ส่องมาตรการของภาครัฐ ในวันที่ฝุ่น PM2.5 ถล่มเมือง (อีกครั้ง)

ส่องมาตรการของภาครัฐ ในวันที่ฝุ่น PM2.5 ถล่มเมือง (อีกครั้ง)

 

หลังจากฤดูกาลฝุ่นช่วงต้นปี 2562 ในหลายพื้นที่ของประเทศได้ผ่านพ้นไปท่ามกลางคำถามของสาธารณะชนต่อมาตรการรับมือของหน่วยงานที่รับผิดชอบ ช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมามลพิษทางอากาศจากหมอกควันข้ามพรมแดนในสุมาตราและกาลิมันตันของอินโดนีเซียส่งผลให้คุณภาพอากาศรวมถึง PM2.5 อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อประชาชนหลายจังหวัดทางภาคใต้ ลมตะวันออกได้พัดพามวลอากาศสะอาดจากอ่าวไทยเข้าสู่พื้นที่ภาคใต้ ส่งผลให้ความเข้มข้น PM2.5 ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ในขณะที่อิทธิพลความกดอากาศสูงจากจีนก็ได้ส่งผลให้ความเข้มข้น PM2.5 ในหลายพื้นที่ของภาคกลางโดยเฉพาะกรุงเทพมหานครเพิ่มสูงขึ้นในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ

 

เราอาจจะได้รับคำอธิบายแบบเดิม ๆ จากหน่วยงานรัฐว่า ปัจจัยทางอุตุนิยมวิทยา(อุณหภูมิ ความเร็ว/ทิศทางลม ความกดอากาศ ความชื้นสัมพัทธ์ ฯลฯ) มีอิทธิพลต่อคุณภาพอากาศและในที่สุดก็อาจใช้เป็นข้ออ้างว่า เดี๋ยวคุณภาพอากาศก็น่าจะดีขึ้นและความเป็นจริงที่ใช้เป็นข้ออ้างนี้เอง ที่ทำให้มาตรการต่าง ๆ และการควบคุมมลพิษทางอากาศและฝุ่น PM2.5 จากแหล่งกำเนิด อยู่แต่บนกระดาษและในห้องประชุม

 

ในการส่องมาตรการของรัฐในวันที่ฝุ่น PM2.5 มาเยือนอีกครั้งหนึ่ง เราจะพิจารณาจาก รายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5) พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลและผลการดําเนินงานของกรมควบคุมมลพิษในปี พ.ศ.2562”

 

การติดตามตรวจสอบปริมาณฝุ่น PM2.5 และการดำเนินงานของกรมควบคุมมลพิษ

 

กรมควบคุมมลพิษได้เฝ้าระวัง ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักพบเกินมาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรระหว่างเดือนธันวาคม เมษายน ของทุกปี โดยมีสถานีตรวจวัด PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด 19 สถานี ดังรูป

 


จุดตรวจวัด PM2.5 ของกรมควบคุมมลพิษในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

กรมควบคุมมลพิษระบุว่า ทำการรายงานข้อมูลสถานการณ์ PM2.5 ในช่วงเดือนธันวาคมเมษายน) จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษและสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานคร เพื่อเฝ้าระวังและแจ้งเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนรับทราบข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย สะดวกและทันต่อสถานการณ์ผ่านช่องทางเว็บไซต Air4Thai และเฟซบุคแฟนเพจกรมควบคุมมลพิษเป็นประจําทุกวัน นอกจากนี้ยังใช้ข้อมูลดังกล่าวเพื่อแจงเตือนหน่วยงานที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการดําเนินมาตรการในการลดฝุ่น PM2.5 และการเฝ้าระวังและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนทั่วไปและประชาชนกลุ่มเสี่ยงตามสถานการณ์ PM2.5 อย่างต่อเนื่อง

 

