ทำแบบทดสอบ ก่อนไปตรวจด้วยชุดตรวจ Chula COVID-19 strip test

จุฬาฯ พัฒนา Chula COVID-19 Strip Test ชุดตรวจผลเลือดเพื่อคัดกรองเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ COVID-19  หรือไม่ ด้วยวิธีที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว พร้อมให้บริการแก่ประชาชนตั้งแต่วันที่ 30 มีนาคม 2563 ที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ซึ่งจะเป็นศูนย์รับมือและวินิจฉัย COVID-19 อย่างรวดเร็วและเข้าถึงได้ง่าย เพียงทำแบบทดสอบ เพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนไปตรวจ

 

          ศ.นพ.ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาฯ ประธานคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินไวรัสโคโรนา 2019 เปิดเผยว่า Chula COVID-19 Strip Test ใช้วิธีทดสอบด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว จึงทำให้ในการตรวจวินิจฉัยมีความปลอดภัย ไม่ต้องใกล้ชิดกับสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ อย่างไรก็ตาม Chula COVID-19 Strip Test ไม่ได้นำมาทดแทนการตรวจเชื้อ COVID-19 ด้วยวิธีมาตรฐาน แต่หวังว่าชุดทดสอบนี้จะช่วยแบ่งเบาจำนวนคนไข้ที่ต้องมารับบริการตรวจที่โรงพยาบาลจำนวนมาก ถ้ามีผลเลือดเป็น Negative  และไม่มีความเสี่ยง ก็จะได้รับคำแนะนำในการปฏิบัติตนที่ถูกต้อง โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจที่โรงพยาบาล

 

 

          Chula COVID-19 strip test คืออะไร

          Chula COVID-19 strip test เป็นการทดสอบที่อาศัยหลักการทางภูมิคุ้มกันร่างกาย (Serology test) ซึ่งเป็นการตรวจหาแอนติบอดี (IgG & IgM) ในเลือด ซีรัม หรือพลาสมา โดยใช้ชุดตรวจวินิจฉัยโรคอย่างรวดเร็ว (Rapid diagnostic test kit)

 

          Chula COVID-19 strip test ดีอย่างไร

          สามารถตรวจได้ด้วยวิธีการเจาะเลือดโดยใช้ Chula COVID-19 strip test

          ความแม่นยำของผลมากถึง 80-95% ทั้งนี้ขึ้นกับเวลาที่ตรวจหลังได้รับเชื้อ

          ใช้เวลาเพียง 10-15 นาที ในการตรวจวินิจฉัยตัวอย่าง เพื่อคัดกรองเบื้องต้นได้อย่างรวดเร็ว

          ราคาไม่แพง

          ตรวจได้ที่จุดให้บริการผู้ป่วยเลย

 

          ข้อจำกัดของหลักการ Serology test

          - บางกรณีมีการเกิดปฏิกิริยาข้ามกัน (Cross reaction) เกิดจากแอนติบอดีไปทำปฏิกิริยากับแอนติเจนของไวรัสชนิดอื่นที่มีลักษณะคล้ายกับแอนติเจนของเชื้อไวรัสโคโรน่า ส่งผลให้ผลตรวจเป็น Detectable หรือ ผลเป็นบวก (ตรวจพบเชื้อ) ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นไวรัสชนิดอื่น

          - หากทำการตรวจในช่วงแรกๆ ของการติดเชื้อ ร่างกายอาจยังไม่สร้างแอนติบอดี ทำให้ผลตรวจออกมาเป็น Undetectable หรือ ผลเป็นลบ (ไม่ตรวจพบเชื้อ) ก็เป็นได้

 

 

          หากท่านใดสนใจเข้ารับการตรวจ กรุณาทำแบบคัดกรองตามแบบฟอร์มที่ลิงก์ด้านล่างนี้ เพื่อคัดกรองความเสี่ยงในการติดเชื้อ เมื่อท่านกรอกเสร็จแล้ว ระบบจะทำการส่งข้อมูลขั้นตอนการรับบริการให้ท่านต่อไป

 

          ทำแบบทดสอบ คลิก http://covid19.thaitechstartup.org

 

          ทั้งนี้ ผู้มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ หากมีความเสี่ยงมากหรือปานกลาง จะได้รับการแจ้งนัดหมายให้ไปรับบริการที่ศูนย์บริการสุขภาพแห่งจุฬาฯ ซึ่งจะมีการจัดลำดับการให้บริการและวิธีเข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการสุขภาพฯ อย่างปลอดภัยตามมาตรการ Social Distancing รวมทั้งมีระบบรองรับในการให้คำปรึกษา ในกรณีที่มีผลการตรวจเลือดเป็น Positive  (ติดเชื้อ) ก็จะมีช่องทางที่รวดเร็วในการส่งไปตรวจเพิ่มเติมเพื่อยืนยันอีกครั้งที่โรงพยาบาลต่อไป

 

CR : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
https://www.chula.ac.th