เปิดคำประกาศเกียรติคุณ “ประวัติ 12 ศิลปินแห่งชาติ 2562”

          

กระทรวงวัฒนธรรม แถลงผลการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ 2562 สาขาทัศนศิลป์ สาขาวรรณศิลป์ และสาขาศิลปะการแสดง รวม 12 คน เตรียมจัดงานเชิดชูเกียรติเนื่องใน “วันศิลปินแห่งชาติ” 24 กุมภาพันธ์ 2563

 

 

 

  

          คำประกาศเกียรติคุณ นายอนันต์ ปาณินท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม)

          นายอนันต์ ปาณินท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2481 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 82 ปี   พ.ศ. 2501 รับประกาศนียบัตร โรงเรียนศิลปศึกษา (เตรียมมหาวิทยาลัยศิลปากร) ปัจจุบัน คือวิทยาลัยช่างศิลป  ต่อมา พ.ศ.2505 สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี ศิลปบัณฑิต (จิตรกรรม) คณะจิตรกรรม และประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้การอำนวยการสอนของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (Mr. Corrado Feroci) ขณะที่นายอนันต์ ปาณินท์ ศึกษาศิลปะและค้นคว้ากระบวนการและเทคนิคการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมอยู่นั้น ได้เริ่มส่งงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ และประสบความสำเร็จ ผลงานศิลปะได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 2 เหรียญเงิน (จิตรกรรม) ในปีแรกที่ส่ง พ.ศ. 2503 และรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญทองแดง อีกสองครั้งใน พ.ศ. 2504 และ พ.ศ. 2505 พลังใจและปณิธานการเป็นศิลปินผู้สร้างงานศิลปะเพื่อศิลปะนั้นมั่นคง จึงได้สร้างงานศิลปะต่อเนื่องก่อนเดินทางไปศึกษาต่อที่สถาบัน S.W. Hayter Paris ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นได้รับทุนวิจัยทางศิลปะโครงการระหว่างชาติ ปฏิบัติงานสร้างสรรค์ศิลปะวิเคราะห์วิจัย แลกเปลี่ยนแนวคิดและปรัชญาเกี่ยวกับคุณค่าและคุณภาพแห่งศิลปะ เป็นเวลา 2 ปี ณ Cite Internationale des Arts, Paris  

          นายอนันต์ ปาณินท์ เป็นศิลปินที่มีชื่อเสียงสร้างสรรค์ศิลปะจิตรกรรมร่วมสมัย ซึ่งมีรูปแบบลักษณะพิเศษเฉพาะตน ตลอดช่วงเวลาหกทศวรรษที่ผ่านไป เริ่มต้นจากมิติมุมมองแบบเหมือนจริงตามธรรมชาติ ผ่านความรู้สึกความงามความสะเทือนใจในอารมณ์ เริ่มเปลี่ยนแปลงสู่รูปแบบกึ่งนามธรรม ที่สื่อสารจินตนาการผ่านนามธรรม และสรีระรูปทรงของมนุษย์ จากนั้นได้ก้าวข้ามสู่ช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปวัตถุสิ่งของเครื่องใช้วิถีวัฒนธรรมไทย ให้เป็นจินตภาพความงามในความรู้สึกอารมณ์อ่อนโยนระหว่างมนุษย์และธรรมชาติ และด้วยพลังสร้างสรรค์ที่      ไม่หยุดนิ่ง ผลงานของเขาได้พัฒนาปรับเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ซับซ้อนแต่เรียบง่าย ในมิติแห่งสัจธรรมของธรรมชาติและจิตวิญญาณความศรัทธาของมวลมนุษย์ปรากฏรูปสัญญะจิตรกรรม ด้วยลีลาเทคนิคสีน้ำมันบางเบาปาดป้ายและเช็ดออกให้เกิดสีอ่อนสะอาดในโทนสีที่เร้าอารมณ์สนองความงามจิตรกรรมร่วมสมัยอย่างลึกซึ้ง ละเมียดละไมด้วยสรรพสาระ แนวคิดเชิงฝันเชิงปรัชญาส่องสะท้อนรากแก้วศิลปะไทย บทบันทึกของศิลปินตอนหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า “งานแสดงจิตรกรรม ไม่ได้เป็นการบรรยายสิ่งที่มองเห็น ไม่ได้บันทึกความทรงจำ แต่เป็นการแสดงความรู้สึกนึกคิดจินตนาการที่ไม่มีขอบเขตจำกัด ด้วยเหตุผลและภูมิปัญญาของมนุษย์ การเดินทางทำให้เราตัวเล็กลง เป็นเพียง       ส่วนหนึ่งของสรรพชีวิตทั้งหลาย เป็นเพียงส่วนหนึ่ง ของผืนผ้าที่ถักทอด้วยสายใยแห่งชีวิต...”

          ด้านการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการศึกษาศิลปะ นายอนันต์ ปาณินท์ เป็นอาจารย์พิเศษ วิทยากร รวมถึงเป็นกรรมการคัดเลือกและตัดสินให้กับสถาบันการศึกษาศิลปะทั้งของรัฐและเอกชน และเป็นผู้ร่วมจัดทำสารานุกรมไทย เรื่อง จิตรกรรมไทย ในพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร

          นายอนันต์ ปาณินท์  จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายสิงห์คม บริสุทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย)

          นายสิงห์คม บริสุทธิ์ เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2496 ที่จังหวัดกาญจนบุรี ปัจจุบันอายุ 67 ปี  ภายหลังจบการศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าศึกษาสาขาวิชาการถ่ายภาพที่ตัวเองรักและใฝ่ฝันมาตั้งแต่เยาว์วัย ในปี พ.ศ. 2514 จึงเลือกเข้าศึกษาการถ่ายภาพที่วิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ โดยสำเร็จได้รับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ป.ว.ช.) แผนกช่างภาพ ความมุ่งมั่นและศรัทธาในงานถ่ายภาพผลักดันให้นายสิงห์คมเข้ารับราชการในตำแหน่งช่างภาพของกรมศิลปากร ทำหน้าที่ถ่ายภาพโบราณสถานและโบราณวัตถุอันล้ำค่าของประเทศให้กับหน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการภาพถ่ายโบราณสถาน โบราณวัตถุ และภาพอื่นๆ