กรมควบคุมมลพิษยังได้ใช้แบบจําลองทางคณิตศาสตร์พยากรณ์สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ล่วงหน้า 1 วัน ใน 11 พื้นที่ ซึ่งผลการพยากรณ์รายงานอยู่ในรายงานสถานการณ์ประจําวัน ในปี พ.ศ.2563 กรมควบคุมมลพิษจะพยากรณสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2561-เดือนพฤษภาคม 2562 มีการประชุมของกรมควบคุมมลพิษและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลทั้งหมด 16 ครั้ง โดยมุ่งขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองอย่างเป็นรูปธรรมภายในเดือนตุลาคม จากนั้นจะมีการประชุมมอบนโยบาย/แนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเดือนพฤศจิกายน 2562

 

ข้อคิดเห็นของกรีนพีซ

 

ขยายเครือข่ายสถานีตรวจวัด PM2.5 รายงานคุณภาพอากาศตามเวลาจริงรายชั่วโมงและใช้ฐานข้อมูลคาดการณ์คุณภาพอากาศในอีก 5-7 วันล่วงหน้า

 

ขอบเขตของอันตรายด้านสุขภาพจากมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะ PM2.5 ในประเทศไทย ส่งผลให้มีความต้องการเร่งด่วนในการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศแบบทันท่วงทีมากขึ้นเพื่อที่ประชาชนและชุมชนจะสามารถตัดสินใจบนพื้นฐานข้อมูลดังกล่าวและมีมาตรการระยะสั้นในการปกป้องสุขภาพของตนได้

 

เราเห็นได้ชัดเจนว่า การรายงานข้อมูลสถานการณ์ PM2.5 จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล(ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ราว 7,761 ตารางกิโลเมตร) จำนวน 19 จุดนั้นไม่เพียงพออย่างยิ่ง แม้ว่าจะมีการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อพยากรณ์สถานการณ์ PM2.5 ล่วงหน้า 1 วัน เพื่ออุดช่องว่าง แต่ข้อมูลในรายงานสถานการณ์ประจำวันที่รวมการพยากรณ์ก็ยากที่จะเข้าถึงอยู่ดี

 

ส่วนสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศของกรุงเทพมหานครที่มีกระจายอยู่ทุกเขตนั้นจะรายงานผ่านเว็บไซต์ http://bangkokairquality.com/bma/ ที่แยกต่างหากจากแพลทฟอร์มของกรมควบคุมมลพิษ แม้ว่ากรมควบคุมมลพิษจะนำข้อมูลมารายงานรวมกัน แต่ก็ไม่ได้ผนวกอยู่บนแอพพลิเคชั่น Air4Thai สร้างความลักลั่นในการสื่อสารมากขึ้นไปอีก

 

นอกเหนือจากความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศราคาสูงของหน่วยงานภาครัฐ การสร้างข้อมูลสาธารณะโดยเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศราคาต่ำเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเมืองและชุมชนเพื่อเร่งการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริงและเป็นข้อมูลของพื้นที่นั้นๆ จนถึงปัจจุบัน ยังไม่เห็นการสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมจากภาครัฐในเรื่องนี้ เราจึงได้เห็นเครือข่ายนักวิชาการริเริ่มนวัตกรรม เช่น Dust Boy ขึ้นเอง ส่วนประชาชนก็ต้องซื้อหาเครื่องมือมาติดตั้งโดยไม่รอภาครัฐ

 


เครือข่ายการตรวจวัด PM2.5 โดยใช้เครื่องมือขนาดเล็กมากกว่า 1,000 จุดที่ติดตั้งโดยประชาชนและกลุ่มต่างๆ ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

 

กรีนพีซ ยืนยันว่า การเข้าถึงข้อมูลคุณภาพอากาศตามเวลาจริง(รายชั่วโมง)เป็นแนวทางหน่ึงท่ีมี ประสิทธิภาพในการปรับปรุงคุณภาพอากาศ การรายงานคุณภาพอากาศที่ทันท่วงทีจะขยายการรับรู้ในทางสาธารณะเพื่อขับเคลื่อนการลงมือปกป้องสุขภาพ

 

ความก้าวหน้าในการควบคุมและลดมลพิษทางอากาศของจีนหลังจากดําเนินการตรวจวัดคุณภาพอากาศของประเทศคือตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าการเข้าถึงข้อมูลคุณภาพภาพอากาศตามเวลาจริงก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกต่อการกำหนดนโยบายและการจัดการคุณภาพอากาศของประเทศ

 

