ชี้ชัด ๆ ! เหตุที่ ‘สหรัฐ’ ค้าน ‘ไทย’ แบน ‘ไกลโฟเซต’

ชี้ชัด ๆ ! เหตุที่ สหรัฐค้าน ไทยแบน ไกลโฟเซต

 

“ไบโอไทย” เปิดข้อมูล “สหรัฐ” คัดค้าน “ไทย” แบน “ไกลโฟเซต” ระบุ ทับซ้อนผลประโยชน์บริษัทเอกชนรายใหญ่ ที่สำคัญ ส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์การส่งออกสินค้า ของ “สหรัฐ” มา “ไทย” ประมาณ 51,000 ล้านบาท/ปี เพราะ “สหรัฐ” ยังไม่แบน “ไกลโฟเซต” และมีการใช้ “ไกลโฟเซต” ในปริมาณมหาศาล

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แฟนเพจ “มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI” ได้โพสต์ข้อความและรูปภาพ ชี้แจงถึงสาเหตุที่สหรัฐอเมริกา คัดค้านประเทศไทย ที่ได้แบนสารเคมี “ไกลโฟเซต” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“นอกเหนือจากเหตุผลที่ไบโอไทยวิเคราะห์การที่รัฐบาลสหรัฐคัดค้านการแบนไกลโฟเซตว่าเกิดขึ้นเนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างการใช้ไกลโฟเซตกับพืชดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัทมอนซานโต้-ไบเออร์ ซึ่งมีอิทธิพลสูงในรัฐบาลสหรัฐแล้ว เนื้อหาในหนังสือของ USDA ที่ส่งมายังนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี 7 คนในรัฐบาล ยังระบุว่า การแบนไกลโฟเซตจะกระทบกับการส่งออกสินค้าสหรัฐมายังประเทศไทย โดยระบุว่าจะกระทบกับการส่งออกข้าวสาลี ถั่วเหลือง และองุ่น เป็นต้น

 

ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560

เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.อาหาร 2522 นั้น ในข้อ 4 ระบุว่า

 

"ข้อ 4 อาหารที่มีสารพิษตกค้างต้องมีมาตรฐาน โดยตรวจไม่พบวัตถุอันตรายทางการเกษตร ชนิดที่ 4 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 ตามบัญชีหมายเลข 1 แนบท้ายประกาศนี้"

 

ดังนั้นการประกาศให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายอาจจะกระทบกับการส่งออกผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรของสหรัฐที่มีการใช้ไกลโฟเซตมายังประเทศไทยในอนาคต เนื่องจากสหรัฐยังมิได้แบนไกลโฟเซต และมีการใช้ไกลโฟเซตปริมาณมหาศาลเนื่องจากการใช้พืชดัดแปลงพันธุกรรมต้านทานราวด์อั๊พในสหรัฐ และผลการตรวจพบว่าถั่วเหลือง ข้าวโพด และผลิตภัณฑ์หลายชนิดปนเปื้อนไกลโฟเซตในระดับต่างๆ จนรัฐบาลสหรัฐประกาศเพิ่มค่า MRL ของไกลโฟเซตหลายเท่า เพื่อให้ระดับการตกค้างในผลผลิตไม่ผิดกฎหมายในสหรัฐเอง

 

ในหนังสือของรัฐบาลสหรัฐระบุว่า การแบนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของสหรัฐประมาณ 51,000 ล้านบาท/ปี ในขณะที่ข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรระบุว่า ในปี 2561 ประเทศไทยนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐมีมูลค่า 73,194,348,000 บาท ตามภาพ

 

ในกรณีรัฐบาลสหรัฐนั้น เมื่อ EPA ประกาศแบนคาร์โบฟูราน หรือชื่อการค้าที่คนไทยรู้จักดี "ฟูราดาน" ซึ่งผู้ผลิตรายใหญ่คือบริษัทสหรัฐ FMC นั้น รัฐบาลสหรัฐแม้จะยกเลิกค่า MRL สำหรับผลิตผล/ผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศของตน(ซึ่งหมายถึงจะมีสารพิษดังกล่าวตกค้างในสินค้าไม่ได้) แต่ก็อนุญาตให้ผลผลิตนำเข้าที่ส่งจากต่างประเทศมายังสหรัฐสามารถมีฟูราดานตกค้างได้ แต่ต้องไม่เกินค่ามาตรฐาน ทั้งนี้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทสหรัฐเอง ที่จะสามารถส่งคาร์โบฟูรานไปขายยังประเทศอื่นได้อย่างชอบธรรม แม้ประเทศตนจะแบนสารดังกล่าวแล้วก็ตาม

 

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้แม้คณะกรรมการวัตถุอันตรายจะมีมติให้ไกลโฟเซตเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 แล้วก็ตาม โดยให้มีผลในวันที่ 1 ธันวาคม 2562 แต่ ตามบัญชีท้ายคำประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 ในบัญชี 1 ยังมิได้รวมไกลโฟเซตอยู่ในรายชื่อแต่ประการใด

 

ผลกระทบต่อผลประโยชน์ของรัฐบาลสหรัฐจึงยังมิได้เกิดขึ้นแต่ประการใด ทั้งนี้โดยไม่ต้องกล่าวถึงว่าที่ผ่านมาประเทศไทยแทบมิได้มีการตรวจสารพิษตกค้างในธัญพืชสำคัญ ทั้งข้าวสาลี และถั่วเหลืองที่นำเข้ามาจากสหรัฐเลยก็ตาม”

 

 

 

//................

CR: เพจ “มูลนิธิชีววิถี BIOTHAI

https://www.facebook.com/biothai.net/ 

//................