‘เกาะกูด’ : ‘อันดามันแห่งทะเลตะวันออก’

เกาะกูด’ : ‘อันดามันแห่งทะเลตะวันออก

 

            ช่วงเวลาการมาเยือนของ “โควิด-19” ยาวนานพอสมควร

 

และเพราะความยาวนานที่ว่านี้ ก็ทำให้หลาย ๆ คนอดบอกกับตัวเองซ้ำ ๆ ไม่ได้ว่า ฮึ่ม ! รอก่อนเถอะ “โควิด-19 จากไปเมื่อไหร่ เราจะออกเดินทางเพื่อท่องเที่ยวกันอีกครั้งอย่างแน่นอน

               

นี่เพราะการมาเยือนของ “โควิด-19ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักไปเสียหมด

               

เราต้องเว้นระยะห่างต่อกัน

         เราต้องมีมาตรการป้องกัน ทั้งต่อตัวเราเอง ต่อเพื่อนร่วมทาง และต่อคนที่เรารักทั้งหลาย

 

         ก็จนกว่า “โควิด-19จะเดินทางจากเราไปอย่างแท้จริงนั่นแหละ

 

         ระหว่างนี้ ที่เราทำได้ก็คือ การทบทวน “อดีต” และ “ความทรงจำ” อันงดงาม จากการเดินทางท่องเที่ยวในสถานที่ต่าง ๆ ที่ผ่านมา

 

         เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับ “การเดินทาง” และ “การท่องเที่ยว” ครั้งใหม่ ที่จะมาถึงในเร็ว ๆ นี้

 


น้ำทะเลใสๆ ที่ “เกาะกูด”

 

         เราไม่แปลกใจมากนัก ที่นึกถึง “ทะเล” และ “ภูเขา” เป็นสถานที่แรก ๆ ในช่วงเวลาของการเก็บตัวอยู่กับที่ โดยไม่ได้เดินทางไปไหนต่อไหน

 

         เรานึกถึงการไป “ติดเกาะ” ที่ไหนสักที่หนึ่ง

 

         แน่นอน นอกจาก “เกาะภูเก็ต” แล้ว เรายังนึกถึง “เกาะกูด”

 

         เพราะถ้า “ไข่มุกอันดามัน” คือฉายานามเลื่องชื่อ ของ “เกาะภูเก็ต” แหล่งท่องเที่ยวที่ติดอันดับโลก “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก” ก็คือฉายานาม ของ “เกาะกูด” ซึ่งตั้งอยู่ในทะเลฝั่งอ่าวไทย

 

         ประสบการณ์งดงามในครั้งไปเยือน “ภูเก็ต” นั่นทำให้เราไม่ลังเล ที่จะตอบรับคำชวนเพื่อไป “เกาะกูด”

 

         ในครั้งนั้น เรากางแผนที่ประเทศไทย ค้นหาเส้นทางไปยังจุดหมายใหม่นี้ จึงรู้ว่า “เกาะกูด” เป็นส่วนหนึ่งของ “จ.ตราด” เกาะใหญ่อันดับ 4 รองจาก เกาะภูเก็ต เกาะสมุย และเกาะช้าง อีกเกาะใหญ่ ของ จ.ตราด

 

         เราออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เช้าตรู่  มุ่งหน้าสู่ “แหลมงอบ” จ.ตราด เพื่อลงเรือไปยัง “เกาะกูด”

 

         ร่วม 2 ชั่วโมง ที่ “เรือเร็ว” ฝ่าคลื่นทะเลอ่าวไทย ก่อนส่งเราขึ้นที่ “ท่าเรือคลองหินดำ” จากนั้น รถกระบะที่ถูกดัดแปลงเพื่อรับ-ส่งนักท่องเที่ยวบนเกาะ ก็พาเราไปส่งยัง “คลองเจ้าซีวิว” ที่พักซึ่งถูกจองไว้ล่วงหน้า

 


เรือนไม้กลางสวนแก้ว

 

         เราเกือบเปลี่ยนใจก่อนเดินทาง เมื่อรู้ข้อมูลคร่าว ๆ ว่า “ค่าที่พัก” บน เกาะกูดราคาสูงมาก เพราะรีสอร์ทส่วนใหญ่ มีเจ้าของเป็นนายทุน สร้างไว้ต้อนรับแขกชาวต่างชาติ หรือแขกคนไทยกระเป๋าหนัก

 

         หากแต่ “เกาะกูด” ก็ยังมี ที่พักทางเลือก ซึ่งมีเจ้าของเป็นคนในพื้นที่ ราคาถูกและบริการเป็นกันเอง

         “คลองเจ้าซีวิว” จึงเป็นตัวเลือกที่เราพอใจ ในราคา 400 บาท/คืน/หลัง พร้อมอาหารเช้าอีกด้วย

 

เราสำรวจห้องพักอย่างพอใจ เพราะ “เรือนไม้” หลังเล็ก ๆ มีห้องน้ำในตัว ตั้งอยู่กลางสวนดอกแก้ว ปูฟูกสำหรับนอนได้ 2 คน มีระเบียงที่ผูกเปลไว้ให้นอนเล่นได้ทั้งวัน แถมด้วยซุ้มกาแฟบริการตัวเองเติมได้ตลอด

 

สายตาที่มองลอดสวนมะพร้าว สะท้อนภาพคลื่นซัดสาดหาดทรายสีขาว ของ “หาดคลองเจ้า” อยู่ลิบ ๆ

 

เจ้าของที่พัก มาสอบถาม “อาหารเช้า” ในวันพรุ่งว่า จะรับ “ข้าวผัด” หรือ “อาหารเช้าแบบอเมริกัน”

เรามองหน้ากันแล้วยิ้ม มากัน 2 คน ก็กินมันซะ 2 อย่างเลยแล้วกัน จะได้ชิมให้ครบเสียแต่วันแรก

 

หลังบทสนทนาเรื่องอาหารเช้า เราสอบถามราคา “มอเตอร์ไซค์” ที่รีสอร์ทมีไว้ให้เช่า ที่สุดก็ตกลงกันได้ที่ 250 บาท/วัน เติมน้ำมันไว้เต็มถัง ขากลับตอนส่งคืน ก็ให้เติมมาเต็มถังดังเดิม หรือใกล้เคียงก็เป็นอันใช้ได้

 

ของแถมที่เราได้มาพร้อม “มอเตอร์ไซค์” คือ “เจ้าถิ่น” น้องชายเจ้าของรีสอร์ท ที่อาสาพาเราไปยัง “น้ำตกคลองยายกี๋” ซึ่งอยู่ไม่ไกลออกไปนัก ที่สำคัญคือไม่ค่อยมีนักท่องเที่ยวมากนัก เพราะเป็นช่วงฤดูฝน

 


“เขาเรือรบ” ยิ่งใหญ่อลังการ

 

เราบึ่งมอเตอร์ไซค์ ลัดเลาะผ่านสวนมะพร้าว ก่อนจะแวะสักการะ “อนุสาวรีย์กรมหลวงชุมพรฯ” ซึ่งตั้งอยู่บริเวณที่เรียกว่า “เขาเรือรบ” ประติมากรรมที่สร้างความตื่นตาตื่นใจ ในความยิ่งใหญ่อลังการ

 

จาก “เขาเรือรบ” เราก็มุ่งหน้าสู่จุดหมาย “น้ำตกคลองยายกี๋” ลงแช่น้ำเย็นฉ่ำ พร้อมกับเพลิดเพลินไปกับเสียงหัวเราะของเหล่านักท่องเที่ยว ที่โดดลงเล่นน้ำกันอย่างสนุกสนาน

 


ชุ่มฉ่ำที่ “น้ำตกคลองยายกี๋”

 

กลับจาก “น้ำตกคลองยายกี๋” เราหมายใจว่า จะลงเล่นน้ำทะเล ให้หายคิดถึง

 

