กสอ. ผสาน ศูนย์ ITC 4.0 – Thai IDC และ SSRC ดันเอสเอ็มอีไทย ยุค 4.0

กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ผสานกำลังขับเคลื่อนเอสเอ็มอีไทยผ่านศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center: ITC 4.0) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai-IDC) และ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 17,000 ราย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,400 ล้านบาท



 

          นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ผ่านหน่วยงานที่เป็นกำลังหลัก 3 หน่วยงาน คือ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center: ITC 4.0) ศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai-IDC) และ ศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC)  สำหรับ ศูนย์ ITC 4.0 ได้ให้การสนับสนุนภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทั้งด้านเครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ความสามารถ โดยการผลิตสินค้าต้นแบบ เพื่อนำไปทดสอบตลาดและปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดก่อนดำเนินการผลิตจริงในเชิงพาณิชย์ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนในการประกอบกิจการ โดยดำเนินการตามแพลทฟอร์มบริการ 4 ส่วน ได้แก่ 1. ITC Match เชื่อมโยงความต้องการของอุตสาหกรรมไทย ผู้นำด้านอุตสาหกรรมโลกและบริษัทขนาดใหญ่ภายในประเทศให้สามารถดำเนินการสอดคล้องกันได้อย่างลงตัว 2. ITC Innovate สาธิตและฝึกอบรมร่วมกันระหว่างภาครัฐภาค เอกชน และสถาบันการศึกษา เพื่อสรรค์สร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ 3. ITC Share บริการเครื่องมือ เครื่องจักรต่าง ๆ ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟแวร์ กำลังคนที่มีทักษะสูงเพื่อสรรค์สร้างผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง และ/หรือ นวัตกรรม และ 4. ITC Fund ศูนย์กลางในการแนะนำด้านบัญชีและการเงิน รวมทั้งสิทธิประโยชน์ด้านการเงิน จากสถาบันการเงินหรือภาครัฐ ศูนย์ ITC 4.0 เริ่มดำเนินการ เมื่อปลายปี พ.ศ. 2559 ถึงปัจจุบัน มีศูนย์ให้บริการจำนวน 105 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ ซึ่งดำเนินการโดย กสอ. มีจำนวน 14 แห่ง แบ่งเป็น ส่วนกลาง จำนวน 1 แห่ง และส่วนภูมิภาค จำนวน 12 แห่ง (ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคของ กสอ.ทั้ง 11 แห่ง) โดยมีผู้เข้ารับบริการผ่านศูนย์ ITC 4.0 ของ กสอ. จำนวน 17,000 ราย ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 3,400 ล้านบาท

 

 

          นอกจากนี้ ยังมีการจัดตั้งศูนย์ ITC จังหวัด (สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด) จำนวน 76 จังหวัด ITC SME (การนิคมอุตสาหกรรมฯ) จำนวน 13 แห่ง และ ITC อุตสาหกรรมรายสาขา ประกอบด้วย Mie Thailand Innovation Center (สถาบันอาหาร) CoRE ITC (สถาบันไทยเยอรมัน) Recycle ITC (กรมพัฒนาอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่) และ RUN (Research University Network)  โดยมีเครือข่ายร่วมเป็น Big Brother เพื่อขับเคลื่อน เช่น DENSO Toyota DELTA NACHI ตลอดจนเชื่อมโยงไปสู่ Digital Value Chain

 

          ขณะเดียวกัน กสอ. ยังได้เล็งเห็นความสำคัญของการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า โดยได้ก่อตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thailand Industrial Design Center: Thai-IDC) ขึ้น เพื่อเป็นหน่วยงานกลางในการเชื่อมโยงบริการด้านการออกแบบให้แก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม สามารถนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับสินค้าอุตสาหกรรมไปสู่สินค้าที่มีมูลค่าสูง โดยมีเป้าหมายสำคัญ 4 ประการ คือ 1. การยกระดับ Brand Thai ให้เป็น International Brand : Thai Brand shift up  2. Hub of Design Solution 3. Modern Culture Integration และ 4. Co-Design โดยดำเนินการส่งเสริมให้มีพื้นที่สำหรับการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ร่วมกันระหว่างผู้ประกอบการ นักออกแบบ และผู้ที่เกี่ยวข้อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ หรือต่อยอดงานวิจัยสู่การพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ ส่งผลให้เกิดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันสนับสนุน ส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ รวมทั้งกระตุ้นแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ประกอบการ SME ที่จะนำประโยชน์ของการออกแบบพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยกระดับกระบวนการผลิตให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ คุณลักษณะ และประโยชน์ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ โดยขณะนี้มีผู้เข้ารับบริการผ่านศูนย์ Thai-IDC กว่า 1,300 คน ออกแบบและสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 400 ผลิตภัณฑ์ ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 94 ล้านบาท

 

 

          นอกจากการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีในด้านต่าง ๆ แล้ว กสอ. ยังมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี (SME Support & Rescue Center: SSRC) เพื่อสนับสุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและการพัฒนาเชื่อมโยงการบริการของหน่วยงานเครือข่าย พร้อมกลั่นกรองคำขอรับบริการส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริการจัดผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา รวมทั้งให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ สร้างเครือข่ายผู้ให้บริการ ประชาสัมพันธ์โครงการ/ผลิตภัณฑ์ และมาตรการต่าง ๆ ในการส่งเสริม SMEs โดยให้บริการแก่ SMEs ที่ประสบปัญหาทางธุรกิจในทุกพื้นที่ให้สามารถเข้าถึงบริการทั้งในด้านการเงินและด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่การเงิน โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด กระทรวงอุตสาหกรรม ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 1-11 ศูนย์วิจัยและพัฒนาวัสดุอุตสาหกรรมสร้างสรรค์  จังหวัดลำปาง ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ศูนย์ให้บริการ OSS (SME One-Stop Service Center) ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว./SME Bank) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และหน่วยงานเครือข่าย รวมทั้งสิ้น 270 แห่งทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มการทำงานเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงการบริการทั่วประเทศ เชื่อมโยงกลไกและบริการทั้งหมด ผ่านระบบดิจิทัล เพื่อให้สามารถส่งเสริมและสนับสนุน SMEs ได้อย่างคล่องตัว รวดเร็ว และตรงตามความต้องการของ SMEs ทั่วประเทศมากที่สุด นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย