พช. ผนึกกำลัง สภาสตรีฯ และ 4 จังหวัดภาคเหนือ รณรงค์ชวนคนไทยใส่ผ้าไทย

 

พช. จับมือสภาสตรีแห่งชาติฯ เดินหน้ารณรงค์ชวนคนไทยใส่ผ้าไทย สืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระพันปีหลวง ยกคณะขึ้นเหนือร่วมลงนาม 4 จังหวัดภาคเหนือ โครงการ "สืบสาน อนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทย ดำรงไว้ในแผ่นดิน"

 

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน(พช.) พร้อมด้วย ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติ ในพระบรมราชินูปถัมภ์ นางรชตพร โตดิลกเวชช์ ประธานคณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการประสานความร่วมมือ MOU ตามโครงการ “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน” กับ 4 จังหวัดภาคเหนือ ประกอบด้วย เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และแม่ฮ่องสอน เพื่อสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทย ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่

 

 

 

          ทั้งนี้ ผู้ที่ร่วมลงนามประกอบด้วย นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผวจ.เชียงใหม่ นางสดาภรณ์ สงวนสัตย์ นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีศรีล้านนาไทยเชียงใหม่ นายอาทร พิมชะนก พัฒนาการจ.เชียงใหม่ นายอดิศร กำเนิดศิริ รองนายกอบจ.เชียงใหม่ นางวรัญญา เลิศวรกิจพิพัฒน์ นายกสมาคมสตรีนครเชียงใหม่ และผู้แทนหน่วยงานภาคี รวม 11 หน่วยงาน ด้าน จ.ลำปาง มีนายชาตรี ธินนท์ พัฒนาการ จ.ลำปาง นายบพิตร วิทยาวิโรจน์ วัฒนธรรม จ.ลำปาง นางวรุณกาญจน์ จักวัฒนา และผู้แทนหน่วยงานรวม 4 หน่วยงาน ขณะที่ จ.แม่ฮ่องสอน มีนางนันทิยา วงศ์วานิชย์ นายกสมาคมสตรี จ.แม่ฮ่องสอน และ จ.ลำพูน มีนางศลิษา ภิรมย์รัตน์ นายกเหล่ากาชาดจังหวัดลำพูน นางอาภัสรา ธงพิทักษ์ รักษาราชการแทนพัฒนาการ จ.ลำพูน นายกสมาคมส่งเสริมวัฒนธรรมสตรีจามเทวีศรีหริภุญไชย จ.ลำพูน วัฒนธรรมจ.ลำพูน นายกสมาคมสตรีนักธุรกิจและวิชาชีพแห่งประเทศไทย จ.ลำพูน ประธานคณะกรรมการพัฒนาสตรี จ.ลำพูน และ ประธานสภาวัฒนธรรมจ.ลำพูนร่วมลงนาม

 

 

          โดยการลงนามในครั้งนี้ ทุกฝ่ายต่างประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันว่าจะร่วมส่งเสริมและอนุรักษ์ผ้าไทยให้คงอยู่ตลอดไป โดยมี ผู้บริหารกรมการพัฒนาชุมชน คณะกรรมการบริหารสภาสตรีแห่งชาติฯ ผู้นำท้องถิ่น ผู้แทนสตรีจากภาคเหนือ ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมเป็นสักขีพยานจำนวนมาก

 

 

          นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้นำแนวทางของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มาสนับสนุน ส่งเสริม ให้เกิดการรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเราเรียกว่ากลุ่ม OTOP ซึ่งเริ่มจากผ้าไทย จากนั้นได้มีช่างเงิน ช่างทอง ช่างแกะสลัก อาหารการกิน เครื่องประดับตกแต่ง ตลอดจนสมุนไพรต่างๆ เพิ่มขึ้น

 

          โดย การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้้ นับเป็นจุดเริ่มต้น ในการรณรงค์การใส่ผ้าไทย เพื่อสืบสานพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระพันปีหลวง ที่ได้ทรงมีพระวิริยะ อุตสาหะในการนำผ้าไหม ผ้าฝ้ายมาส่งเสริมให้คนไทยมีอาชีพจนเกิดเป็นผ้าไทย เพื่อเป็นการรักษา สืบสาน และต่อยอดภูมิปัญญาของคนในท้องถิ่น ผ้าทอไทยทุกผืนเกิดจากการถักทอด้วยลมหายใจของผู้หญิง และรายได้ที่เกิดจากการขายผ้า ก็นำมาส่งเสียบุตรหลานให้ได้รับการศึกษา ยกระดับคุณภาพชีวิต

 

 

          นอกจากนั้น ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจครัวเรือน หากใน จ.เชียงใหม่ และจังหวัดภาคเหนือ มีร่วมมือร่วมใจกันใส่ผ้าไทย ก็จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนเกี่ยวกับผ้าไทยได้อย่างมาก เมื่อมีความต้องการผ้าไทยมากขึ้น อาชีพการทอผ้าไทยก็จะไม่สูญหายไป ลูกหลานของเราก็จะเห็นความสำคัญหันมาทอผ้าเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังเป็นการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นไปยังลูกหลานเพื่อรักษาเอกลักษณ์และวัฒนธรรมไทยให้คงอยู่ต่อไป

 

 

          ขณะที่ ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ กล่าวว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้จัดทำโครงการ “สืบสานอนุรักษ์ศิลป์ผ้าถิ่นไทยดำรงไว้ในแผ่นดิน” มีวัตถุประสงค์นอกจากสืบสานพระราชปณิธานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในการอนุรักษ์ส่งเสริมและเผยแพร่ผ้าไทยศิลปะอันล้ำค่าของชาติให้ดำรงคงอยู่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยแล้ว ยังต้องการปลุกกระแสความนิยมการแต่งกายผ้าไทยแก่ประชาชนทั่วประเทศ จะช่วยสร้างงานสร้างอาชีพและเสริมสร้างรายได้ให้กับกลุ่มสตรีในท้องถิ่นชนบทเป็นอย่างมาก

 

          ประธานสภาสตรีแห่งชาติฯ ยังกล่าวอีกว่า สภาสตรีแห่งชาติฯ ได้เดินหน้ารณรงค์สวมใส่ผ้าไทยมาแล้ว 23 จังหวัด รวมครั้งนี้ด้วย รวมเป็น 27 จังหวัด เราตั้งเป้าไว้ให้ครบ 76 จังหวัด ที่ผ่านมาได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดีทุกจังหวัดมีความตื่นตัวให้การสนับสนุนเป็นอย่างดี และถ้าหากคนไทยร่วมใจกันแต่งกายด้วยผ้าทอไทยเป็นประจำทุกวัน แค่ 35 ล้านคน เฉลี่ยซื้อคนละ 10 เมตร จะมีความต้องการผ้าไทย 350 ล้านเมตร ราคาเมตรละ 300 บาท คิดเป็นเงิน กว่า 100,000 ล้านบาท

 

 

          "การร่วมกันใส่ผ้าไทยจะช่วยส่งเสริมการทอผ้าในชุมชน โดยเฉพาะการสร้างงาน สร้างอาชีพให้แก่กลุ่มสตรีกว่า 90% ให้มีรายได้ ยกระดับคุณภาพชีวิตของสตรี ครอบครัว และชุมชน รวมถึง ลดปัญหาการว่างงาน ปัญหาการย้ายถิ่นฐาน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่นความภาคภูมิใจของคนไทยให้คงอยู่ต่อไป จึงอยากจะเชิญชวนร่วมกันรณรงค์ช่วยกันใส่ผ้าไทยตั้งแต่คนในบ้าน จะเป็นการสร้างตลาดและสร้างเม็ดเงินจำนวนมาก" ดร.วันดีกล่าว