แต่ฟ้าฝนก็ดูจะไม่เป็นใจ เมื่อฝนเทลงมาเสียยกใหญ่ ทำเอาเราได้แต่นั่งทำตาปริบ ๆ มองสายฝนอยู่ในกระต๊อบ และฟังเสียงธรรมชาติร้องเพลง ให้เพลิดเพลินไปอีกแบบหนึ่ง

 


ข้าวผัดปูจานใหญ่แสนอร่อย

 

หลังฝนซาฟ้าก็เริ่มมืด พร้อม ๆ กับถึงเวลาอาหารเย็น มื้อค่ำวันนี้ มี “ข้าวผัดปูจานใหญ่” (มาก) และ

ตบท้ายด้วย “ผลไม้สด” จานใหญ่ ที่เจ้าของรีสอร์ทใจดีแถมให้  ทำเอาเราอิ่มหนำด้วยน้ำใจ และอาหารรสดี

 

เรากล่าวราตรีสวัสดิ์ พร้อมนัดหมายเวลาพบกันในวันรุ่งขึ้น เพื่อไปอีกหลายจุดหมายที่มุ่งมั่นจะไป

 

คืนนั้น “เรือนไม้” เล็ก ๆ บน “เกาะกูด” อบอุ่นเหลือเกิน

และนี่ก็ทำให้เราหลับไหลอย่างสนิทใจ ด้วยความรู้สึกเงียบสงบ ผ่อนคลาย และปลอดภัย

จนรุ่งเช้า เราก็พร้อมสำหรับ “เดินป่า” เพื่อชมความอุดมสมบูรณ์ ของเกาะสุดท้ายในน่านน้ำตราด

 

“ข้าวผัดแบบไทย” ดูจะเป็นอาหารเช้า ที่ให้พละกำลังเป็นอย่างดี สำหรับกิจกรรมท่องเที่ยวของวันนี้

 

“เจ้าถิ่น” พาเราลัดเลาะผ่านต้นไม้ใหญ่ ลำต้นขนาดหลายคนโอบ ที่มีเป็นจำนวนมาก จนเราอดทึ่งในความอุดมสมบูรณ์ของป่าบนเกาะกูดไม่ได้

 


ตะเคียนร้อยปีผูกผ้าหลากสี

 

แล้วเราก็มาถึงต้นไม้สำคัญที่ค้นหา นั่นก็คือ “ตะเคียนร้อยปี”

 

“ผ้าหลากสี” ที่ผูกอยู่รอบลำต้น บ่งบอกนัยหลายอย่าง และที่แน่ ๆ ก็คือไม้ต้นนี้ จะยังยืนต้นไปอีกนาน

 

นอกจาก “ตะเคียนร้อยปี” แล้ว ในป่าแห่งนี้ ยังมี “มะค่ายักษ์” ไม้มีค่าขนาดหลายคนโอบอีกด้วย

 

หลังจากเดินชมป่าจนเหนื่อยหอบแฮก ๆ และท้องเริ่มหิว เราจึงมุ่งหน้าสู่ “มื้อเที่ยง” ที่ “อ่าวสลัด”

               

“ชาวประมง” ที่ อ่าวสลัด ยังนำเรือออกทะเลอ่าวไทย เพื่อหากุ้ง หอย ปู ปลา เลี้ยงชีพเหมือนอดีต

 

เราเดินเลาะไปตามทางเล็ก ๆ ผ่านบ้านต่าง ๆ ที่เราได้เห็น คือ ภาพชีวิตอันงดงามของ วิถีชีวิต และ “คนทำมาหากิน”

 

แต่ที่เพิ่มมากขึ้น คือความคิดเพื่อก้าวไปให้ทันกับ “การท่องเที่ยว” ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 


หมู่บ้านชาวประมงอ่าวสลัด

 

และนี่จึงเป็นที่มาของ “โฮมสเตย์” ที่ “เกาะกูด” ซึ่งมีไว้ให้บริการนักท่องเที่ยว ที่อยากออกเรือพร้อมกับชาวประมง และกินอยู่แบบชาวประมง