          ความสามารถของนายสิงห์คม บริสุทธิ์ เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางทั้งในหมู่สาธารณชนที่ได้เห็นผลงานและผู้คร่ำหวอดในวงการศิลปะของประเทศไทย เพราะผลงานภาพถ่ายของนายสิงห์คมมีคุณลักษณะพิเศษอันเกิดจากการบันทึกและสะท้อนความงามจากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีความถูกต้อง ชัดเจน เสมือนภาพถ่ายที่มีชีวิต ที่สามารถถ่ายทอดให้เหมือนของจริง เพื่อต้องการแสดงให้เห็นถึงคุณค่าแห่งศิลปวัฒนธรรมประจำชาติอันงดงาม ผสมผสานกับมุมมองเฉพาะตัว การจัดการมิติและบรรยากาศของแสงและเงาด้วยความละเอียดและความชำนาญ ตลอดจนจิตวิญญาณของศิลปินที่หวงแหนในมรดกศิลปวัฒนธรรมของชาติ ผลงานจึงสามารถถ่ายทอดอารมณ์ ความรู้สึกที่สอดคล้องกับเนื้อหาและบริบทที่สื่อถึงความหมาย และการสร้างคุณค่าสุนทรียะทางศิลปะ นายสิงห์คม บริสุทธิ์ เป็นผู้พลิกโฉมรูปแบบของการถ่ายภาพโบราณสถาน โบราณวัตถุ เพื่อเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ ส่งผลให้นักเรียน นักศึกษา ตลอดจนประชาชนเกิดความตื่นตัวและหันมาสนใจมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนเป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ที่จะพัฒนาเทคนิคการถ่ายภาพให้เข้ากับยุคสมัย เพื่อการพัฒนาผลงานภาพถ่ายที่มีคุณค่าทางศิลปวัฒนธรรมและงานโบราณคดี อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และการบันทึกภาพเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์และงานพระราชพิธีต่างๆ ของประเทศไทย เช่น การเฉลิมฉลองครบรอบ 200 ปีกรุงรัตนโกสินทร์ ตลอดจนบันทึกผลงานฝีพระหัตถ์อีกเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลเกียรติยศมากมาย

          ปัจจุบัน นายสิงห์คม บริสุทธิ์ เป็นช่างภาพอิสระที่ยังคงพัฒนาและสร้างสรรค์ผลงานภาพถ่ายอย่างต่อเนื่อง ด้วยประสบการณ์มุมมองผ่านเลนส์มากกว่า 35 ปี จึงได้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการและเป็นที่ปรึกษาในด้านการถ่ายภาพและการใช้ศิลปะภาพถ่ายของหน่วยงานภาครัฐ และองค์กรเอกชนหลายแห่ง อีกทั้งยังรับเชิญเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ทางด้านการถ่ายภาพให้กับนักศึกษาจากหลายสถาบัน และได้เป็นช่างภาพหลักในการบันทึกภาพผลงานฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยผลงานได้รับการเผยแพร่สู่สาธารณชนในสื่อต่างๆ มากมาย 

          นายสิงห์คม บริสุทธิ์  จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายชาตรี  ลดาลลิตสกุล ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม)

          นายชาตรี  ลดาลลิตสกุล เกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 62 ปี  พ.ศ. 2524 จบการศึกษาหลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 

          นายชาตรี  ลดาลลิตสกุล  ได้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ต้นศิลป์ สตูดิโอ จำกัด เมื่อ พ.ศ. 2534 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสถาปนิกจนถึงปัจจุบัน การสร้างสรรค์ผลงานของนายชาตรี มีแนวคิดหลัก คือการ  สืบสานภูมิปัญญาของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น และหลักสุนทรียศาสตร์แบบตะวันออก อันมีปรัชญาพุทธเป็นรากฐานในการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมร่วมสมัย โดยใช้ภาษาสถาปัตยกรรมที่ เรียบง่าย เลือกใช้วัสดุที่เป็นเนื้อแท้ เพื่อเชื่อมโยงใกล้ชิดกับความงามของธรรมชาติ ให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้อาคาร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในทุกด้าน โดยให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับพื้นที่สีเทา (GREY SPACE) ที่เชื่อมโยงภายในและภายนอก ที่เชื่อว่าพื้นที่ “นอกก็ไม่ใช่ในก็ไม่เชิง” อันเป็นหัวใจของคุณค่าและความงามของสถาปัตยกรรมพื้นถิ่นร่วมสมัย  มีผลงานการออกแบบงานสถาปัตยกรรมได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย อาทิ รางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่น “เหรียญทอง”  ได้รับพระราชทานจากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้แก่ กลุ่มอาคารร้านขนมเปี๊ยะ “ตั้ง เซ่ง จั้ว” พ.ศ.2547 และ “กลุ่มอาคารภูมิพลสังคีต (ฝั่งตะวันตก)” วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล  พ.ศ.2557 รางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น พ.ศ.2554 โดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ จากผลงาน“หอศิลป์ร่วมสมัย TAO HONG TAI d-kunst” และรางวัลอาคารประหยัดพลังงาน ระดับดีมากจากกระทรวงพลังงาน “อาคารอทิตยาทร” วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากนั้น ยังมีผลงานการออกแบบตกแต่งภายในให้แก่สถาบันการศึกษาและโรงพยาบาลหลายแห่ง เช่น โรงพยาบาลกรุงเทพ  ซอยศูนย์วิจัย, โรงพยาบาล B N H และโรงพยาบาลบางมด เป็นต้น อีกทั้งยังได้เผยแพร่ผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรมในงานนิทรรศการวิชาการ และวิชาชีพประจำปีของสมาคมสถาปนิกสยาม และเผยแพร่ในนิตยสารต่างๆ และสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องตลอดยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา โดยได้รับรางวัล “สถาปนิกดีเด่น” พ.ศ.2557 จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ปัจจุบันนอกจากการเป็นสถาปนิกแล้ว นายชาตรียังเป็นวิทยากรบรรยาย และอาจารย์พิเศษถ่ายทอดความรู้ให้แก่นิสิต นักศึกษาในสถาบันการศึกษาหลายแห่ง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และมหาวิทยาลัยรังสิต ตลอดจนใช้ความรู้ความสามารถในด้านสถาปัตยกรรมช่วยเหลืองานสาธารณประโยชน์ต่างๆ ได้แก่ การช่วยออกแบบงานอนุรักษ์อาคารเก่า โบสถ์ ศูนย์ฝึกอบรม และศูนย์ภูมิปัญญา

          นายชาตรี  ลดาลลิตสกุล  จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรม) พุทธศักราช 2562

 

 

 

  

          คำประกาศเกียรติคุณ นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น)                

          นายธีระพันธ์  วรรณรัตน์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 70 ปี เป็นบุตรของพลโทจวน และคุณหญิงเจ้าฉมชบา วรรณรัตน์ เริ่มต้นการศึกษาชั้นอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4  จากโรงเรียนราชินี จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงได้ติดตามบิดาซึ่งไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยทูตทหารเอก ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียน Seoul American Highschool และได้เดินทางกลับมายังประเทศไทย เข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ต่อมาได้ไปศึกษาต่อ  ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ระหว่างการศึกษาต่อ Highschool ที่รัฐเมน นักเรียนทุกคนได้ทำข้อสอบวัดแววอาชีพ  เพื่อแนะแนวทางสาขาอาชีพ สำหรับผลทดสอบของนายธีระพันธ์ออกมาเป็นช่างตัดเสื้อ หากแต่ในยุคสมัยนั้นการประกอบอาชีพช่างตัดเสื้อเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคงในความเห็นของผู้ปกครอง จึงเลือกศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีที่วิทยาลัยวูดเบอรี(Woodbury College, Los Angeles)  ประเทศสหรัฐอเมริกา

          ด้วยความหลงใหลในงานออกแบบแฟชั่นและมุ่งมั่นในการเป็นช่างตัดเย็บเสื้อผ้าตั้งแต่วัย 6 ขวบ โดยเริ่มจากการเป็นสไตลิสต์จำเป็นให้กับมารดา คุณหญิง เจ้าฉมชบา (ณ เชียงใหม่) วรรณรัตน์ ในการดูแลเสื้อผ้าและการแต่งกายสำหรับการออกงานเป็นประจำ ด้วยความชื่นชอบ ความถนัด อันเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเรียนรู้อยู่เสมอ จากการสังเกต จดจำ และเก็บรายละเอียดการแต่งกายตามประเพณีนิยมสากลที่มีความเรียบง่าย หรูหรา และถูกต้องตามกาลเทศะ จึงเป็นแรงบันดาลใจให้เลือกเรียนด้านการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าที่สถาบัน Jeoffrin Byrs และ Ecole Esmod Guerre-Lavigne กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส จากนั้นจึงได้กลับมา เมื่อปี พ.ศ. 2522 ถือเป็นจุดเริ่มต้นสู่วงการแฟชั่นในเมืองไทยตั้งแต่นั้น นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ ได้สร้างสรรค์ผลงานโดยนำเอาศิลปวัฒนธรรมประยุกต์แนวคิดการออกแบบผ้าไทยพระราชนิยม ผสานกับเทคนิคการออกแบบสมัยใหม่ โดยร่วมกับกลุ่มเกษตรกรผู้ทอผ้าไหมขิด รังสรรค์ผ้าไหมในคอลเลคชั่นพิเศษที่นำเสนอความคลาสสิกร่วมสมัยของผ้าไหมไทย และได้มีโอกาสในการออกแบบตัดเย็บเสื้อผ้าโดยใช้ผ้าในโครงการศิลปาชีพ ทั้งผ้าไหมแพรวา, ผ้าไหมพื้น, ผ้าไหมมัดหมี่ และผ้าทอชาวเขา นำขึ้นประมูลเพื่อหารายได้เข้าสมทบมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ด้วยการออกแบบและการสร้างสรรค์เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย จำเป็นอาศัยความเข้าใจในรูปร่างสรีระของร่างกายมนุษย์ รู้จักโครงสร้างแพทเทิร์นเสื้อผ้า และแนวโน้มทางแฟชั่นเป็นอย่างดี ซึ่งนายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ มีฝีมือที่โดดเด่นในการออกแบบเสื้อผ้าให้มีความงามสง่า เรียบโก้ ทรงคุณค่าเหนือกาลเวลา แต่ซ่อนรายละเอียดที่ประณีตงดงาม จากความรักและความหลงใหลแห่งแฟชั่น ประกอบกับการรู้จักธรรมเนียมการแต่งกายตามประเพณีนิยมสากลที่มีความเรียบง่าย โก้ หรู และถูกต้องตามกาลเทศะ ทำให้ผู้สร้างงานสร้างสรรค์ผลงานการแต่งกายภายใต้แนวคิดที่เป็นเอกลักษณ์ดังกล่าว จึงส่งผลให้ผลงานการออกแบบเสื้อผ้าชั้นสูงของ ธีระพันธ์ สามารถยืนหยัดในวงการแฟชั่นมาร่วม 4 ทศวรรษ จวบจนทุกวันนี้ 

          นายธีระพันธ์ วรรณรัตน์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การออกแบบแฟชั่น) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายเริงชัย ประภาษานนท์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 

          นายเริงชัย ประภาษานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2472 ที่อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ปัจจุบันอายุ 91 ปี ขณะศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนนันทนศึกษา เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2487 โรงเรียนปิดลง เริงชัยออกมาทำงานที่โรงไฟฟ้าสามเสน เมื่อโรงไฟฟ้าถูกระเบิดทำลาย ได้งานทำใหม่เป็นช่างเรียงพิมพ์ และเริ่มเขียนเรื่องสั้นเรื่องแรกชื่อ “พรหมบันดาล” ตีพิมพ์ในนิตยสาร “รัตนโกสินทร์” ใช้นามปากกา “สุริยา” ต่อมาเขียนนวนิยายแนวบู๊ใช้นามปากกา “เศก ดุสิต” เรื่อง “สี่คิงส์” และ “ครุฑดำ” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์อักษรสมิต ตามมาด้วยเรื่องในชุด “อินทรีแดง” จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์บรรลือสาส์น มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมจนต้องนำตัวละครจากทั้ง 2 เรื่อง คือ “คมน์ พยัคฆราช” และ “โรม ฤทธิไกร” มามีบทบาทร่วมกันในเรื่อง “จ้าวนักเลง” ต่อมาเรื่อง “พยัคฆ์ร้ายไทยถีบ” ตีพิมพ์ในนิตยสารอาทิตย์รายสัปดาห์ของสำนักพิมพ์อักษรโสภณ เริงชัยใช้นามปากกา เศก  ดุสิต, เกศ โกญจนาศ, ศิรษา, ดุสิตา, สุริยา และลุงเฉื่อย ในสมัยสื่อสิ่งพิมพ์       เฟื่องฟู ผลงานของเริงชัยเป็นที่ต้องการของหนังสือต่างๆ ในสัปดาห์หนึ่งจึงต้องเขียนนวนิยายส่งนิตยสารถึง 5 เล่ม ผลงานมีทั้งหมดกว่า 50 เล่ม ส่วนใหญ่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์และละครโทรทัศน์ เริงชัยได้รับรางวัลนราธิป จากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2552

          ผลงานชุด “อินทรีแดง” เป็นหมุดหมายของอาชญนิยายไทย เริงชัยสามารถสร้างตัวละคร “อินทรีแดง” ให้เป็นบุคคลในอุดมคติเชิงสัญลักษณ์ เพื่อเยียวยาจิตใจของผู้คนในสังคมให้มีพลังและแกร่งกล้า เพื่อต่อสู้กับอำนาจความชั่วร้าย อินทรีแดงเป็นวีรบุรุษในหัวใจนักอ่าน เป็นคนดี คนเก่งที่ช่วยแก้ปัญหา ไม่เพียงแต่ในสังคมเล็กๆ หรือชุมชน หากหมายรวมถึงปัญหาของบ้านเมืองด้วย เป็นตัวแทนของคนไทยในการปราบปรามความชั่วร้ายในสังคม ผลงานของเริงชัยมีพลังทางวรรณศิลป์ ผ่านโครงสร้างนวนิยายอันซับซ้อน และด้วยภาษาอันทรงประสิทธิภาพ  ผลงานจึงได้รับความนิยม และยืนยงข้ามกาลเวลา อยู่ในความทรงจำของนักอ่านมาทุกยุคทุกสมัย

          นายเริงชัย ประภาษานนท์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์      พุทธศักราช 2562     

 

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ 

          นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2473 ที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี  ปัจจุบันอายุ 90 ปี ขณะศึกษาชั้นมัธยม ณ โรงเรียนสีตบุตรบำรุง ถนนรองเมือง จังหวัดพระนคร เมื่อ พ.ศ. 2487 โรงเรียนปิดลงเนื่องจากภัยสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงลี้ภัยไปอยู่ต่างจังหวัด และมิได้ศึกษาต่ออีก

          เมื่ออายุ 24 ปี เริ่มเขียนเรื่องสั้นครั้งแรกลงหนังสือพิมพ์หลักเมืองรายวัน ชื่อเรื่อง “หาดจอมเทียน” ใช้นามปากกา “เทพเทวีวิจิตร” ต่อมาได้เปลี่ยนเป็น “เทพเทวี” และใช้สำหรับเขียนนวนิยายพาฝัน พ.ศ. 2502 เริ่มเขียนนวนิยายสยองขวัญเรื่องแรกคือ “กายทิพย์” ตีพิมพ์ในนิตยสารบางกอกรายสัปดาห์ ใช้นามปากกา “ตรี อภิรุม” จากนั้นเขียนนวนิยายแนวพาฝันและแนวสยองขวัญตีพิมพ์ในนิตยสารต่างๆ อาทิ ชีวิตจริง อัลบั้มชีวิตดารา คู่รักคู่ชีวิต ดาราภาพยนตร์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 ถึง พ.ศ. 2557 มีผลงานนวนิยายนับร้อยเรื่อง ตีพิมพ์เป็นเล่มรวมทั้งสิ้น 58 เรื่อง ผลงานโดดเด่น เช่น แก้วขนเหล็ก ทายาทอสูร นาคี ผลงานถูกสร้างเป็นละครวิทยุ ภาพยนตร์ และละครโทรทัศน์ รวม 19 เรื่อง เทพได้รับรางวัลนราธิปจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2556

          ผลงานนวนิยายลึกลับสยองขวัญของเทพ เป็นหมุดหมายเรื่องลึกลับสยองขวัญของไทย เทพมีความสามารถทางวรรณศิลป์ สร้างสัญลักษณ์เชิงอำนาจที่ก่อให้เกิดความสยองขวัญ เทพสร้างสรรค์ผลงานนับร้อยเรื่องจนได้สมญาว่า “ราชานวนิยายลึกลับสยองขวัญแห่งประเทศไทย” ยืนหยัดในความเป็นนักเขียนอาชีพที่มีผลงานตั้งแต่อายุ 24 ปี จนถึงอายุ 90 ปี และยังคงทำงานอยู่อย่างสม่ำเสมอ กล่าวได้ว่า เทพ ชุมสาย ณ อยุธยา เป็นนักเขียนผู้สร้างสรรค์วรรณศิลป์ข้ามผ่านกาลเวลาอย่างแท้จริง

          นายเทพ ชุมสาย ณ อยุธยา จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์      พุทธศักราช 2562

 

 

 

   

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นางศรีนวล  ขำอาจ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงพื้นบ้าน - ลำตัด) 

          นางศรีนวล ขำอาจ เกิดเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2490 ที่เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 73 ปี มีความสนใจใฝ่รู้ในศิลปะการแสดงพื้นบ้านมาตั้งแต่วัยเยาว์ โดยสามารถจดจำคำร้อง ท่ารำ และฝึกฝนด้วยตนเอง หลังจบการศึกษาระดับประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดกลางทอง (วัดปุรณาวาส) เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร เมื่ออายุได้ 15 ปี จึงได้เริ่มฝึกหัดการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) จากครูเต๊ะ นิมา ซึ่งเป็นบิดาของนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) ต่อมาได้เรียนรู้การขับร้องเพลงพื้นบ้านเพิ่มเติมจากครูเพลงอีกหลายท่าน อาทิ แม่ทองอยู่ รักษาพล แม่ทองหล่อ ทำเลทอง พ่อพรหม เอี่ยมเจ้า แม่บัวผัน จันทร์ศรี แม่ขวัญจิต  ศรีประจันต์ (นางเกลียว เสร็จกิจ) และในปี พ.ศ. 2550 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์

          นางศรีนวล  ขำอาจ ออกแสดงลำตัดเป็นครั้งแรกกับคณะบุญช่วย และด้วยความเป็นผู้มีปฏิภาณไหวพริบ และลีลาการร้องการรำอันสวยงาม จึงทำให้แม่ทองเลื่อน คุณพันธ์ ครูลำตัดอาวุโสสนับสนุนให้เข้าร่วมในคณะลำตัดของหวังเต๊ะ นับแต่นั้นเป็นต้นมา รับบทนางเอกทำหน้าที่แม่เพลงร้องนำ ด้วยความรักในงานแสดงจึงพยายามศึกษาเพิ่มเติมจากครูเพลงรุ่นเก่าที่มีชื่อเสียง ทำให้พัฒนาฝีมือในการแสดงมากขึ้น รวมถึงได้รับคำแนะนำเทคนิคต่างๆ ในการแสดงลำตัดจากนายหวังดี นิมา (หวังเต๊ะ) หัวหน้าคณะซึ่งเป็นทั้งครูและคู่ชีวิต

          ในช่วงเวลาเกือบ 6 ทศวรรษ นางศรีนวลได้สร้างสรรค์ผลงานการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) มาอย่างต่อเนื่อง มีความสามารถด้านการขับร้อง ด้นสด การประพันธ์บทร้องลำตัด สร้างสรรค์ท่ารำประกอบการแสดงลำตัด จนเป็นมาตรฐานให้กับศิลปินลำตัดทั่วไป เผยแพร่การแสดงผ่านสื่อสมัยใหม่ทุกรูปแบบสู่สังคม รักษากฎเกณฑ์การใช้ภาษาที่สุภาพ และปรับวิธีการแสดงให้เหมาะสมกับกาลเทศะ เป็นผู้สร้างศิลปินลำตัดรุ่นใหม่และถ่ายทอดความรู้แก่เยาวชนอย่างต่อเนื่อง จนได้รับรางวัลต่างๆ มากมาย ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จึงนับได้ว่าเป็นศิลปินเพลงพื้นบ้านชั้นนำที่สามารถอนุรักษ์สืบสานศิลปะและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของชาติ ผ่านบทร้องรำที่ไพเราะ มีอารมณ์ขัน เป็นผู้ใฝ่รู้ พัฒนาตนเองอยู่เสมอ นำความรู้ในโลกปัจจุบัน ปรับประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัย เข้าถึงคนทุกกลุ่ม เพื่อปลุกจิตสำนึกและภาคภูมิใจในศิลปะการแสดงพื้นบ้าน (ลำตัด) ผ่านการแสดง การส่งเสริม การฝึกอบรม โดยเปิดบ้านพักให้เป็น “แหล่งเรียนรู้เพลงพื้นบ้านภาคกลาง พ่อหวังเต๊ะ แม่ศรีนวล” ถ่ายทอดแก่เยาวชน และประชาชน ผู้สนใจโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ นอกจากนี้ ยังเป็นผู้ที่ให้ความร่วมมือสนับสนุนหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างเต็มความรู้ความสามารถ และเป็นวิทยากรบรรยายพิเศษให้กับสถาบันทางการศึกษาหลายแห่ง ตลอดจนให้การช่วยเหลืองานสาธารณกุศลต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ 

          นางศรีนวล  ขำอาจ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง   (เพลงพื้นบ้าน - ลำตัด) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) 

          นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เกิดวันที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2498 ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ปัจจุบันอายุ 65 ปี จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน เริ่มเรียนรู้ศิลปะการแสดงดนตรีพื้นบ้านอีสานจากบิดา นายใส ประทุมสินธุ์ และศึกษาเพิ่มเติมกับครูเปลื้อง ฉายรัศมี ครูทองคำ ไทยกล้า จนสามารถบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสานได้ทุกประเภท ในปี พ.ศ.2548 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรี จากมหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด 

          นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ เป็นผู้มีความสามารถในการบรรเลงดนตรีพื้นบ้านอีสาน การประพันธ์เพลง การช่างฝีมือ และการถ่ายทอดความรู้ ได้สร้างสรรค์ผลงานด้านการแสดงดนตรีพื้นบ้านอย่างต่อเนื่อง มีผลงานการประพันธ์ลายเพลงพื้นบ้านและชุดการแสดงพื้นบ้านอีสานจำนวนมาก อาทิ ดนตรีลายเปิดวงโหวด ลายอ่านหนังสือน้อย ลายสาวลงข่วงประกอบชุดการแสดงดึงครกดึงสาก ลายสาวน้อยหยิกแม่ เพลงประกอบละครโทรทัศน์ และภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก อาทิ ราชินีดอกหญ้า นายฮ้อยทมิฬ และบันทึกเสียงในเพลงลูกทุ่งอีสาน นอกจากนี้ ยังมีฝีมือในงานผลิตเครื่องดนตรีอีสาน โดยเป็นผู้นำโหวด ซึ่งเดิมใช้ในการประกอบพิธีกรรม และเป็น ของเล่นพื้นบ้านสำหรับเด็ก มาประยุกต์ให้เป็นเครื่องดนตรีประกอบการแสดงในวงดนตรีพื้นบ้านอีสานอย่างกลมกลืน และส่งผลให้เกิดความนิยมอย่างแพร่หลาย จนสามารถพัฒนาโหวดเป็นสินค้าสร้างสรรค์ทางวัฒนธรรม  นำรายได้มาสู่ชุมชนในวงกว้าง นอกจากนี้ ยังได้ต่อยอดการผลิตโปงลางเพิ่มเติมจากรูปแบบของครูเปลื้อง ฉายรัศมี เพื่อให้สามารถเล่นเพลงสมัยใหม่ได้ ก่อตั้งวงดนตรีพื้นบ้าน “โหวดเสียงทองเพชรส่งเสริม” ตั้งแต่ พ.ศ. 2511 จนมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ และได้รับเชิญจากวิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหลักสูตรดนตรีพื้นบ้านร่วมกับนางฉวีวรรณ พันธุ และนายทองคำ ไทยกล้า ตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ได้สร้างศิลปินพื้นบ้านอีสานรุ่นใหม่ในทุกระบบการศึกษา รวมทั้งผลงานการแสดงแนวอนุรักษ์และสร้างสรรค์ที่เป็นมาตรฐานในประเทศต่อมา

          ตลอดระยะเวลากว่า 4 ทศวรรษ ที่ผ่านมา นายทรงศักดิ์  ประทุมสินธุ์ ได้ทุ่มเทแรงกาย แรงใจ สติปัญญา เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์และพัฒนาศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสานไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน เป็นศิลปินที่ได้รับการยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ มากมาย ปัจจุบันนี้ ยังคงเผยแพร่และถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านดนตรีพื้นบ้านอีสาน เป็นวิทยากร เป็นที่ปรึกษาให้ความรู้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนอย่างกว้างขวาง ส่งเสริมให้เยาวชนได้ตระหนักในคุณค่าของศิลปะการแสดงพื้นบ้านอีสาน และร่วมกันสืบสานให้คงอยู่สืบไป

          นายทรงศักดิ์ ประทุมสินธุ์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง   (ดนตรีพื้นบ้านอีสาน) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายสติ สติฐิต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) 

          นายสติ สติฐิต เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2477 ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันอายุ 86 ปี  จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พ.ศ. 2491 ที่โรงเรียนวัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร ได้ศึกษาหลักสูตรสื่อสารจากโรงเรียนจ่าอากาศ เมื่อ พ.ศ. 2494 เมื่อสำเร็จหลักสูตรได้ถูกส่งไปปฏิบัติราชการอยู่ที่กองบินน้อยที่ 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนได้รับยศจ่าอากาศเอก ในปี พ.ศ. 2496

          นายสติ สติฐิต ใช้นามผู้ประพันธ์เพลงว่า “เนรัญชรา” ได้เรียนรู้การเขียนโน้ตเพลงกับนักดนตรีในกองดุริยางค์ทหารอากาศ เช่น ครูปรีชา เมตไตรย์ ครูโพธิ์ ศานติกุล ครูฑีฆา โพธิเวส ครูอารี สุขะเกศ ฯลฯ จนสามารถเขียนโน้ตเพลงเองได้ โดยไม่ต้องเทียบเสียงกับเปียโนหรือเครื่องเทียบเสียง เพลงแรกที่ประพันธ์คือเพลง “จะคอยขวัญใจ” โดยใช้ถ้อยคำและทำนองง่ายๆ ผู้ขับร้องคือ นายสุเทพ วงศ์กำแหง นักร้องผู้มีชื่อเสียงในวงดนตรีทหารอากาศ โดยมีครูปรีชา เมตไตรย์ เป็นหัวหน้าวง นอกจากนั้น ยังประพันธ์เพลงให้กับนักร้องคนอื่นๆ ขับร้องจนมีชื่อเสียงต่อมาอีกหลายคน อาทิ นิทัศน์ ละอองศรี สวลี ผกาพันธุ์ จินตนา สุขสถิตย์ มนูญ เทพประทาน ธานินทร์ อินทรเทพ รุ่งฤดี แพ่งผ่องใส ฯลฯ เพลงต่างๆ ที่ท่านเหล่านี้ขับร้องได้รับความนิยมเป็นอย่างมากจนถึงปัจจุบัน

          “เนรัญชรา” เป็นผู้มีความสามารถและเชี่ยวชาญด้านการประพันธ์เพลงไทยสากล ทั้งคำร้องและทำนอง การใช้ถ้อยคำในเพลงแต่ละเพลง บ่งบอกถึงความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาที่สละสวย งดงาม มีความทันสมัย และทำนองเพลงก็มีความไพเราะ ทำให้เนรัญชราประสบความสำเร็จในการประพันธ์เพลง อาทิ เพลงจะคอยขวัญใจ เพลงหนี้เสน่หา เพลงเศรษฐีน้ำตา เพลงบ้านของเรา เพลงฤทธิ์กามเทพ เพลงดอกฟ้าผกาดิน เพลงเขตฟ้าเขตฝัน เพลงฝัน ฝัน และเพลงหยาดน้ำฝนหยดน้ำตา เป็นต้น จากบทเพลง “หยาดน้ำฝนหยดน้ำตา” ได้รับพระราชทานรางวัลเสาอากาศทองคำ เมื่อปี พ.ศ. 2521 และได้รับรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย “เนรัญชรา” ได้ประพันธ์เพลงถวายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยความร่วมมือของกองดุริยางค์กองทัพอากาศ ปัจจุบัน เนรัญชรามีผลงานประพันธ์เพลง 1,000 กว่าเพลง ซึ่งได้รับการบันทึกเสียงโดยนักร้องหลายคนก็ได้มีชื่อเสียงโด่งดังจนถึงปัจจุบัน

          นายสติ สติฐิต จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง   (ผู้ประพันธ์เพลงไทยสากล) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

  

          คำประกาศเกียรติคุณ นายวินัย พันธุรักษ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) 

          นายวินัย พันธุรักษ์ เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2490 ที่จังหวัดสระบุรี ปัจจุบันอายุ 73 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท ปริญญารัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อ พ.ศ. 2553 ได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีสากล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม พ.ศ. 2553 และได้รับปริญญาศิลปกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาดนตรีไทยสมัยนิยมจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ. 2557

