‘เรียนรู้จากคนครึ่งท่อน’ : ‘คนพิการ’ = ‘คนปกติ’ เราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน !

เรียนรู้จากคนครึ่งท่อน’ : ‘คนพิการ’ =‘คนปกติเราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน !

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า “ศ.ดร.กนก วงษ์ตระหง่าน” ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจ “กนก วงษ์ตระหง่าน” ในหัวข้อ “เรียนรู้จากคนครึ่งท่อน” โดยมีเนื้อหา ดังนี้

 

1.สื่อมวลชนและประชาชนจำนวนมากส่งกำลังใจให้ คนพิการครึ่งท่อน (นายชาตรี กรวัชรธาดา) นักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างเชียงใหม่ ชั้น ปวช. ปี 2 แผนกช่างยนต์ ที่ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว เพื่อหาสถานที่ฝึกงาน เนื่องจากถูกบริษัทต่าง ๆ ปฏิเสธมาก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุผลในเรื่องของความปลอดภัย จนมากลายเป็นข่าวใหญ่โต

ไม่นานกระแสสังคม (โดยเฉพาะสังคมออนไลน์) ตอบรับเสียงหาสถานที่ฝึกงาน ของ นายชาตรี อย่างท่วมท้น ภายในไม่กี่วัน นายชาตรี ได้รับข้อเสนอให้เข้าฝึกงาน จากบริษัททั้งเล็กและใหญ่มากมาย รวมไปถึงการได้รับความสนใจจากสื่อหลายสำนัก

 

การตอบรับ คนพิการครึ่งท่อนหรือ นายชาตรี กรวัชรธาดา นี้เอง ได้สะท้อน วัฒนธรรมคนไทย ที่มีความเห็นอกเห็นใจและสงสารคนที่อ่อนแอกว่า ผมจึงไม่แปลกใจ ที่คนไทยจำนวนมากแสดงความเห็นอกเห็นใจ และพร้อมที่จะยื่นมือให้ความช่วยเหลือ นายชาตรี เช่นนี้

 

​แต่ความเป็น คนครึ่งท่อนของ นายชาตรี มีอะไรที่ผมอยากจะ ชวนคิด และ วิเคราะห์ ให้มากไปกว่านี้ เพราะมันมีสิ่งที่ ควรค่าแก่การ เรียนรู้ เสียเหลือเกิน

 

2.ประการแรก ผมอยากจะเริ่มด้วยคำถามที่ว่า คนพิการรู้สึกและคิดอย่างไรกับคนที่ไม่พิการ นั่นเพราะคนปกติทั่วไป มักจะมีความคิดและความเชื่อที่ว่า คนพิการคือคนที่อ่อนแอกว่า และมีความสามารถน้อยกว่าคนปกติทั่วไป ดังนั้น เป็นหน้าที่ของคนปกติทั่วไป ที่ควรจะต้องให้ความช่วยเหลือคนพิการ

 

​สำหรับผมเห็นต่างในประเด็นนี้ และขออนุญาตตอบคำถามข้างต้นแทนคนพิการด้วยว่า พวกคุณอย่าคิดว่า คนพิการคือคนที่อ่อนแอ ช่วยตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นในสังคม

 

ผมเชื่อเหลือเกินว่า คนพิการมีสติปัญญาไม่น้อยไปกว่าคนทั่วไป ถึงแม้เขาจะมีความบกพร่องทางกาย (อย่างกรณีคุณชาตรี) ก็ตาม แต่เขาก็มีความอดทนมุ่งมั่นและอุตสาหะที่จะช่วยเหลือตนเอง ดูแลตนเองและครอบครัวตามกำลังความสามารถที่มี โดยไม่คิดที่จะรอการสงเคราะห์จากใคร และไม่ต้องการซ่อนตัวเองอยู่แต่ในโลกแคบ ๆ ของบ้านหรือครอบครัวเท่านั้น แต่พร้อมที่จะออกไปเผชิญและต่อสู้กับโลกภายนอก เพื่อแข่งขันกับคนอื่นอย่างมีศักดิ์ศรี และเกียรติของความเป็นมนุษย์

 

ผมขอยืนยัน พวกเขา (คนพิการ) รู้ว่า ตัวเองมีคุณค่าและสามารถทำประโยชน์ให้กับคนอื่นและสังคมได้ ดังนั้น อย่าทำให้พวกเขาต้องรู้สึกว่า เป็น ภาระทางสังคมต่อไปอีกเลย แต่จงร่วมด้วยช่วยกันที่จะให้อิสระในการกำหนดชีวิตและอนาคตของพวกเขา (คนพิการ) ได้ด้วยตัวเองกันเถอะครับ

 

3.ประการที่สอง ผมมีคำถามว่า คนพิการกับคนปกติ ใครมีความอดทนและมุ่งมั่นต่อความสำเร็จมากกว่ากัน ผมลองนึกภาพว่า ถ้าให้ผมนั่งบนรถเข็นคนพิการ (เสมือนเป็นคนพิการ) หนึ่งวัน ผมจะใช้ชีวิตของผมในวันนั้นอย่างไร แน่นอนผมจะหงุดหงิดและอารมณ์เสียตลอดทั้งวัน เพราะผมทำในสิ่งที่อยากทำไม่ได้เพราะติดกับรถเข็นคันนั้น กว่าผมจะทานข้าว เข้าห้องน้ำ ขึ้นเตียงนอน ฯลฯ มันช่างยุ่งยาก ทุลักทุเลมาก จนผมอาจจะเลี่ยงไม่ทานข้าว และเลือกหลับบนรถเข็น ภายใต้สภาพเช่นนี้ ผมคงแสดงอารมณ์ร้ายกาจใส่ทุกคนที่อยู่รอบข้าง เพราะผมทำใจยอมรับกับสภาพของตัวเองไม่ได้ อารมณ์ที่กดดันทั้งจากร่างกายและจิตใจก็น่าจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น

 

นี่เองที่ทำให้ผมต้องยอมรับว่า คนพิการ มี แรงขับเคลื่อนที่จะดำเนินชีวิตให้ก้าวหน้า และทำงานให้ประสบความสำเร็จ มากกว่าผม มากนัก และสามารถสรุปได้ด้วยตัวเองว่า คนพิการมีความสามารถเหนือกว่าผมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะ การจัดการกับอารมณ์และการจัดการกับ ข้อจำกัดต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อให้สามารถทำงานบรรลุเป้าหมายได้ตามต้องการ นี่คือ จุดเด่น ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อทดแทนใน จุดด้อย และกลายเป็น ความพิเศษ ในตัวเอง ที่พวกเขา (คนพิการ) อาจมีมากกว่าคนธรรมดาทั่วไปด้วยซ้ำ

4.ประการที่สาม ผมตั้งคำถามต่อไปว่า ทำไมคนพิการถึงสามารถดึงความพิเศษในตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเป็นประโยชน์หลังจากนั้น ผมก็ไปค้นหาข้อมูลและพบคำตอบที่ว่า สมองของมนุษย์มีความสามารถที่จะปรับตัวอย่างต่อเนื่องเพื่อทำหน้าที่ทดแทนกันในส่วนที่บกพร่องได้ (วิชานี้อยู่ในหมวด Neuroscience หรือ Neuroplasticity) ซึ่งหลักวิชาของเรื่องนี้อธิบายส่วนหนึ่งว่า เซลล์สมองสามารถทำให้เข้มแข็งหรือแข็งแรงมากขึ้นได้ผ่านแรงกดดันที่บีบให้ประจุไฟฟ้าในสมองเคลื่อนที่ผ่านช่องว่างระหว่างเซลล์สมองที่เรียกว่า Synapse ได้ และส่งผลให้สมองสามารถสั่งการหรือทำงานได้

 

ดังนั้น น่าจะสรุปได้ความว่า คนปกติทั่วไปอาจจะไม่อยู่ในสภาวะที่ต้องกดดันสมองให้ทำงานมากยิ่งขึ้น ต่างจากคนพิการที่มีความจำเป็นที่จะต้องดึงพลังทุกส่วนในร่างกายออกมาใช้ เพื่อก้าวข้าม ข้อจำกัดทางร่างกายของตนเอง

 

​ด้วยความเข้าใจนี้เอง ผมจึงอยากแนะนำว่า เราควรต้องเรียนรู้ กลไก ของสมองต่อกระบวนการนี้ และนำ แบบแผน ในการสร้างความแข็งแรงให้กับสมองของคนพิการมา ถอดรหัส เพื่อต่อยอดไปยังการพัฒนา นวัตกรรมด้านการเรียนการสอน ของเรา โดยเริ่มตั้งแต่ชั้นประถมศึกษา ผมเชื่อว่า สมองของเด็กไทยต้องพัฒนาไปไกลแบบก้าวกระโดดได้อย่างแน่นอน

 

5.ท้ายที่สุด เมื่อเราได้ ตกผลึก กับทั้ง 3 ประการแล้ว เราจะมองเห็น คุณค่า อันงดงามของคนพิการอย่างเด่นชัด ถึงตรงนี้ ผมต้องขอขอบคุณ คุณชาตรี กรวัชรธาดา ที่กรุณาเปิดทางให้ผมเข้าใจ และยอมรับ ความพิการ ได้เช่นนี้

 

คุณชาตรี และผมไม่ได้แตกต่างกันเลยครับ เราต่างเป็นมนุษย์เหมือนกัน

 

ไม่มีคนปกติ ไม่มีคนพิการ มีแค่ ผมกับ คุณมีแค่ เขากับ เราและการให้ความเคารพซึ่งกันและกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่งเท่านั้น

 

นี่คือ การรับรู้ในแบบที่ผมอยากให้ เกิดขึ้นบนฐานความคิดของระบบการศึกษาไทย

 

--แล้วคุณล่ะครับ คิดเห็นกันอย่างไร ?

 

 

//.................

                หมายเหตุ: เพจ “กนก วงษ์ตระหง่าน”

https://www.facebook.com/กนก-วงษ์ตระหง่าน-Kanok-Wongtrangan-109167605809018/

//.................