“หัตถกรรมกระจูดวรรณี” เก่า-ใหม่ เก๋เท่ แห่งทะเลน้อย

“หัตถกรรมกระจูดวรรณี” เก่า-ใหม่ เก๋เท่ แห่งทะเลน้อย

 

 

          “เราต้องทำให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่างานของเราจับต้องได้ รู้สึกว่าไม่เชย ใช้ได้ในชีวิตประจำวันมากขึ้น” คือความมุ่งมั่นที่ไม่ยอมแพ้ ของ “มนัทพงศ์ เซ่งฮวด” เจ้าของแบรนด์ “หัตถกรรมกระจูดวรรณี” (VARNI) ผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ที่ปัจจุบันมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแพร่หลาย

 

 

          ประสบการณ์ครั้งหนึ่งทำให้เรียนรู้เรื่องราวที่คนรุ่นใหม่กำลังมองว่า ไม่กล้าซื้องานหัตถศิลป์เพราะไม่ทันสมัย จึงตัดสินใจศึกษา สั่งสมประสบการณ์ ปรับเปลี่ยนวิธีคิด ผสมผสาน ให้กระจูดเป็นสิ่งของเครื่องใช้ที่กลมกลืนกับปัจจุบัน ทั้งยังเท่ เก๋ น่าจับต้อง จนกลายเป็น กระจูดยุคใหม่ ที่สร้างงาน สร้างอาชีพ กระจายรายได้สู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง

 

 

          “มนัทพงศ์” เป็นทายาทรุ่นที่ 5 ของ “หัตถกรรมกระจูดวรรณี” (VARNI) ผลิตภัณฑ์จากกลุ่มชาวบ้านศูนย์หัตถกรรมกระจูดวรรณี จังหวัดพัทลุง และยังได้รับยกย่องให้เป็นทายาทศิลปหัตถกรรมจาก SACICT หรือ ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) อีกด้วย

 

 

          ชีวิตของ “มนัทพงศ์” ผูกพันกับอาชีพสานกระจูดมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จึงบอกเล่าเรื่องราวเครื่องสานจากกระจูดแต่ละชนิดได้อย่างแม่นยำ เพราะเป็นสิ่งที่ส่งต่อกันมารุ่นต่อรุ่น ขณะที่ “มนัทพงศ์” เองก็สืบทอดมรดกล้ำค่านี้มาจาก “คุณแม่วรรณี”

 

 

          นอกจากจะเป็นทายาทผู้สืบต่อมรดกทำมือจากกระจูดแล้ว “มนัทพงศ์” ยังได้ผลักดันชาวบ้านให้มีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีมากขึ้น ทั้งยังเป็นประธานวิสาหกิจชุมชน รวบรวมสมาชิก และวางระบบการจัดการในองค์กรให้สามารถประสานงานและวางแผนขยายโอกาสด้านการตลาดแก่กลุ่มผู้ผลิตกระจูดได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

 

          "แต่ก่อนลูกหลานมองว่าสานกระจูดรายได้น้อย ไม่มีโอกาสเติบโต เราจึงเพิ่มคุณค่าชิ้นงานด้วยการออกแบบ และขยายตลาดออกไปให้คนรู้จักเครื่องสานกระจูดมากขึ้น” น้ำเสียงเป็นมิตรเจือด้วยความภูมิใจของการเป็นลูกหลานช่างฝีมือชาวบ้าน

 

 

          “มนัทพงศ์” ยังใช้สื่อโซเชียลมีเดียประชาสัมพันธ์และทำการตลาดออนไลน์ผ่าน Blogger, Instagram และ LINE@ ทำให้มียอดสั่งซื้อส่วนหนึ่งมาจากช่องทางออนไลน์ ความทุ่มเทนั้นสัมฤทธิ์ผล ชุมชนแห่งนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวโดยปัจจุบันคนในชุมชนควนขนุนกว่า 60 ครัวเรือนมีรายได้เพิ่มขึ้นกว่าแต่ก่อนอย่างมาก และยังทำให้งานสานกระจูดมีชีวิตชีวามากขึ้น

 

 

          “หัตถกรรมกระจูดวรรณี” พัฒนา-ออกแบบ โดยคำถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมและยังลดภาวะโลกร้อนทั้งในด้านลดการใช้ตะกร้าพลาสติก มาใช้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากธรรมชาติ (NATURAL FIBER BASKET) ทั้งยังสร้างตะกร้าด้วย Green Policy - Social Responsibility คือการใช้วัตถุดิบทั้งหมดจากธรรมชาติที่มีอยู่ในท้องถิ่น ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน อีกทั้งยังไม่เป็นผลอันตรายต่อผู้ใช้ ปราศจากสารเคมี

 

 

 

           นอกจากนั้นยังเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชุมชน ศูนย์เรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณี มีโฮมสเตย์กระจูดวรรณี ให้ผู้สนใจได้มาท่องเที่ยว พักผ่อน รื่นรมย์ไปกับธรรมชาติงดงามของทะเลน้อย จังหวัดพัทลุง และเรียนรู้วิถีชุมชน พร้อมทดลองฝึกประสบการณ์ด้วยตนเองในการทำผลิตภัณฑ์จากกระจูดอีกด้วย

 

 

          “มนัทพงศ์” ทิ้งท้ายด้วยปณิธานอันแน่วแน่ว่า “เราตั้งใจพัฒนาและสร้างคุณค่าให้กับงานหัตถศิลป์กระจูด ใส่ใจกับรายละเอียดทุกชิ้น อยากให้ลองเปิดใจกับอัตลักษณ์ไทยชิ้นนี้ และช่วยกันรักษาให้งานสานกระจูดยังคงอยู่ต่อไป บนพื้นฐานที่ว่าเราจะร่วมกันอนุรักษ์ภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษสั่งสมอัตลักษณ์ความเป็นไทยไว้ เพื่อให้คนรุ่นใหม่จับต้องได้”

 

 

CR : เสาร์ห้า South Studio, Facebook : VARNI CRAFT, WWW.OTOPTODAY.COM