‘#เพื่อน’ : ‘แพรวจิตบำบัด’

‘#เพื่อน’ : ‘แพรวจิตบำบัด

 

มีน้อง ๆ หลายคน บ่นเข้ามาในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่างตนและเพื่อน เรื่องนี้ ส่วนตัวก็เคยเจอเช่นกันค่ะ และมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเลวร้ายลงเรื่อย ๆ ในยุคดิจิตอลนี้ จึงขอเขียนบทความนี้ ให้น้อง ๆ ได้อ่านค่ะ

 

                .................................................

 

เพื่อนเริ่มตีตัวออกห่าง บางทีเกิดได้หลายอย่าง บ้างอาจมาจากตัวเรา บ้างอาจมาจากการถูกนินทาเหมารวม ตัดสินคนอื่นไปเอง อคติไปตามความรู้สึกโดยปราศจากเหตุผล บ้างเกิดจากความชอบที่ไม่ตรงกัน บ้างเกิดจากความเป็นตัวของตัวเองเกินไป จนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครก็อยู่ได้ ทั้งหมดทั้งปวงก็ส่งผลกับจิตใจในระยะยาวได้

 

งานวิจัยมนุษย์ที่ยาวนานที่สุดชิ้นหนึ่งของอเมริกา พบว่า ความโดดเดี่ยวนั้น ทำให้มนุษย์เกิดโรคภัยได้ และ อายุไม่ยืน

 

 

ปัจจุบันคนมีอาการซึมเศร้ามากขึ้น เนื่องจาก ชีวิตที่มีทุกสิ่งอยู่ในหน้าจอเล็ก ๆ ในมือ จนเวลาของการสานความสัมพันธ์ลดน้อยลงไปอย่างเห็นได้ชัด การพึ่งพากันลดน้อยลง ไปพึ่งเทคโนโลยีแทน

 

ในฐานะที่ทำงานด้านจิตวิทยาสังคม ก็เล็งเห็นความสำคัญทางด้านนี้ และอยากจะเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความตระหนักถึง คุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างกัน ให้มากขึ้นค่ะ

 

แต่ทว่า สภาพความเป็นจริง จะหามิตรภาพที่น่ารักมันก็ยากจริง ๆ โดยเฉพาะสังคมของการแข่งขัน ธุรกิจและผลประโยชน์

 

การพึ่งพาที่ดีระหว่างกัน กับผลประโยชน์ต่างตอบแทนนั้น อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเดียวกัน แท้จริงแล้วเป็นคนละเรื่อง

 

การพึ่งพากันของมนุษย์ ตั้งแต่สมัยอดีตนั้นคือการแบ่งหน้าที่กันในบทบาทของชีวิตประจำวัน เมื่อมีการแบ่งหน้าที่ ทำงานร่วมกัน ความสัมพันธ์ก็เกิดขึ้น ในที่นี้ก็รวมถึงการพึงพาทางใจได้แก่ความเอื้ออาทรต่อกันทั้งการกระทำ และวาจา

 

แต่ผลประโยชน์ต่างตอบแทนนั้นคือ ใครมีผลประโยชน์กับเรา เราก็ดีกับคนนั้น ใครไม่มีผลประโยชน์กับเรา เราก็แยกพวกเขา ไม่ใช่พวกเรา ปัจจุบันมักเป็นในเชิงธุรกิจ และ เชิงอำนาจบารมี

 

เมื่อมาดูในเรื่องวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต การแบ่งแยก (discrimination) ความเป็นพวกพ้อง เป็นสัญชาตญาณดิบของสิ่งมีชีวิตทั้งเลี้ยงลูกด้วยนม และไม่เลี้ยงลูกด้วยนม อย่างไรก็ดี สิ่งที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าเรื่อยมา หาใช่การแบ่งแยก แต่เป็น การอยู่รวมกันมากกว่า เช่น การประดิษฐ์คิดค้น การปกป้องเผ่าพันธุ์ เป็นต้น โดยเฉพาะมนุษย์ ที่เรียกว่า เป็น Social Primate

 

แต่แล้วการตัดสินกันแบบง่าย ๆ การแก่งแย่งชิงดี อิจฉาริษยา ผลประโยชน์ต่างตอบแทน เพื่อประโยชน์ของตนเอง กลับเข้ามามีบทบาทที่มากเสียจนบดบังคุณค่าของการอยู่ร่วมกันไปอย่างง่ายดาย

 

เราจะมีวิธีอย่างไรที่ช่วยกันเรียกคุณค่าของความสัมพันธ์ระหว่างกันในสังคมที่เราอยู่ให้กลับคืนมา

 

1. การสื่อสารทั้งวัจนภาษา และ อวัจนภาษา : เมื่อเรารู้สึกว่า เราเริ่มโดดเดี่ยว ลองพูดคุยกับคนรอบข้างให้มากขึ้น หรือส่งยิ้มให้มากขึ้น หากไม่แน่ใจว่า ทำไมเราจึงถูกเพื่อนทิ้ง ลองถามเขาอย่างตรงไปตรงมาดู เช่น ทำไมพวกเธอถึงไม่รอฉัน ฉันทำอะไรที่ทำให้พวกเธอไม่สบายใจรึเปล่า บอกได้นะ เผื่อฉันจะได้นำมาพิจารณา เป็นต้น

 

1.1 การเปิดใจฟัง หรือ Active Listening คือ ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังอย่างเข้าใจ (Put yourself into their shoes.)