 

แล้ว “ข้าวผัดปูจานใหญ่” (อีกแล้ว) ก็มาเสริฟพร้อม “ต้มยำกุ้ง” ที่เอร็ดอร่อยจนอิ่มหนำสำราญใจ

 

จากนั้น ก็ต่อด้วยบทสนทนายาวนาน จากเที่ยงถึงบ่าย พร้อมคำชักชวนให้ค้างอีกคืน เพื่อออกเรือไปเพิ่มประสบการณ์แปลกใหม่ ให้กับชีวิตคนเมืองอย่างเรา

 

เสียดาย ที่เวลามีมามากนัก และนั่นก็ทำให้เราต้องโบกมืออำลา “ชุมชนอ่าวสลัด”

 

ก่อนจะเดินทางต่อไปยัง “หมู่บ้านคลองมาด” ชุมชนใหญ่และเก่าแก่ที่สุดของ เกาะกูด ซึ่งชาวบ้านส่วนหนึ่งที่นี่ยังยึดอาชีพชาวประมง ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเลือกที่จะปลูกมะพร้าว และยางพารา

 

แดดร้อนจัด เรานั่งพักหลบแดด ที่ศาลาริมทะเลของหมู่บ้าน มองแสงอาทิตย์กระทบน้ำส่องประกายระยิบระยับ เป็นอีกครั้งที่เรารู้สึกว่า ธรรมชาติมีมุมที่งดงามเสมอ หากเราเลือกมองมุมที่งดงามนั้น...

 

เราเดินทางกลับสู่ “คลองเจ้าซีวิว” วันนี้ บรรยากาศดีไม่มีฝน และทะเลก็เป็นของเราอย่างแท้จริง

 


 

“หาดคลองเจ้า” หาดทรายสีขาว ทอดตัวยาวรับคลื่นที่ซัดสาดอยู่ไม่ขาดสาย ชักชวนให้เราลงไปล้อเล่นกับพรายฟองสีขาว ที่แตกตัวกระจายเป็นอณูละเอียด

 

นี่เป็นคำเชิญชวนที่ไม่อาจปฏิเสธ และเราก็ไม่คิดจะปฏิเสธ ที่จะใช้เวลาตลอดช่วงบ่ายจนถึงเย็น

               

วันรุ่งขึ้น เราเก็บของเพื่อเดินทางกลับ และก็อดไม่ได้เมื่อต้องเอ่ยคำอำลา โดยให้คำสัญญาว่า เราจะกลับมาอีกครั้งเมื่อมีโอกาส พร้อมกับแอบหวังอยู่ลึก ๆ ว่า ครั้งหน้าเมื่อมาเยือน จะยังคงภาพเช่นนี้อยู่

 

“เกาะกูด” ไม่ใช่แค่แหล่งท่องเที่ยวราคาสูงลิบลิ่ว อย่างที่ใครหลายคนคิด

หากแต่ “เกาะกูด” ยังอุดมสมบูรณ์ด้วยธรรมชาติ ที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว และพึ่งพิงกันอย่างสมดุล

 

และ “อันดามันแห่งทะเลตะวันออก” ก็ไม่ได้มีเพียงหาดทรายขาว และน้ำทะเลสีเขียวตัดกับสีท้องฟ้า

 

หากแต่ยังมีความง่ายและงาม ของรอยยิ้มกับน้ำใจไมตรี และวิถีชีวิตของผู้คน ที่เป็นอยู่และเป็นไป

 

ขอบคุณ รอยยิ้ม แห่ง “เกาะกูด” ขอบคุณพลังอันงดงามแห่งชีวิต ที่มีให้กับชีวิตอันงดงาม...

 

 

//............................

หมายเหตุ : เกาะกูด’ : ‘อันดามันแห่งทะเลตะวันออก : คอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย จตุระคน” (ออนอาร์ต) : บางกอกไลฟ์นิวส์

//........................