‘พะยูน’ ตายอีกแล้ว ! ปีนี้ ตายแล้ว 21 ตัว มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ !

พะยูน ตายอีกแล้ว ! ปีนี้ ตายแล้ว 21 ตัว มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ !

 

พะยูน ตายอีกแล้ว ! ปีนี้ ตายแล้ว 21 ตัว มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ! “ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” ระบุ 90 % “ความตาย” ของ “พะยูน” เกิดจากผลของมนุษย์ ย้ำ ต้องแก้ปัญหา ให้ทั้ง “ชาวบ้าน” และ “พะยูน” อยู่ร่วมกันได้ เผย ยังมีข่าวดี “พีพีโมเดล” ทำ “แนวปะการังพีพี” ฟื้นตัว เดินหน้า ผลักดัน แนวปะการังชุมชน

 

ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบ ผ่าน เฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” ระบุถึงการตายของ “พะยูน” ตัวที่ 21 ในรอบปีนี้ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“พะยูนตายอีกแล้วครับ นับเป็นตัวที่ 21 ในปีนี้ มากที่สุดเป็นประวัติการณ์

 

พะยูนตัวนี้ตายอยู่ที่แหลมไม้ตาย บ้านทุ่งรัก อำเภอคุระบุรี จ.พังงา (ใกล้เกาะระ/พระทอง)

 

เพื่อนธรณ์อาจสงสัย ไม่ใช่ที่ตรัง/กระบี่หรือ ?

 

พะยูนในไทย 250 ตัว อยู่ตรัง/กระบี่ 200 ตัว ที่เหลืออยู่ตามแหล่งอื่นอีก 11 แห่ง รวมเป็น 12 แหล่งทั่วไทย

 

ทะเลชายฝั่งคุระบุรีถือเป็นแหล่งหญ้าทะเลใหญ่สุดในพังงา และเป็น 1 ใน 12 เขตที่อยู่ในแผนอนุรักษ์พะยูนใน #มาเรียมโปรเจ็ค

 

สาเหตุการตายเห็นชัด ลองดูภาพ จะเห็นอวนดักปลาติดอยู่ พะยูนเป็นสัตว์หายใจด้วยปอด เมื่อติดอวนก็จมน้ำตาย

 

ตามที่เคยบอกไว้ 90 % ของพะยูนที่ตายจากผลของมนุษย์ เป็นปัญหาจากเครื่องมือประมง

 

การทำประมงทับซ้อนในพื้นที่หากินพะยูน จำเป็นต้องวางแผนในการแก้ไขอย่างรอบคอบ มิใช่ออกกฎเกณฑ์ไปเรื่อย โดยที่ปฏิบัติตามไม่ได้

 

แผนอนุรักษ์พะยูนที่คณะสัตว์ทะเลหายากเพิ่งเสนอผ่านคณะกรรมการทะเลแห่งชาติ รอเข้าครม. จะเน้นเรื่องการหาทางอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับพะยูน โดยตั้งเป้า 12 พื้นที่ รวมทั้งตรงนี้ด้วย

 

ผมพูดคุยกับพี่น้องแถวนั้น เขาก็อยากให้เกิดการอนุรักษ์อย่างจริงจังสักที โดยอาจนำตัวอย่างจากตรังมาประยุกต์ใช้

 

ให้ชาวบ้านอยู่ได้ พะยูนอยู่ได้ มิใช่อนุรักษ์อย่างเดียวจนชาวบ้านไม่รักพะยูน

 

ถึงตอนนี้ คงไม่มีอะไรจะเสนอแนะอีกแล้ว ยกเว้นภาวนาให้ 21 พะยูนในปีนี้ไปสู่สวรรค์ และอย่าให้มีตัวที่ 22 เลย

 

สุดท้ายที่หวังคือขอให้ มาเรียมโปรเจ็ค ผ่านครม. ได้งบพอเพียงตามที่ขอ และแผนอนุรักษ์ 3 ปี (63-65) เดินหน้าเต็มตัว

 

เราสูญเสียมากเกินไปแล้วจริง ๆ

 

หมายเหตุ​ ผู้พบซาก​ นายสำราญ​ บุตรน้อย ขอบคุณมากครับ”

 

