท่านั้นที่จะ รอดพ้นมาได้แบบไร้รอยขีดข่วน! Heaven และ Hell ให้ความรู้สึกที่แตกต่าง แต่ก็ทำให้ภาพรวมนั้นเป็นเอกภาพด้วยในเวลาเดียวกัน

 

 

สาขาภาพยนตร์และสื่อเคลื่อนไหว - นางสาว อโนชา สุวิชากรพงศ์

 

 

          อโนชา สุวิชากรพงศ์ เกิดในปี 2519 จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการออกแบบเครื่องประดับ ปริญญาโท ศิลปวัฒนธรรมศึกษาสหราชอาณาจักร และศึกษาด้านภาพยนตร์จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย  สหรัฐอเมริกา 

          อโนชา เป็นทั้งผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักบริหารจัดการในวงการภาพยนตร์ที่มีความสามารถโดดเด่น มากความสามารถยิ่งสำหรับวงการภาพยนตร์ ทำงานคุณภาพต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลานาน ผลงานหลากหลายครอบคลุมทั้งภาพยนตร์กระแสหลักและภาพยนตร์อินดี้ มีบทบาทในวงการหลายมิติ  ทั้งการกำกับ การอำนวยการผลิต รวมถึงงานที่สร้างประโยชน์ทั้งเพื่อการศึกษาและเพื่อสังคม  สามารถสร้างตัวตนและสร้างโปรดักชั่นอิสระเป็นนักทำหนังทดลองผู้ผลักเคลื่อนอาณาเขตทางสุนทรียศาสตร์, ระบบสัญลักษณ์ และรูปแบบของภาพยนตร์ เพื่อจะสะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์และภาวะร่วมสมัยของสังคมไทยใช้การเล่าเรื่องโดยผสมความจริง ความลวง เรื่องเล่า หรือเรื่องแต่งเป็นผู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ในด้านต่างๆ ให้เกิดการเผยแพร่ที่นับเป็นคุณประโยชน์ให้แก่วงการ ด้วยความสามารถอันเป็นที่ประจักษ์ทำให้ได้รับเชิญไปสอนด้านภาพยนตร์ ในมหาวิทยาลัย ฮาร์เวิร์ด สหรัฐอเมริกา

          อโนชา ร่วมก่อตั้งและทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ของ PURIN Pictures องค์กรสนับสนุนคนทำหนังอิสระ ที่มักถูกมองข้าม โดยเฉพาะนักทำหนังสตรี  ได้จัดงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปะเพื่อสนับสนุนคนทำหนัง ได้รับรางวัลอันเป็นสิ่งยืนยันความสามารถ คือ  Prince Claus  จาก “Prince Claus Fund” กองทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการต่างประเทศ และสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ ซึ่งมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ประสบความสำเร็จอย่างโดดเด่นในการสร้างผลงานเชิงวัฒนธรรมและการพัฒนา

          ผลงานโดดเด่น  ได้แก่ การเขียนบท, กำกับ, และอำนวยการผลิต

          - ดาวคะนอง (2559) รางวัลสุพรรณหงส์ทองคำภาพยนตร์ยอดเยี่ยมผู้กำกับยอดเยี่ยม และลำดับภาพยอดเยี่ยม

          - เจ้านกกระจอก(2552) “Mundane History” ได้รับรางวัล "ทรานซิลเวเนีย โทรฟี่" ซึ่งเป็นรางวัลสูงสุด ในงานประกาศ ผลรางวัลในงานเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติทรานซิล–เวเนีย (TIFF) ครั้งที่ 9 ประจำปี 2553 ที่ประเทศโรมาเนีย โดยเอาชนะผลงานอีกกว่า240 เรื่องของผู้กำกับจาก 47 ประเทศ ที่ได้รับคัดเลือกเข้าประกวด

          เขียนบทและกำกับ

          - Lunch (ภาพยนตร์สั้น 27 นาที ผลิตในปี 2553)

          - Graceland (ภาพยนตร์สั้น 17 นาที ผลิตในปี 2549)

          - Jai ใจ (ภาพยนตร์สั้น 14 นาที ผลิตในปี 2551)

          กำกับร่วม

          - Krabi, 2562 (กำกับฯ ร่วมกับ “เบน ริเวอร์ส” ศิลปิน-นักทำหนังชาวอังกฤษ)

          ควบคุมการผลิต

          - เถียงนาน้อยคอยรัก หนังสั้น กำกับโดย วิชชานนท์ สมอุ่มจารย์

          - Play Name หนังสั้นอเมริกันอินดี้ กำกับโดย Dave Snyder

          - รอลม หนังวิทยานิพนธ์ กำกับโดย ตุลพบ แสนเจริญ

          - พี่ชาย My Hero ประสบการณ์ทางด้านภาพยนตร์