“ธรรมศาสตร์” เดินหน้า “ธนาคารอาหารชุมชน” ฝ่าวิกฤติอย่างเข้าใจ เข้าถึง

“มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” เดินหน้า “ธนาคารอาหารเพื่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัย” หารือชุมชน รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เริ่มที่ “คุ้งผ้าพับ” และ “คลองมะดัน” จัดคลังเสบียงข้าวสารอาหารแห้งส่วนกลาง ให้สิทธิสมาชิกทุกบ้านเบิกได้ พร้อมของส่วนกลาง ไว้แจกเพิ่มเติมให้บ้านที่เดือดร้อน

 

          ผศ. ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหารและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้จัดการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เผยแพร่ภาพและข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก “Prinya Thaewanarumitkul” เกี่ยวกับ “ธนาคารอาหารเพื่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัย” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  

          #ธนาคารอาหารเพื่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัย

          เราจะ #ช่วยเหลือชุมชนอย่างไรให้ยั่งยืน?

 

          ถ้าเราจะช่วยเหลือชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยที่กำลังเดือดร้อนจากโควิด-19 เราควรช่วยเหลือเรื่องใดก่อน?

 

          คำตอบที่ผมได้จากการหารือกับประธานชุมชนและกรรมการชุมชนต่างๆ ที่อยู่รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ซึ่งได้แก่ ชุมชนหมู่ 18 ชุมชนคุ้งผ้าพับ และชุมชนคลองมะดัน คือ #ข้าวสารอาหารแห้ง ครับ

 

          “ให้ข้าวสารอาหารแห้ง ให้แต่ละบ้านเค้าไปทำกินกันเองดีที่สุดครับ” ประธานชุมชนทุกคนตอบเป็นเสียงเดียวกัน ซึ่งตรงกับความคิดผม เพราะข้าวสารถุงละ 5 กิโลกรัม ราคา 100 บาท กินได้เป็นอาทิตย์ ถ้าเอามาซื้อข้าวกล่องซื้อได้แค่ 2 หรือ 3 กล่องเท่านั้น

          “ถ้างั้นเบื้องต้นก็ข้าวสาร ปลากระป๋อง มาม่า” ผมสรุปและถามต่อ “แล้วอะไรที่จำเป็นอีกครับ”

          “น้ำมันพืชครับ” ประธานชุมชนคนหนึ่งตอบ

          “น้ำมันพืช?” ผมสงสัย “เพิ่มปลากระป๋องไม่ดีกว่าหรือครับ”

          “น้ำมันพืชเป็นของจำเป็นของทุกครัวครับอาจารย์ ทั้งผัด ทั้งทอด ใช้ทำครัวแทบทุกอย่าง” ประธานชุมชนอีกคนตอบ “ถ้าอาจารย์ให้ไหวขอ 2 ขวดเลย”

          “ครับๆ” ผมหัวเราะ แม้จะเคยทำอาหารมาบ้าง แต่ก็เป็นคนโสดจึงนึกไม่ถึงว่าน้ำมันพืชสำคัญในครัวเรือนถึงขนาดนั้น

 

 

          ที่นี้มาถึงประเด็นสำคัญคือจะให้ทุกบ้านหรือไม่? ชุมชนหมู่ 18 หรือที่นักศึกษาชอบเรียกว่าชุมชนสะพานสูง มี 400 หลังคาเรือน ชุมชนคุ้งผ้าพับมี 380 หลังคาเรือน ชุมชนคลองมะดันมี 120 หลังคาเรือน ถ้าช่วยชุมชนบางขันธ์ด้วย รวมทั้งหมดอย่างน้อยก็ 1,000 ชุด ถ้าให้ทุกบ้าน ของที่ให้แต่ละบ้านก็จะน้อย แล้วก็จะมีบ้านที่ไม่เดือดร้อนจริงๆ ได้ของด้วย

 

          “ช่วงนี้ก็เดือดร้อนกันแทบทุกบ้านแหละครับอาจารย์ ถ้าจะให้พวกผมเลือกให้แค่บางบ้าน กรรมการชุมชนโดนหาว่าเล่นพรรคเล่นพวกแน่” ประธานชุมชนตอบเป็นเสียงเดียวกัน ความจริงเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องที่ถกเถียงกันมาก ความช่วยเหลือควรให้เสมอกันทุกคนทั้งคนมีคนไม่มี ซึ่งจะใช้เงินมาก โดยแต่ละคนจะได้น้อยเพราะต้องเฉลี่ยกัน หรือควรให้เฉพาะคนที่เดือดร้อนจริงๆ ซึ่งจะช่วยคนที่เดือดร้อนได้มากหน่อย แต่ปัญหาคือใครจะตัดสินละว่าใครเป็นคนเดือดร้อน?