 

         อย่างไรก็ตาม นอกจาก “ข่าวร้าย” เกี่ยวกับความตายของ “พะยูน” ตัวที่ 21 ในรอบปีนี้แล้ว ยังมีเรื่องราวของ “ข่าวดี” อันว่าด้วยการฟื้นตัวของ “แนวปะการัง” ตามแนวทาง “พีพีโมเดล” โดย ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ได้โพสต์ข้อความพร้อมภาพประกอบ โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

“เมื่อนึกถึงแนวปะการัง เราจะคิดถึงปะการังในที่ลึก ต้องดำน้ำไปดู แต่เขตแนวปะการังเริ่มจากชายหาด และพื้นที่ได้รับผลกระทบมากสุดก็คือเขตน้ำตื้น ทั้งตะกอน/ขยะ/น้ำเสีย ยังรวมถึงการนำเรือเข้าออก และการจับสัตว์น้ำในช่วงน้ำลงต่ำ

 

การดูแลนอกจากแจ้งประชาสัมพันธ์ ยังรวมถึงการตรวจตราของเจ้าหน้าที่ (ในเขตอุทยาน)

 

 

สำหรับ #พีพีโมเดล เราเน้นแนวปะการังในเขตชุมชนสำคัญที่พีพีดอน คืออ่าวต้นไทรและอ่าวโละดาลัม โดยเฉพาะโละดาลัมมีแนวกว้างมาก

 

สมัยเริ่มต้น เราไม่มีหน่วยพิทักษ์อยู่บนเกาะพีพีดอน ทำให้ทำงานลำบาก มีข่าวว่าหอยมือเสือโดนแรงงานต่างชาติจับเป็นประจำ ปะการังยังโดนทุบเพื่อจับหอยพวกนี้

 

แต่ท้ายสุด อุทยานจัดตั้งหน่วย พพ.7 บนเกาะพีพีดอน มีเจ้าหน้าที่ไปประจำนับสิบคน การทำงานจึงง่ายขึ้น ทั้งการประชาสัมพันธ์และการตรวจตราตอนน้ำลง

 

ช่วงนี้น้ำลงต่ำ เจ้าหน้าที่จึงออกตรวจทั้งสองอ่าว (คลิป) ไม่มีรายงานผู้กระทำผิด

 

 

เพื่อนธรณ์ ยังส่งภาพมาให้ดู ดูแล้วอยู่ในสภาพใช้ได้ มีหอยมือเสืออยู่หลายตัว แสดงว่าไม่ค่อยมีการทุบหรือจับสัตว์น้ำ

 

ยังพบปะการังขนาดเล็กหลายก้อนเจริญเติบโตดูดี เชื่อว่าในอนาคตหากช่วยกัน อาจมีมากกว่านี้

 

 

แนวปะการังชุมชนเป็นเรื่องที่ผมสนใจมาก เพราะเป็นดัชนีชี้วัดดีที่สุดว่า ชุมชน/การดูแลรักษาทะเล เป็นอย่างไร

 

หากเป็นไปได้ ในอนาคตจะหาทางผลักดันให้เกิด แนวปะการังชุมชนตามพื้นที่ต่างๆ ของไทยที่มีอยู่ไม่ต่ำกว่า 2-3 ร้อยแห่ง

 

สำหรับพีพี มีโอกาสเมื่อไหร่จะนำโดรนขึ้นสำรวจแถวนี้ ถ่ายภาพติดตามระยะยาวเหมือนเกาะยูง/มาหยา เพื่อดูว่าจะทำอย่างไรต่อได้

 

ปัญหาสำคัญคือน้ำเสียจากระบบบำบัดไหลลงบริเวณนี้ เท่าที่ทราบมีโครงการแล้ว รออยู่ว่าจะเริ่มจริงจังเมื่อไหร่ (เป็นเขตชุมชนนอกอุทยาน โครงการระดับกระทรวงครับ)

 

นำเรื่องมาบอกเพื่อนธรณ์ไว้ให้ยิ้มกันบ้าง ไม่ใช่มีแต่ข่าวเศร้า ๆ เพียงอย่างเดียวครับ”

 

//........................

          CR : Facebook Thon Thamrongnawasawat

//........................