ปัจจุบัน จีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีโครงการตรวจวัดคุณภาพอากาศท่ีเข้มข้นที่สุดและเป็นผู้นำในการยกระดับการจัดการคุณภาพอากาศในเมืองหลักต่างๆ

 

วาระแห่งชาติ-มาตรฐานคุณภาพอากาศ PM2.5 ต้องเข้มงวดขึ้น

 

องค์การอนามัยโลก (WHO, 2011) ระบุว่าไม่มีหลักฐานท่ีชี้ว่ามีระดับฝุ่นละอองท่ีปลอดภัยหรือระดับฝุ่นละอองท่ีไม่แสดงผลเสียต่อสุขภาพอนามัย (There is no evidence of a safe level of exposure or a threshold below which no adverse health effects occur) ดังน้ัน จึงเป็นภาระกิจชองหน่วยงานรัฐทั้งในด้านสุขภาพอนามัยและหน่วยงานด้านควบคุมแหล่งกำเนิดจะต้องพยายามปรับปรุงมาตรฐานคุณภาพอากาศให้เข้มงวดข้ึนในระยะยาว

 

มาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศของประเทศไทยมีรูปแบบเดิมตามท่ีใช้ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งแตกต่างจากมาตรฐานนานาประเทศท่ีได้มีการพัฒนามาโดยตลอด และเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาตรฐานแตกต่างกันออกไป

 

มาตรฐานฝุ่นละอองในบรรยากาศประกอบด้วยมาตรฐานระยะสั้น (24 ชั่วโมง) และระยะยาว (1 ปี) ความแตกต่างของรูปแบบมาตรฐานอยู่ที่มาตรฐานระยะสั้นสำหรับประเทศไทยจะกำหนดค่าสูงสุดท่ีระดับฝุ่นละอองต้องไม่เกินแม้แต่วันเดียวในรอบปี มีข้อเสนอให้ปรับมาตรฐานฝุ่น PM10 และ PM2.5 ของประเทศไทยให้เป็นรูปแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ท่ี 95 กล่าวคือ ยอมให้มีจำนวนวันท่ีเกินมาตรฐานได้ร้อยละ 5 ใน 365 วัน (หรือเท่ากับ 18 วันในรอบปี)

 

การใช้รูปแบบมาตรฐานแบบเปอร์เซ็นต์ ไทล์มีความเหมาะสมกับพลวัตรของคุณภาพอากาศ การที่ความเข้มข้นสูงสุดของ PM2.5 มีความแปรปรวนสูงอาจได้รับอิทธิพลจากสภาพอุตุนิยมวิทยาท่ีเลวร้ายในเวลาสั้นๆ หรือมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่มากผิดปกติในพื้นท่ีหรือพัดพาจากพื้นที่อื่นในวันน้ัน เมื่อพบว่าค่าเกินมาตรฐานแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ จะเป็นส่ิงบอกเตือนหน่วยงานว่าต้องมีมาตรการระยะสั้นในการควบคุมมลพิษอากาศจากแหล่งกำเนิดไม่ให้เกินจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานที่ยอมได้

 

ด้วยเหตุนี้เอง จะต้องปรับตัวเลขความเข้มข้นของ PM2.5 ให้เป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และเพื่อนำไปสู่มาตรการที่เข้มงวดในการลดการปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิด ค่าเฉลี่ย PM2.5 รายปีจะต้องปรับให้เป็น 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร นี่คือการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมประการหนึ่ง หากรัฐบาลจะต้องขับเคลื่อนวาระแห่งชาติในการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม พ.ศ.2562 นี้

 

คุณสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ #RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา โดยร่วมผลักดันคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติให้กำหนดมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป(ambient air standard)ขึ้นใหม่โดยมีค่าเฉลี่ยรายปี 12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงเป็น 35 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ภายในปี พ.ศ.2562

 

//................

 

หมายเหตุ : “ส่องมาตรการของภาครัฐในวันที่ฝุ่น PM2.5 ถล่มเมือง (อีกครั้ง)” โดย "ธารา บัวคำศรี" ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

เวบไซต์ greenpeace thailand

https://www.greenpeace.org/thailand/

 

เพจ greenpeace thailand

https://www.facebook.com/greenpeaceseath/

 

//................