รู้จัก “ไวรัสโคโรน่า 2019” และวิธีป้องกันจาก “กรมควบคุมโรค”

 

กรมควบคุมโรค ระบุ ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 ยังไม่มีรายงานติดต่อจากคนสู่คนในประเทศไทย แนะขั้นตอนป้องกันตนเอง ย้ำหากกลับจากพื้นที่เสี่ยงและเริ่มมีอาการป่วย ให้รีบพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุยังคงมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง โดยเฉพาะที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศในท่าอากาศยาน ได้ดำเนินการปรับและขยายการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอื่นของสาธารณรัฐประชาชนจีน อาทิ เมืองกว่างโจว มณฑลกวางตุ้ง เนื่องจากเมืองกว่างโจวมีจำนวนผู้ป่วยโรคดังกล่าวเป็นอันดับสอง รองจากเมืองอู่ฮั่น และได้เตรียมขยายการคัดกรองผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงอื่นของสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อไป

 

 

          โดยจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายงานติดต่อจากคนสู่คนในประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข ยังคงมาตรการคัดกรองและเฝ้าระวังโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ยังไม่มีประกาศห้ามเดินทางไปยังประเทศที่มีรายงานผู้ติดเชื้อปอดอักเสบ จึงขอให้ประชาชนติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด สำหรับคนไทยที่ไปเที่ยวประเทศที่มีการระบาด ขอให้ตรวจสอบว่ามีการระบาดในเมืองที่จะไปหรือไม่ และเลื่อนการเดินทางที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน

 

 

          ทั้งนี้ การป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV) ประกอบด้วย การหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังเมืองอู่ฮั่น หากไปประเทศจีนมาในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา แล้วมีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจเหนื่อยหอบ ให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลทันทีพร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง และโทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422  ขณะที่ประชาชนทั่วไปควรหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หากอยู่ในที่ชุมชนควรสวมหน้ากากอนามัย และให้อยู่ห่างจากผู้มีอาการของทางเดินหายใจ เช่น ไอ จาม หมั่นล้างมือด้วยสบู่และให้น้ำไหลผ่านอย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้แอลกอฮอล์เจลล้างมือ ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น

 

          6 ขั้นตอนป้องกันการติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (2019-nCoV)

          1. สวมหน้ากากอนามัยและหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจหรืออาการคล้ายไข้หวัด

          2. หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลล้างมือ

          3. ปิดปากปิดจมูกเวลาไอจามด้วยกระดาษทิชชู่หรือต้นแขนด้านใน

          4. ปรุงอาหารประเภทเนื้อสัตว์และไข่ให้สุกด้วยความร้อน

          5. สวมอุปกรณ์ป้องกันเมื่อต้องสัมผัสกับสัตว์ป่าที่มีชีวิต หรือสัตว์เลี้ยงในฟาร์ม

          6. ถ้าหากมีไข้ร่วมกับอาการทางเดินหายใจ ได้แก่ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบพบแพทย์ทันที หากเพิ่งกลับมาจากประเทศจีน ให้แจ้งประวัติการเดินทางในประเทศจีน พร้อมโทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

          ข้อมูลจากภาควิชาจุลชีววิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ระบุว่า ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) ที่ก่อโรคปอดอักเสบ (pneumonia) ในเมืองอู่ฮั่น (Wuhan) มณฑลหูเป่ย (Hubei) ประเทศจีน เริ่มจากช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 จนถึงปัจจุบัน ในช่วงแรกคาดว่าเป็นการติดเชื้อจากสัตว์สู่คน เมื่อมีข่าวการระบาดนี้ ทั่วโลกก็เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด เพราะมีประสบการณ์มาจากโรคทางเดินหายใจร้ายแรงที่เกิดจากไวรัสโคโรน่า ได้แก่ โรคซาร์ (severe acute respiratory syndrome, SARS) ที่ระบาดในช่วงปี ค.ศ. 2002-2003 ซึ่งมีสาเหตุจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ SARS-CoV ที่เป็นไวรัสโคโรน่าข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่าน civet cat (ชะมด) มาติดเชื้อในคน โดยเริ่มระบาดจากประเทศจีนและกระจายไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อกว่าแปดพันคน อัตราการตายร้อยละ 10 และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในผู้สูงอายุ 

 

          ต่อมาในปีค.ศ. 2012-2014 ก็มีการระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ ชื่อ Middle East respiratory syndrome coronavirus (MERS-CoV) ที่เป็นไวรัสโคโรน่าข้ามสปีชีส์จากค้างคาวผ่านอูฐมาติดเชื้อในคน เริ่มจากผู้ป่วยในประเทศซาอุดิอาราเบีย มีผู้ติดเชื้อรวม 1,733 คน อัตราการตายร้อยละ 36

 

 