          นายวินัย พันธุรักษ์ เป็นผู้มีพื้นฐานการร้องเพลงมาตั้งแต่เยาว์วัย เพราะครอบครัวมีวงดนตรีเครื่องสายไทยบรรเลง บ้านพันธุรักษ์จึงอบอวลด้วยเสียงดนตรีไทยและเพลงไทยเดิม การที่อยู่กับดนตรีและเสียงเพลงมาตั้งแต่วัยเยาว์ ทำให้สามารถร้องเพลงไทยเดิมได้เป็นอย่างดี และปี พ.ศ. 2503 หลังจากได้รับรางวัลจากการประกวดร้องเพลงในงานภูเขาทอง วัดสระเกศ นายวินัย พันธุรักษ์ ได้ความเมตตาจากครูพยงค์ มุกดา ให้เป็นนักร้องประจำวง “พยงค์ มุกดา” เล่นดนตรี และร่วมเดินสายกับวงดนตรีตามภาคต่างๆ ของประเทศไทย จนได้บันทึกแผ่นเสียงสปีด 78 เช่น เพลงขวัญใจนักเรียน แหล่สรรพสิทธิ์ แหล่นครปฐม ลูกบัวลอย พี่จ๋าอย่าหนีตาม อุดมเด็กดี เด็กขายเพลง ลูกชาลีรันทด เป็นต้น ในปี พ.ศ.2509 ได้ร่วมก่อตั้งวงดนตรี “ดิ อิมพอสซิเบิล” (The impossible) โดยเพลงที่ร้องในวงดนตรีเป็นแนวประสานเสียง และได้ร่วมร้องเพลงประกอบภาพยนตร์หลายเรื่อง อาทิ เพลงความรักเพรียกหา จากเรื่องแก้ว, เพลงชื่นรัก จากเรื่องโทน, เพลงน้ำผึ้งพระจันทร์ จากเรื่องน้ำผึ้งพระจันทร์  เป็นต้น ได้รับรางวัลที่สำคัญ เช่น รางวัล “ทีวีตุ๊กตาทอง” จากเพลงสิ้นกลิ่นดิน และเพลงชำมะเลียง รางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง “สิ้นกลิ่นดิน” รางวัลนักร้องเพลงไทยสากลอมตะ และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย       

          นายวินัย พันธุรักษ์ ได้รับความนิยมในฐานะนักร้องเดี่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สามารถใช้เสียงที่ออกมาจากจิตวิญญาณ ด้วยความรักในเพลงบวกกับการหล่อหลอมด้วยประสบการณ์ มีเทคนิคการขับร้องเพลง เช่น การเอื้อน การออกคำ ตลอดจนการกำหนดลมหายใจในการขับร้อง และการออกเสียงที่ชัดเจน ทำให้บทเพลงได้รับความนิยมมาก โดยได้สร้างสรรค์ผลงานการแสดง รวมถึงผลงานขับร้องเพลงและอัดแผ่นเสียง รวมมากกว่า 1,000 เพลง ปัจจุบันยังคงสร้างสรรค์ผลงานอย่างต่อเนื่อง และเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ในด้านการขับร้อง การเล่นดนตรี และการแสดง เพื่อเป็นการอนุรักษ์เพลงไทยสากลให้คงอยู่คู่ประเทศไทยตลอดไป

          นายวินัย พันธุรักษ์ จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง   (ดนตรีไทยสากล - ขับร้อง) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นายชนประคัลภ์  จันทร์เรือง ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) 

          นายชนประคัลภ์  จันทร์เรือง เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2497 ที่กรุงเทพมหานคร ปัจจุบันอายุ 66 ปี จบการศึกษาปริญญาตรีด้านการละครที่มหาวิทยาลัยมอนทาน่า สหรัฐอเมริกา ระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2537  เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาศิลปการละคร คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สั่งสมประสบการณ์และสร้างสรรค์ผลงานตลอดเวลาร่วม 40 ปี โดยเป็นนักแสดงที่มีความสามารถสูงในทุกบทบาท ทั้งละครโทรทัศน์ ละครเวที และภาพยนตร์ เป็นผู้กำกับการแสดงที่มีรูปแบบการเล่าเรื่องเฉพาะตัว มีแนวคิด รวมถึงเป็นนักเขียนบทในแนวการสอนเขียนบทโดยเล่นก่อนเขียน ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมการเขียนบทสำหรับประเทศไทย โดยให้นักแสดงร่วมเขียนบทไปด้วย และเป็นครูผู้สร้างแรงบันดาลใจให้ลูกศิษย์ด้วยการสร้างผลงานอย่างสม่ำเสมอ

          นายชนประคัลภ์  จันทร์เรือง สร้างสรรค์ผลงานละครประจำภาควิชาศิลปการละครหลายเรื่อง เช่น ขอรับฉัน หญิงวิปลาส ณ ไชโยต์ เป็นต้น ละครเรื่องแรกที่กำกับคือเรื่อง สังข์ทอง เขียนบทโดยนายกุมุท จันทร์เรือง ผู้เป็นบิดา ส่วนงานเขียนบทละครโทรทัศน์เรื่องแรกคือ เหรียญมรดก  ผลงานการแสดงและการกำกับ เช่น น้ำเซาะทราย นวลฉวี ซีอุย หลังคาแดง ปัญญาชนก้นครัว และระนาดเอก มีผลงานการแสดงละครโทรทัศน์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2525- 2545 รวม 16 เรื่อง แสดงภาพยนตร์ รวม 17 เรื่อง กำกับละคร รวม 9 เรื่อง เขียนบทละครโทรทัศน์ รวม 6 เรื่อง ผลิตรายการโทรทัศน์ ได้แก่ สารคดีการลดอาวุธ นำไปฉายที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์และแคนาดา พ.ศ.2532 - 2535 ได้ทำรายการโทรทัศน์ชุด มรดกใหม่ เป็นรายการแนะนำงานศิลปะแขนงต่างๆ รวมทั้งศิลปะพื้นบ้านที่ศิลปินรุ่นใหม่สร้างขึ้นมา ด้วยแนวคิดที่ว่า “เรามีงานศิลปวัฒนธรรมที่คนรุ่นเก่าได้สร้างขึ้นเป็นมรดกตกทอดกันมาหลายร้อยปี สักวันหนึ่ง สิ่งที่เราสร้างขึ้นมาในวันนี้ก็จะกลายเป็นมรดกสำหรับคนรุ่นต่อๆ ไป เราจึงควรคำนึงถึงและตั้งใจสร้างสิ่งที่จะเป็นมรดกใหม่” และ พ.ศ. 2543 ได้ก่อตั้งคณะละครมรดกใหม่ และพ.ศ.2548 โรงเรียนมรดกใหม่โฮมสคูล หรือบ้านเรียนละคร มรดกใหม่ได้ก่อตั้งขึ้นที่จังหวัดปทุมธานี ตามแนวคิดสำนักดนตรีไทยบ้านบาตรของครูหลวงประดิษฐ์ไพเราะผู้เป็นตา และนับตั้งแต่ พ.ศ. 2549 ได้นำผลงานละครไปร่วมแสดงในเทศกาลละครระดับนานาชาติ ทั้งในเอเชีย ยุโรป และอเมริกา

          ปัจจุบันนี้ นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ยังคงสร้างผลงานควบคู่กับทำหน้าที่ครูในคณะละครมรดกใหม่ และเป็นวิทยากรเผยแพร่ความรู้ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงรับเชิญนำผลงานละคร รวมศิลปิน คณะครูและนักเรียน ชุมชนละครมรดกใหม่และวิทยาลัยกุมุทาลัยไปหาประสบการณ์ทั่วโลก แลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านละครทุกปี และได้รับการตอบรับในผลงานการแสดงอย่างดีเยี่ยม อันเป็นการสืบสานและต่อยอดแนวคิดของครูต้นแบบโฮมสคูล การละคร สอนทักษะชีวิต นายชนประคัลภ์ จันทร์เรือง ได้รับรางวัลเกียรติยศ ได้แก่ รางวัลศิลปาธร โดยปัจจุบันยังคงสร้างผลงานและบุคลากรด้านภาพยนตร์และการละครอย่างต่อเนื่อง

          นายชนประคัลภ์  จันทร์เรือง จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช 2562

 

 

 

 

          คำประกาศเกียรติคุณ นางอารีย์  นักดนตรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) 

          นางอารีย์ นักดนตรี เกิดเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2475 ที่จังหวัดสมุทรสงคราม ปัจจุบันอายุ 88 ปี  ได้รับแรงบันดาลใจให้รักดนตรีไทย การแสดง และซาบซึ้งในศิลปวัฒนธรรมจากครอบครัว “นักดนตรี” ซึ่งเป็นนามสกุลประทานจากกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เนื่องจากบิดาเคยถวายตัวและเรียนดนตรีในวังบูรพา จึงคุ้นเคยกับเสียงเพลงดนตรีไทยและการรำละครมาตั้งแต่วัยเยาว์

          นางอารีย์ นักดนตรี เริ่มต้นการทำงานที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม ได้ฝึกฝนการเป็นนักแสดงประจำสถานี ได้แสดงละครปีแรกตั้งแต่เปิดสถานีโทรทัศน์เรื่อยมา โดยเริ่มจากละครรำ ละครพันทาง และงิ้วไทย และมีผลงานการแสดงทางสถานีโทรทัศน์ทุกประเภท เป็นผู้แสดงนำมาโดยตลอด นางอารีย์ได้ฝึกฝนด้านนาฏศิลป์กับท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนี ครูลมุล ยมะคุปต์ และครูสัมพันธ์ พันธุ์มณี เป็นผู้ที่มีความใฝ่รู้ที่จะฝึกฝนด้วยการฟังโฆษกสถานีวิทยุต่างๆ ที่มีความสามารถในการเป็นผู้ประกาศรายการ และนักจัดรายการในยุคนั้น จนเกิดแรงบันดาลใจในการทำงาน หน้าที่หลักของนางอารีย์ที่สถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหม คือ การเป็นผู้ประกาศรายการและพิธีกรในงานต่างๆ รวมถึงเป็นผู้ผลิตรายการ กำกับละคร ฝึกอบรมผู้ประกาศรายการ พิธีกรรุ่นใหม่ และเป็นที่ปรึกษาด้านการแสดง ในการวางรูปแบบผลิตละครและโขนให้แก่ศาลาเฉลิมกรุงยุคใหม่ อีกทั้งยังได้จัดคอนเสิร์ตที่ศาลาเฉลิมกรุงและโรงละครแห่งชาติเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ได้เป็นผู้กำกับการแสดงละครเรื่อยมา จนสถานีโทรทัศน์ช่อง 4 บางขุนพรหมเปลี่ยนเป็นช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ได้ผลิตละครและฝึกนักแสดงหน้าใหม่ขึ้นมากมาย เช่น สุประวัติ ปัทมสูต เดือนเต็ม สาลิตุลย์ รัชนู บุญชูดวง ลินดา ค้าธัญเจริญ กาญจนา จินดาวัฒน์ ฯลฯ และเป็นสตรีเอเชียคนที่สองที่ได้รับรางวัลผู้ประกาศหญิงยอดเยี่ยมจากสถาบันระดับนานาชาติที่ประเทศสเปน เมื่อ พ.ศ. 2504 นอกจากนั้น ยังได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำ “เกียรติยศคนทีวี” ของเมืองไทย ประจำปี พ.ศ. 2548

          ปัจจุบันนี้ นางอารีย์ นักดนตรี ยังได้ทำงานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยได้รับเชิญเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ เพื่อให้ความรู้ในการฝึกผู้ประกาศรายการ พิธีกร ให้แก่นิสิต นักศึกษาในมหาวิทยาลัย และให้ความรู้ทางด้านการผลิตรายการต่างๆ ทางโทรทัศน์ พร้อมทั้งหลักเกณฑ์การฝึกผู้ประกาศ โดยเน้นถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมขนบประเพณีไทย อันเป็นสิ่งงดงามและจำเป็นต้องรักษาไว้เพื่อเกียรติภูมิของชาติไทย

          นางอารีย์ นักดนตรี จึงสมควรได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละคร) พุทธศักราช 2562

 

          ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จะทำหนังสือกราบบังคมทูลขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติ พุทธศักราช 2562 ทั้ง 12 คน เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติ ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นวันศิลปินแห่งชาติ หรือวัน เวลาใด ตามแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ โดยภายหลังจากนี้จะได้จัดงานเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติ อันประกอบด้วย งานเลี้ยงแสดงความยินดี งานนิทรรศการและสื่อเผยแพร่ชีวประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติ ผ่านสื่อต่างๆ ต่อไป โดยเยาวชนและประชาชนผู้สนใจสามารถศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่ www.culture.go.th หรือทาง แฟนเพจกรมส่งเสริมวัฒนธรรม www.facebook.com/DCP.culture