เว็บไซต์ต่างประเทศชม “โครงการ 90 วันปลูกผักสวนครัว” สร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน

องค์กรภาคเอกชนต่างประเทศซึ่งขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การปลูกพืช และการจัดการขยะ ชื่นชม “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร”

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกระแสพูดคุยในสื่อสังคมในเฟซบุ๊กกลุ่ม “ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช.” ที่รณรงค์ให้คนไทยทุกครัวเรือนหันมาปลูกผักตามโครงการ “ปฏิบัติการ 90 วัน ปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ว่า มีการนำเรื่องราวการปลูกผักที่กำลังได้รับการตอบรับจากทั่วประเทศในขณะนี้ไปลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ต่างประเทศ เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า มีเว็บไซต์ www.rootthefuture.org  ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนต่างประเทศที่ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย ผ่านกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม การปลูกพืชและการจัดการขยะ ได้ลงบทความเป็นเรื่องราวการปลูกผักสวนครัว โดย Joanna Broomfield

 

          เนื้อหากล่าวถึง กรมการพัฒนาชุมชนได้ริเริ่มโครงการเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนในชุมชนปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่บริเวณหลังบ้านของตนเอง หรือที่เรียกว่า ‘โครงการปลูกผักสวนครัว เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร’ ซึ่งโครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อเพิ่มความมั่นคงทางอาหารของประเทศในสภาวะโรคระบาดและช่วงเศรษฐกิจตกต่ำซึ่งกำลังจะเกิดขึ้น โดยใช้วิธีการปลูกพืชผักสวนครัวเองเพื่อบริโภคเองในครัวเรือน ทั้งนี้ มีกลุ่มเฟซบุ๊กซึ่งเพิ่งตั้งขึ้นมีชื่อว่า ‘ปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรัก กับ พช’ ได้ส่งเสริมให้คนไทย โดยเฉพาะเยาวชนร่วมแลกเปลี่ยนเทคนิควิธีการทำสวนพืชผัก ความรู้ในการทำสวน เรื่องราวการทำสวน และรูปภาพต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และแม้ว่ากลุ่มดังกล่าวพึ่งจะตั้งขึ้นเมื่อ 5 อาทิตย์ที่ผ่านมา แต่มีผู้เข้ามาแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้เกี่ยวกับการทำสวนพืชผักสวนครัวกว่าหลายพันโพสต์และมีสมาชิกในกลุ่มกว่า 2 หมื่นคน ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสริมให้ 11,811,124 ครัวเรือนใช้พื้นที่บริเวณบ้านของตนเพื่อปลูกพืชผักสวนครัวไว้บริโภคเองให้สำเร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2563 หากโครงการดังกล่าวบรรลุเป้าหมายจะทำให้เกิดพื้นในการปลูกพืชผักจำนวนมาก และเป็นการฟื้นฟูธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

 

          ในบทความยังกล่าวถึง การขับเคลื่อนโครงการนี้ของรัฐบาลว่า นับเป็นความก้าวหน้าครั้งใหญ่ในการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการปลูกพืชผักสวนครัว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาบริโภคอาหารจากพืชผักแทนอาหารจากสัตว์ นอกเหนือจากที่โครงการนี้จะช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทยแล้ว โครงการนี้ยังช่วยประหยัดงบประมาณค่าใช้จ่ายด้านอาหารมูลค่าหลายล้านบาทต่อปีแล้ว ยังกระตุ้นให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและรักษาสิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต พร้อมกันนั้นเจ้าหน้าที่ของรัฐยังได้เข้าร่วมในโครงการดังกล่าว โดยได้ปลูกพืชผักสวนครัวในพื้นที่บริเวณสวนและระเบียงบ้านของตนเองอีกด้วย