          ไวรัสโคโรน่าเป็นไวรัสที่มีขนาดใหญ่ที่สุดที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ และมีเปลือกหุ้มด้านนอกที่ประกอบด้วยโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรทเป็นปุ่มๆ (spikes) ยื่นออกไปจากอนุภาคไวรัส ทำให้เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน จะเห็นเป็นเหมือนมงกุฎ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ) ล้อมรอบ จึงเป็นที่มาของชื่อเชื้อไวรัสในกลุ่มนี้ที่มีสมาชิกหลากหลาย ติดเชื้อก่อโรคได้ทั้งในคน และสัตว์หลายชนิด เช่น สัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (ม้า วัว แมว สุนัข ค้างคาว กระต่าย หนู อูฐ และสัตว์ป่าอื่นๆ) และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น งู  ดังนั้น ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ที่ก่อโรคในสัตว์ทั้งระบบทางเดินหายใจและทางเดินอาหาร อาจแพร่มาสู่คนและก่อโรคในคนได้ (zoonotic infection) ไวรัสโคโรน่าถูกแบ่งเป็น 4 ยีนัสคือ Alphacoronavirus, Betacoronavirus, Gammacoronavirus และ Deltacoronavirus โดยไวรัสโคโรน่าที่ก่อโรคในคนที่ทำให้มีอาการของระบบทางเดินหายใจที่ไม่รุนแรง และมักมีการติดเชื้อแบบไม่มีอาการจัดอยู่ในยีนัส Alphacoronavirus ส่วนไวรัสโคโรน่าที่ก่อโรครุนแรงในคนและข้ามสปีชีส์มาจากสัตว์ เช่น SARS-CoV และ MERS-CoV จัดอยู่ในยีนัส Betacoronavirus ไวรัสโคโรน่ามีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอจึงมีโอกาสกลายพันธุ์สูง และสามารถก่อการติดเชื้อข้ามสปีชีส์ได้มากขึ้นในสถานที่ที่นำสัตว์เหล่านี้มาอยู่รวมกันอย่างหนาแน่น ดังเช่นในตลาดค้าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร ที่เป็นแหล่งแพร่เชื้อ SARS-CoV จาก civet cat สู่คน

 

          สถานการ์ณการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ 2019-nCoV จากประเทศจีนนับจากที่มีการรายงานครั้งแรกเมื่อ 31 ธันวาคม 2019 นั้น พบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบที่ไม่รู้สาเหตุในเมืองอู่ฮั่นเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ต่อมาได้มีการรายงานเป็นทางการเมื่อ 3 มกราคม 2020 ว่าโรคปอดอักเสบที่ระบาดที่อู่ฮั่นมีสาเหตุจากไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (novel coronavirus 2019, 2019-nCoV) และพบการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้  ทางประเทศจีนได้ทำการสืบสวนหาแหล่งแพร่เชื้อของการระบาดในครั้งนี้ที่เมืองอู่ฮั่น จากผู้ติดเชื้อกลุ่มแรกที่เป็นคนงานและลูกค้าของตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วนาน (Huanan Seafood Wholesale Market)  โดยที่ตลาดสดนี้นอกจากขายอาหารทะเลแล้วยังขายเนื้อสัตว์ และสัตว์ที่ใช้ทำอาหารที่ยังมีชีวิต เช่น เป็ด ไก่ ลา แกะ หมู อูฐ สุนัขจิ้งจอก งู แบดเจอร์ หนูอ้น เฮดจ์ฮอก แต่ตรวจไม่พบเชื้อ 2019-nCoV ในตัวอย่างตรวจจากสิ่งแวดล้อมและอาหารทะเลที่ได้จากตลาดขายส่งอาหารทะเลฮั่วนาน

 

          อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยที่ไม่ได้ไปที่ตลาดแห่งนี้เลย รายงานผลการตรวจหาลำดับเบสของสารพันธุกรรมอาร์เอ็นเอส่วนเปลือก (glycoprotein spikes) ของเชื้อ 2019-nCoV (MN908947) ที่ได้จากผู้ป่วยพบว่าอยู่ในยีนัส Betacoronavirus ซึ่งเป็นยีนัสเดียวกับ SARS-CoV และ MERS-CoV เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับสารพันธุกรรมของไวรัสโคโรนาจากคนและสัตว์ต่างๆ จำนวน 271 สายพันธุ์ พบว่าเชื้อ 2019-nCoV เป็นไวรัสที่เกิดจากการผสมสารพันธุกรรมระหว่างไวรัสโคโรน่าของค้างคาวกับไวรัสโคโรน่าของงูเห่า (Chinese cobra, Naja Atra) จึงทำให้ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้แพร่เชื้อข้ามสปีชีส์จากงูเห่ามายังคนได้ โดยเริ่มแรกจากคนงานและลูกค้าในตลาดเริ่มติดเชื้อก่อนและต่อมาเชื้อมีการกลายพันธุ์มากขึ้นจึงสามารถติดต่อจากคนสู่คน

 

CR : เว็บไซต์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข, คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล