หลงรัก “ผ้ากาบบัว บ้านคำปุน” ผ้าทอพื้นถิ่น ของขวัญล้ำค่าเมืองอุบล

 

...ผ้าที่เราพยายามสร้างขึ้นมาวันนี้ อาจยังไม่เป็นมรดกของเรา แต่ในโอกาสข้างหน้าผ้านี้จะเป็นมรดกของลูกหลานของแผ่นดินอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครที่จะใช้ผ้าไทยได้งามเท่าคนไทย...

 

 

          คำบอกเล่าจากหัวใจของ “มีชัย แต้สุจริยา” ลูกชายของ “คำปุน ศรีใส” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 เป็นหลานยายของ “คุณยายน้อย จิตตะยโศธร” ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองยโสธร และนำพา “ผ้ากาบบัว” ข้ามผ่านกาลเวลาเป็นมรดกแผ่นดินให้ชื่นชมกันในปัจจุบัน 

 

 

 

          ผลกระทบจากอุทกภัยที่เพิ่งพ้นผ่าน ทำให้ “จังหวัดอุบลราชธานี” เป็นที่จับจ้องจากหลายฝ่าย ทั้งการช่วยเหลือผู้ประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัย รวมไปถึงการฟื้นฟูเยียวยาหลังน้ำลดผ่านธารน้ำใจที่ไหลหลั่งไปช่วยเหลือ ที่น่าเชื่อและมีความคาดหวังอย่างเต็มเปี่ยมว่าจะสามารถช่วยให้ชีวิตของพี่น้องชาวอุบล กลับคืนสู่ภาวะปกติในเร็ววัน 

 

 

          นอกเหนือจากเรื่องราวดังกล่าว หลายคนอาจจะเคยได้ยินได้ฟังมาก่อนหน้านี้ว่า “อุบลราชธานี” เป็นหนึ่งในเมืองทอผ้าที่ยิ่งใหญ่มาตั้งแต่อดีต เมื่อสังคมไทยเริ่มเปลี่ยนแปลงสู่ความนิยมสมัยใหม่ มีแฟชั่นจากต่างประเทศหลั่งไหลเข้ามาชวนให้ตื่นตาตื่นใจ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ผ้าทอเมืองอุบลซึ่งขึ้นชื่อมายาวนานจะได้รับความนิยมลดน้อยลงเช่นกัน เหลือเพียงไม่กี่บ้านที่ยังคงทอผ้า และหนึ่งในร่องรอยที่หลงเหลืออยู่ในปัจจุบันก็คือ บ้านของทายาทตระกูล “จิตตะยโศธร” ซึ่งสืบเชื้อสายจากเจ้าเมืองยโสธร “คุณยายน้อย จิตตะยโศธร” คุณยายของ “มีชัย แต้สุจริยา” ลูกชายของ “คำปุน ศรีใส” ศิลปินแห่งชาติ ปี 2561 คือหนึ่งในผู้ที่สืบทอดการทอผ้ากันมาจากรุ่นสู่รุ่น  และเพราะรับรู้ถึงความล้ำค่ามาตั้งแต่วัยเยาว์ “มีชัย” จึงมีปณิธานแน่วแน่ว่าจะต้องสืบทอดวัฒนธรรมนี้สู่ลูกหลานต่อไป

 

 

          “ผ้ากาบบัว บ้านคำปุน” คือผลลัพธ์แห่งปณิธาน ที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าและเอกลักษณ์อันงดงาม โดย “มีชัย” เล่าถึงจุดเริ่มต้นคือเมื่อราวปี 2543 จังหวัดอุบลราชธานีต้องการให้มีผ้าเอกลักษณ์ของจังหวัด จึงได้มอบหมายให้ “มีชัย” เป็นผู้ดูแลเรื่องทอผ้า เพราะในจังหวัดอุบลราชธานีเหลือแต่โรงงานคำปุนเท่านั้นที่ยังเป็นแหล่งทอผ้าพื้นถิ่นเพียงแห่งเดียวที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน นั่นเป็นโอกาสทำให้ได้คิดค้นออกแบบ “ผ้ากาบบัว” ขึ้นมา โดยการนำเอาเทคนิค 4 ประเภทของการทอมาผสมผสานขึ้น

 

 

 

 

          เทคนิค 4 ประเภทที่ว่า เริ่มจากการทอ “ผ้ามัดหมี่” เป็นหลัก ประเภทที่ 2 เป็น “เส้นใยหางกระรอก” ที่เกิดจากการนำไหมสองสีมาปั่นตีเกลียว ทำให้เกิดลวดลายโดยที่ไม่ใช่ผ้าพื้นเรียบ โดยโบราณดั้งเดิมแต่ละครอบครัวจะทอผ้าหางกระรอกไว้ให้ลูกชายนุ่งโจงสำหรับงานบวช รวมทั้งวาระสุดท้ายเพื่อเป็นผ้าคลุมศพ ประเภทที่ 3 คือ “ขิด” ซึ่งเป็นการทอด้วยวิธีพิเศษ คือใช้ไม้เก็บขิด ที่แปลว่าสะกิดเส้นยืนเพื่อให้เกิดลวดลายนูนบนผ้า “ผ้าขิด” หรือ “ผ้ายก” ซึ่งเป็นกรรมวิธีแบบเดียวกัน เพียงแต่เรียกคนละคำเท่านั้นเอง และอีกประเภทที่ทำให้ผ้ากาบบัวโดดเด่นคือ ลายริ้วขวางลำตัว หรือในจังหวัดอุบลราชธานีเรียกว่า “ผ้าซิ่นทิว” คือการนำเส้นริ้วขวางเป็นเส้นยืน เรียกว่า “เครือทิว” 

 

 

 

 

          สิ่งสำคัญของ “ผ้ากาบบัว” จะต้องมีครบทั้งสี่เทคนิค เป็นการสร้างนวัตกรรมใหม่ก่อให้เกิดเอกลักษณ์ และยังเป็นอุบายให้ช่างที่ทอมัดหมี่ไม่ค่อยชำนาญได้ฝึกทอขิดหรือยก การที่รวมเทคนิคนี้ทำให้ช่างที่เริ่มฟื้นฟูการทอผ้าได้ฝึกทักษะของตัวเองอีกด้วย โดยตลอดเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ผ้ากาบบัวได้ก่อให้เกิดการรวมตัวสร้างเป็นกลุ่มทอผ้าขึ้น รวมทั้งยังสร้างรายได้สู่ชุมชนได้อย่างเห็นได้ชัดในหลายหมู่บ้าน อาทิ หมู่บ้านหนองบ่อ หมู่บ้านลาดสมดี หมู่บ้านบ้านบอน หมู่บ้านสมพรรัตน์ และเกิดผ้าพื้นถิ่นที่เป็นอัตลักษณ์อย่างแท้จริง จนกระทั่งในปี 2557 กระทรวงวัฒนธรรมได้ยกย่องขึ้นทะเบียน “ผ้ากาบบัว” ให้เป็น “มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ”

 

 

 

 

          “บ้านคำปุน” ถือเป็นต้นแบบการทอผ้ากาบบัว โดยได้รับการจดทะเบียนกลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP จากกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เป็น “ชุมชนบ้านทอผ้ากาบบัว” ซึ่งการรวมตัวเป็นกลุ่มนั้นสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนมากขึ้น ตัวอย่าง “ชุมชนบ้านหนองบ่อ” ซึ่งทอผ้ากาบบัวเป็นหลัก สามารถสร้างรายได้อย่างเห็นได้ชัด มีการจัดอบรมการทอผ้ากาบบัว ทำให้รู้วิธีคิดต้นทุน วัตถุดิบที่ใช้ อีกทั้งยังเป็นการช่วยยกระดับผ้าทอ และเมื่อเกิดการรวมตัวเป็นกลุ่มทำให้มีเป้าหมายในการทำงานที่ชัดเจนร่วมกัน และยังสามารถรักษาเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ไว้ได้เป็นอย่างดี ทำให้ทุกวันนี้ “ผ้ากาบบัว” เป็นหนึ่งในผ้าที่เหล่าคนรักผ้าไทยพากันหลงรัก ครองใจคนได้อย่างเหนียวแน่น  

 

 

 

 

          “พวกเราเป็นช่างทอผ้าที่สืบทอดภูมิปัญญานี้ พยายามจะรักษาคุณภาพและเอกลักษณ์ไว้เป็นอย่างดี อยากให้คนไทยลองหันมามองผ้าไทยของเรา เพราะผ้าที่เราพยายามสร้างขึ้นมาวันนี้ อาจยังไม่เป็นมรดกของเรา แต่ในโอกาสข้างหน้าผ้านี้จะเป็นมรดกของลูกหลานของแผ่นดินอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครที่จะใช้ผ้าไทยได้งามเท่าคนไทย การที่เราเลือกใช้ผ้าทอไม่ได้เพียงช่วยสนับสนุนอาชีพช่างทอผ้าเท่านั้น แต่ยังสืบต่อลมหายใจวัฒนธรรมในการทอผ้าให้คงอยู่ยั่งยืนต่อไปอีกด้วย” ผู้สืบทอดผ้าทอล้ำค่าแห่งเมืองอุบลกล่าวทิ้งท้าย