1.2 ใช้คำพูดที่เป็นแบบ validation คือ ไม่ใช้คำพูดที่บอกให้ทำ สั่งให้ทำ แต่ให้ใช้คำพูดที่แสดงความเห็นอกเห็นใจ มีเหตุผล เช่น ฉันเข้าใจนะ , เธอคงเจออะไรมาเยอะ มีอะไรที่ฉันพอช่วยได้ไหม , ในแง่ของเธอฉันพอเข้าใจ แต่ในมุมมองของฉัน ฉันเห็นในสิ่งที่ต่างออกไป อยากให้เธอได้ฟังในมุมมองของฉันบ้าง เป็นต้น

 

2. การหยิบยื่นน้ำใจเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอจะทำได้และไม่เดือดร้อนเรา เช่น ช่วยยกของ ช่วยบอกทาง ช่วยอธิบายบทเรียน เป็นต้น

 

3. การทำใจเป็นกลางก่อน ไม่ตัดสินคนอื่นง่ายเกินไป ไม่แบ่งแยกคนตามจริตและอารมณ์ตนเอง ไม่แบ่งแยกตามฐานะที่มอง หรือ สถานะที่เห็น และที่เป็น ไม่มองคนที่ผลประโยชน์ต่างตอบแทน อย่าลืมว่า ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีทั้งข้อดีและเสียปนกัน ไม่เว้นแม้แต่ตัวเราเอง และอย่าลืมว่า คนเราไม่มีใครรู้ไปหมดหรือเก่งไปสะทุกเรื่อง ตัวอย่าง แม่บ้านเขาเก่งละเอียดละออเรื่องความสะอาด หรืออาจตำสัมตำเก่งกว่าเรา ส่วนลุงเก็บของเก่า เขาอดทน แรงเยอะ เผชิญความยากเก่งกว่าเรา หมอบางคนอีโก้สูง ไม่สามารถลดตัวมาคบกับคนที่ไม่ใช่หมอด้วยกัน มหาเศรษฐีบางคนบริจาคเงินเป็นร้อยล้าน แต่ไม่เคยยิ้มให้คนเดินถนนเลย เป็นต้น เพราะฉะนั้น การมองคนที่สถานะ ฐานะ หรือการตัดสิน ยกตนข่มท่าน ไม่เปิดใจฟัง อาจทำให้เราพลาดโอกาสที่ได้รู้จักคนดี ๆ ไปก็ได้

 

คนที่เคยนินทาคนไปทั่ว วันนึงเขาอาจเปลี่ยนนิสัยได้ หากเขาไม่เรียนรู้ก็เรื่องของเขา ไม่มีอะไรเที่ยงแท้แน่นอน

 

เมื่ออะไรก็ไม่เที่ยงแท้แน่นอน สิ่งที่เราทำได้คือ ทำตัวเราดังประการที่ 1 2 และ 3 ข้างต้น แล้วอะไร ๆ จะดีขึ้นเอง แม้จะใช้เวลานานหน่อย แต่ก็ไม่นานเกินชีวิตนี้หรอก

 

                .................................................

 

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลักคิดและปฏิบัติโดยทั่วไป แต่เมื่อเราเผชิญกับปัญหาในระยะประชิดเราควรจะทำอย่างไร เพื่อรักษาใจเรา และปรับตัวเดินหน้าต่อ

 

ลองถามเพื่อนที่ทิ้งเราดูตามในข้อ1 เมื่อเราถามเหตุผลได้ความแล้ว พิจารณาดูแล้ว หากเราถูกแยกตัวจากเพื่อนเพราะอคติ การตัดสินที่ง่ายเกินไป การหมั่นใส้ ริษยา ขอให้เราตั้งมั่นทำข้อ 1 2 3 ที่กล่าวไป สำหรับกลุ่มที่แยกตัวจากเราใช้การอยู่ห่าง ๆ แต่ไม่ใช่ตัดสัมพันธไมตรีไปเลย ทำใจให้นิ่ง ๆ และเข้าใจมนุษย์ว่า เป็นเช่นนี้ล่ะ ให้กำลังใจตนเอง เรามีภูมิคุ้มกันคือ ทัศนคติของเราและวิธีการที่ให้ไปทั้ง 3 ข้อ ก็พอค่ะ แต่หากว่าสิ่งที่เพื่อนบอกเรา เราพิจารณาแล้วเราทำไม่ถูกจริง ๆ ก็ลองปรับตัวเองดู คิดเสียว่าเป็นโอกาสดีที่ได้พัฒนาตนเอง และอย่าลืมขอบคุณผู้ที่ให้ความกระจ่างกับเราด้วยนะคะ

 

ขอส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ขอให้กำลังใจทุกท่าน

 

“แพรวจิตบำบัด”

 

 

//...................

หมายเหตุ : ‘#เพื่อน’: ‘แพรวจิตบำบัด’ : ‘บางกอกไลฟ์นิวส์

 

[ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม] You've been invited to the chat "ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม".

         https://line.me/ti/g2/rooEoUs9W5mKkJUxuCFPKg     

คอมมูนิตี้นี้ ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ แง่มุม และเปิดพื้นที่สำหรับทุกท่าน ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัว โดยความร่วมมือของผู้ชำนาญด้านจิตศาสตร์และนิติศาสตร์คอยรับฟัง และให้คำแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการ

 

         เพจ “รักษาใจสู่สมดุล”

https://www.facebook.com/รักษาใจสู่สมดุล-Mind-Balance-Therapy-1525590614237527/

 //...................