จับตา ! สารพิษ ‘พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส’ คืนชีพ อ้าง ‘โควิด-19’ เลื่อนการแบน !

จับตา ! สารพิษ พาราควอต-คลอร์ไพริฟอสคืนชีพ อ้าง โควิด-19’ เลื่อนการแบน !

 

         “Thai-PAN” เปิดข้อมูลหนังสือร้อง “ก.อุตสาหกรรม” อ้างผลกระทบ “โควิด-19” ขอเลื่อนการแบนสารพิษ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” จาก 1 มิ.ย.63 เป็น สิ้นปี 63 จับตา การประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” 30 เม.ย.นี้ “สารพิษ” คืนชีพหรือไม่

 

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เพจ “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)” ได้เผยแพร่ข้อมูลและรูปภาพ ระบุว่า มีความพยายามขอเลื่อนการแบนสารพิษ “พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส” โดยอ้างผลกระทบจาก “โควิด-19” ซึ่งอาจมีการนำมาพิจารณาในการประชุม “คณะกรรมการวัตถุอันตราย” ในวันที่ 30 เม.ย.63 โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

 

 

 

         “ในขณะทั่วโลกทยอยแบน พาราควอต แล้ว 59 ประเทศ และอียูประกาศแบน คลอร์ไพริฟอส อย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่ 1 กุมภาพันธ์ 2563 เป็นต้นมา แต่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กลับกลืนน้ำลายตนเอง ที่แถลงสนับสนุนการแบน 3 สารพิษเมื่อปลายปีที่ผ่านมา เสนอให้เลื่อนการแบน พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ออกไปเป็นสิ้นปี 2563 แทน

 

ทั้งนี้ จดหมายของ นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ซึ่งทำหนังสือลงวันที่ 20 เมษายน 2563 ถึง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อ้างเหตุผลว่า

 

“จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างกับภาคธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจของประเทศ และความมั่นคงทางอาหารของโลก (Food Security) เนื่องจากสารดังกล่าวใช้ในการเพาะปลูกพืชที่เป็นวัตถุดิบ สำหรับการแปรรูปทั้งอาหารคนและอาหารสัตว์ อาทิ ถั่วเหลือง ข้าวสาลีและแป้งข้าวสาลี กาแฟ โกโก้”

 

และ

 

“หากไม่ได้รับการพิจารณาขยายระยะเวลาการบังคับใช้ อาจส่งผลกระทบต่อการนำสินค้าขาเข้าจากต่างประเทศ ที่ต้องมีค่ากำหนดสารตกค้างจากสารเคมีดังกล่าวเป็นศูนย์  (Zero Tolerance) จนทำให้ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต และเกิดวิกฤตขาดแคลนอาหารทั้งในประเทศ และเพื่อการส่งออก อันจะยิ่งซ้ำเติม ระบบเศรษฐกิจไทยและมีผลต่อการดำรงชีวิตของประชาชนในช่วงวิกฤตนี้”

 

การอ้างน้ำขุ่น ๆ ดังกล่าว ขัดแย้งกับจดหมายของ นายกลินท์ ที่ยืนยันให้มีการแบนทั้ง พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และ ไกลโฟเซต เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งในครั้งนั้น นายกลินท์ เพียงแต่ขอให้รัฐบาลผ่อนปรนในการอนุญาตให้มีการนำเข้าวัตถุดิบ โดยอนุญาตให้มี ไกลโฟเซต ตกค้างตามมาตรฐานของ CODEX เท่านั้น

 

ข้ออ้างเรื่องการแบน พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส แล้วจะส่งผลกระทบต่อการนำเข้าวัตถุดิบ ของ นายกลินท์ ฟังไม่ขึ้น เนื่องจากหลายประเทศทั่วโลก แบน พาราควอต มากว่าทศวรรษ และ อียู ประกาศแบน คลอร์ไพริฟอส ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยไม่มีประเทศใดอ้างปัญหาการตกค้าง จนส่งผลกระทบต่อการผลิต/อุตสาหกรรมใด ๆ เลย แม้กระทั่งจดหมายของสหรัฐเมื่อปลายปีที่แล้ว ที่ส่งมายัง นายสุริยะ คัดค้านการแบน ไกลโฟเซต แต่ก็ไม่ได้คัดค้านการแบน และอ้างการตกค้างของ พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส แต่ประการใด

 

น่าติดตามว่า นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ในฐานะประธานคณะกรรมการวัตถุอันตราย จะมีบทบาทอย่างไร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ ได้แสดงบทบาทหัวหอก รับลูกข้อเสนอของสหรัฐอเมริกา และบริษัทค้าสารพิษ ดำเนินการให้มีการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย กลับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ยกเลิกการแบน ไกลโฟเซต และเลื่อนการแบน พาราควอต และ คลอร์ไพริฟอส ซึ่งเดิมกำหนดให้มีผลในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 เป็นวันที่ 1 มิถุนายน 2563 แทน

 

อนึ่ง มีความเป็นไปได้ว่า ในการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ 30 เมษายนนี้ คณะกรรมการวัตถุอันตราย อาจพิจารณากดดัน ให้กรมวิชาการเกษตร ที่มี นางมนัญญา ไทยเศรษฐ์ เป็นผู้กำกับดูแล ผลักดันให้มีการตั้งอนุกรรมการ เพื่อเปิดทางอนุญาตให้มีการนำเข้าสารพิษทั้ง 3 ชนิดได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เข้ามาในประเทศอีกครั้ง หลังจากนางมนัญญาได้มีคำสั่งยกเลิกการนำเข้ามาตั้งแต่กลางปี 2562 ที่ผ่านมา

 

ในขณะที่โลกกำลังต่อต้านสารพิษที่มีฤทธิ์เฉียบพลันสูง และก่อโรคพาร์กินสันอย่าง พาราควอต และสารพิษที่มีผลกระทบทำลายสมองเด็กโดยถาวรอย่าง คลอร์ไพริฟอส

 

ในขณะที่ประเทศกำลังเผชิญวิกฤตจากไวรัสระบาด ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพและเศรษฐกิจ

 

ในขณะที่คนจำนวนมาก เห็นว่า หลังวิกฤตโควิด-19 ประเทศต้องทบทวนการผลิตพืชอุตสาหกรรมเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมีร้ายแรง มาเป็นเกษตรกรรมผสมผสาน ลดการใช้สารเคมี และลดต้นทุนการผลิต ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารมากยิ่งขึ้น

 

แต่กลุ่มอุตสาหกรรม บริษัทสารพิษ และนักการเมืองบางคนบางกลุ่ม กำลังสมคบคิดกันยืดเวลาการแบนสารพิษร้ายแรงออกไป ซ้ำเติมปัญหาสุขภาพของประชาชนให้เลวร้ายลงไปอีก หรือไม่ ?

 

โปรดจับตาการประชุม คณะกรรมการวัตถุอันตราย วันที่ 30 เมษายน นี้ !”

 



 

 

//...............

                CR : “เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN)

                https://www.facebook.com/ThaiPesticideAlertNetwork/

//...............