 

          ผมคิดว่าเรื่องนี้คงต้องผสมผสานกัน แต่จะผสมผสานกันยังไง ให้มีสิทธิได้ทุกบ้าน พร้อมกับมีของส่วนกลางเหลือไว้แจกเพิ่มเติมให้บ้านที่ยากจนเดือดร้อนจริงๆ ได้ด้วย?

 

          แล้วผมก็คิดวิธีการดีๆ ออกมาได้วิธีหนึ่ง วิธีนี้ไม่ต้องระดมคนมาแพ็คของใส่ถุง ไม่ต้องหาถุง แล้วยังเป็นการทำให้ชุมชนเค้าเข้มแข็งมากขึ้นในดูแลช่วยเหลือกันอีกด้วย

 

 

          “ผมขอให้แต่ละบ้านมารับเองได้ไหมครับ” ผมเสนอประธานชุมชน “ทุกบ้านที่มารับได้หมด แต่บ้านไหนไม่มารับก็เป็นของส่วนกลาง ให้กรรมการชุมชนเอาไว้ช่วยคนที่ยากจน ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัยที่ไม่มีคนดูแล อย่างนี้ดีไหมครับ”

          “วิธีนี้ก็ดีนะครับอาจารย์ ..” ประธานชุมชนคนหนึ่งตอบ “เพราะปกติถ้ามีของไปแจก มักจะมีบางบ้านเค้าไม่มารับ ก็จะได้เป็นของเอาไว้ช่วยคนที่ยากจนจริงๆ ได้อีก”

          ประธานชุมชนคนอื่นก็สนับสนุน “ดีครับอาจารย์จะได้เอาไปช่วยผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้สูงวัยเพิ่มเติมได้อีก”

          “ถ้างั้นก็เอาแบบนี้นะครับ เรื่องวิธีมาเบิกให้แต่ละชุมชนไปดำเนินการกันเองนะครับ” ผมสรุปพร้อมกับขยายความต่อ “วิธีนี้เราเรียกว่า ธนาคารอาหารเพื่อชุมชน” ความจริงคำนี้ผมไม่ได้คิดเองหรอกครับ แต่จำไม่ได้แล้วว่าอ่านเจอมาจากไหน “ที่เรียกว่า ธนาคารอาหารคือ ทุกบ้านมีสิทธิมาเบิกอาหารจากธนาคาร ไม่ต้องเข้าคิวแย่งกัน ใครไม่มาเบิกก็ถือว่าเป็นของส่วนกลาง ถ้ามีอาหารมาเพิ่มก็เอามาเติมที่ธนาคารนี่” ประธานชุมชนพยักหน้าเห็นด้วย ผมจึงเติมแนวคิดผมเข้าไปอีกหน่อย “เราอาจจะขอบ้านที่ไม่เดือดร้อนได้ด้วยว่าให้บริจาคส่วนของบ้านตัวเองให้ไปช่วยบ้านที่เดือดร้อนกว่าได้อีกด้วย ดีไหมครับ”

          “ดีครับอาจารย์” ประธานชุมชนคนหนึ่งตอบรับอย่างกระตือรือล้น “ก็พวกเราที่เป็นกรรมการชุมชนนี่แหละที่ไม่ต้องรับ เราจะได้มีของส่วนกลางไว้ช่วยคนเดือดร้อนมากๆ ได้อีก!”

 

          ผมฟังแล้วดีใจมาก กรรมการชุมชนเค้าพูดแบบนี้ ถือว่าสำเร็จไปครึ่งหนึ่งแล้วครับ ทีนี้ก็มาถึงเรื่องงบประมาณ เพื่อนๆ ธรรมศาสตร์ รุ่น 2529 ซึ่งเป็นรุ่นแรกที่ต้องมาเรียนที่รังสิต ได้เคยจัดงานมีเงินเหลือประมาณ 300,000 บาท แล้วเคยแจ้งผมว่าจะขอบริจาคให้มหาวิทยาลัยในเรื่องสิ่งแวดล้อม ผมจึงปรึกษากับเพื่อนๆ ที่เป็นตัวแทนรุ่นว่า อยากขอเงินรุ่นเอามาทำ #โครงการธนาคารอาหารเพื่อชุมชนรอบมหาวิทยาลัย เพราะเป็นเรื่องเร่งด่วน วิธีการโน้มน้าวของผมก็ง่ายมากครับ ผมบอกเพื่อนว่า ต้องใช้เงินประมาณ 250,000 บาท แต่ผมจะขอเงินรุ่นเพียง 200,000 บาท แล้วอีก 50,000 บาท เอาจากไหนล่ะ เพื่อนถาม ผมตอบเพื่อนว่าอีก 50,000 บาท ผมออกเอง ก็เอาเงินเดือนรองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตนี่แหละมาบริจาค

 

          แล้ววิธีนี้ก็ได้ผลครับ เพื่อนๆ มีมติเอกฉันท์ให้เอาเงินรุ่น 200,000 บาทมาช่วยโครงการธนาคารอาหารเพื่อชุมชน แล้วจริงๆ ก็เหลือจำนวนเงินที่ต้องใช้เงินรุ่นแค่ 185,00 บาทด้วย เพราะผมได้ขอตลาดไทให้ช่วยจัดหาของให้ในราคาถูก ทางตลาดไทก็ตอบรับทันทีพร้อมกับมาจัดส่งให้โดยไม่คิดค่าส่งด้วย ข้าวสารก็ได้ของคุณภาพดีราคาพิเศษเพราะได้รุ่นพี่มาช่วยด้วย ทำให้งบประมาณจาก 250,000 บาท เหลือ 235,000 บาท

 

          วิธีที่เราออกเงินก่อนเลยที่ได้ผล เพราะเราจะชวนใครให้มาทำอะไร เรานั่นแหละต้องลงมือทำก่อนครับ แล้วเราถึงจะชวนเค้าได้อย่างเต็มปากเต็มคำ แล้วคนเค้าก็จะมาช่วยเราครับ

 

          และข้าวสารอาหารแห้งทั้งหมด 1,000 ชุด ประกอบด้วยข้าวสาร 5 กิโลกรัม น้ำมันพืช 2 ขวด ปลากระป๋อง 3 กระป๋อง และมาม่า 5 ห่อ ก็ไปถึงชุมชนเรียบร้อยแล้วครับ โดยมีขนุน 20 ลูกจากโครงการ Food for Fighters ที่ส่งปิ่นโตให้โรงพยาบาลสนามไปสมทบด้วย หลายชุมชนก็ยังมีของอื่นๆ ที่ออกเงินโดยชุมชน เช่น ไข่ไก่ หัวหอม น้ำดื่ม มาเสริมอีกด้วยครับ

 

 

          ผมขอบคุณเพื่อนๆ ธรรมศาสตร์รังสิตรุ่น 2529 ทุกคน ขอบคุณทางตลาดไท ขอบคุณพี่เต้ แห่ง Food for Fighters ขอบคุณทีม รปภ. ของมหาวิทยาลัยที่ไปช่วยขนของลงให้ชุมชน และขอบคุณกรรมการชุมชนทุกทุกชุมชน ตลอดจนทุกๆ ท่านที่ช่วยกันทำให้ #ธนาคารอาหารเพื่อช่วยเหลือชุมชนรอบมหาวิทยาลัย ของธรรมศาสตร์สำเร็จขึ้นมาได้ครับ

 

          สำหรับความช่วยเหลือครั้งต่อไปในแบบที่จะยั่งยืนยิ่งกว่านี้ ผมจะได้เชิญประธานชุมชนมาหารืออีกครั้ง โดยในครั้งหน้าจะขยายไปถึงชุมชนอื่นๆ ที่ห่างออกไปอีกหน่อยด้วยครับ

 

CR : Facebook “Prinya Thaewanarumitkul”
https://facebook.com/prinya.thaewanarumitkul