เมื่อ 'ขยะล้นเมือง' แต่ละประเทศมีวิธีจัดการกับขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง ?

เมื่อ 'ขยะล้นเมือง' แต่ละประเทศมีวิธีจัดการกับขยะพลาสติกอย่างไรบ้าง ?

 

ปัญหาขยะล้นเมืองไม่ใช่หน้าที่ของผู้ที่เก็บขยะ แต่เป็นหน้าที่ของคนที่สร้างขยะ หากคุณคือส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะตื่นตัวและแก้ปัญหาร่วมกัน

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการใช้ถุงพลาสติกมากขึ้น ซึ่งได้มีการวางมาตรการลดละเลิกพลาสติกอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีถุงพลาสติกของประเทศอังกฤษ การห้ามใช้อุปกรณ์ทานอาหารที่ทำจากพลาสติกของประเทศฝรั่งเศส รวมไปถึงประเทศในแถบแอฟริกาอย่างเคนย่าที่ออกกฎหมายแบนพลาสติกอย่างเข้มงวด

 


 

อังกฤษ ออกนโยบายเก็บภาษีถุงพลาสติกตามร้านค้าขนาดเล็ก

 

ก่อนหน้านี้ร้านค้าปลีกขนาดเล็กที่ได้รับการยกเว้นการเก็บภาษี ได้ใช้ถุงพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งปีละ 3.6 ล้านถุง ส่งผลให้ Theresa Mary นายกรัฐมนตรีแห่งสหราชอาณาจักรต้องออกมาผลักดันนโยบายใหม่นี้ให้ครอบคลุมร้านค้าทุกร้านในสหราชอาณาจักร และปรับขึ้นภาษีถุงพลาสติกเป็น 2 เท่า ภายในปี 63 นี้ จากใบละ 5 เพนซ์ (ประมาณ 2 บาท)/1 ถุง เป็น 10 เพนซ์/1 ถุง

 

นโยบายดังกล่าวไม่ได้พุ่งเป้าไปที่การใช้ถุงพลาสติกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการใช้แก้วกาแฟแบบใช้แล้วทิ้งปริมาณกว่า 2.5 พันล้านใบต่อปี จนมีการเรียกร้องผ่านโครงการรณรงค์ให้เก็บค่าธรรมเนียมแก้วอย่างน้อย 25 เพนซ์ หรือราว 10 บาท โดยเรียกว่า ภาษีลาเต้

 


 

ฝรั่งเศส ประกาศกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหารที่ทำจากพลาสติก

 

ประกาศกฎหมายห้ามใช้อุปกรณ์รับประทานอาหาร เช่น มีด ส้อม ช้อน จาน และแก้ว ที่ทำจากพลาสติกโดยกฎหมายดังกล่าวจะมีผลใน ค.ศ. 2020 และเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสู่การเติบโตสีเขียว (Energy Transition for Green Growth Act) ที่ได้ประกาศแบนถุงพลาสติกทั่วประเทศ

 

สำหรับกฎหมายที่กำลังจะบังคับใช้ในฝรั่งเศส ระบุให้จำหน่ายหรือใช้ผลิตภัณฑ์สำหรับรับประทานอาหารที่เป็นพลาสติกที่มีส่วนผสมของวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติอย่างน้อยร้อยละ 50 เท่านั้น ข้อบังคับดังกล่าวเกิดจากการบรรลุข้อตกลงปารีส ที่มีเป้าหมายรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา นับว่าเป็นประเทศแรกในโลกที่ข้ามผ่านการแบนถุงพลาสติกสู้พลาสติกสำหรับรับประทานอาหาร

 


 

เคนยา ออกกฎหมายแบนพลาสติก หากฝ่าฝืนมีโทษจำคุกสูงสุด 4 ปี

 

เมื่อปี 2560 รัฐบาลเคนย่าได้ออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกในประเทศ โดยกำหนดให้จำกัดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกทุกรูปแบบ ตั้งแต่ห้ามไม่ให้มีกระบวนการผลิต รวมถึงห้ามขาย และห้ามใช้ถุงพลาสติก อย่างเด็ดขาด

 

หากฝ่าฝืน จะต้องโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือ ถูกปรับเป็นเงินกว่า 1.3 ล้านบาท (4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐ) อย่างไรก็ตามกฏหมายที่ออกมาจะมีการผ่อนผันก่อน โดยให้เวลาให้สูงสุด 180 วัน เพื่อให้ทั้งผู้ผลิต และผู้บริโภค ได้มีโอกาสเตรียมความพร้อม

 

แม้นักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจะเห็นด้วยกับกฎหมายนี้ แต่สำหรับประชาชนแล้วก็ยังไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดซะเดียว เนื่องจากรัฐบาลยังไม่มีนโยบายสนับสนุนให้ใช้บรรจุภัณฑ์อื่นแทนถุงพลาสติก

 


 

ไทย กำหนดแผนจัดการขยะพลาสติก ลดพลาสติกใช้แล้วทิ้ง 70 % ภายในปี 2580

 

ในส่วนของประเทศไทยเองได้มีแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) รวมถึงกำหนดการลดและเลิกใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single-use Plastic) 7 ชนิด ซึ่งในปี 2562 มีพลาสติก 3 ชนิดที่จะถูกยกเลิกใช้ คือ Cap seal พลาสติกหุ้มขวดน้ำดื่ม ซึ่งได้ยกเลิกใช้ไปแล้วในบางยี่ห้อ  ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีส่วนผสมของสารประเภทอ๊อกโซ่ (Oxo) และไมโครบีทจากพลาสติก (Microbead)

 

ในปี 2565 มีพลาสติก 2 ชนิดที่จะถูกยกเลิกใช้คือ ถุงพลาสติกหูหิ้วขนาดความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน และกล่องโฟมบรรจุอาหาร ส่วนในปี 2568 จะมีแก้วน้ำพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวและหลอดพลาสติก ที่จะถูกยกเลิกใช้ โดยมีเป้าหมายลดการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง ลงให้ได้ 70 % ภายในปี พ.ศ. 2580

 

 

//...................

                หมายเหตุ :

                บทความ "นูรซาลบียะห์ เซ็ง" เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

                ภาพประกอบ "กชกร พันธุ์แสงอร่าม" เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

                https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/เมื่อขยะล้นเมือง-แต่ละป/?fbclid=IwAR0Klrzx2opJIRxw3DIs0H9oMJijRHF7GTi7VaDP00ftI7lzyO_nMwJ-eRw 

//...................