ซีอีโอ IFC เวิลด์แบงก์ ชมระบบคุมโซลาร์ฟาร์มเรียลไทม์ของ SPCG

ซีอีโอ IFC เวิลด์แบงก์ ชมระบบคุมโซลาร์ฟาร์มเรียลไทม์ของ SPCG

 


          “เอสพีซีจี” เปิดบ้านต้อนรับ “ซีอีโอ IFC” เวิลด์แบงก์ โชว์ Monitoring Room ระบบควบคุมโซลาร์ฟาร์ม 36 แห่งทั่วประเทศแบบเรียลไทม์ พร้อมมองหาแนวทางความร่วมมือขยายโอกาสทางธุรกิจ เสริมสร้างความมั่นคงเศรษฐกิจไทย

 

 

          ดร.วันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” ให้การต้อนรับ Mr. Philippe Le Houérou, Chief Executive Officer, Mr. Vikram Kumar, Country Manager – Thailand & Myanmar และ Ms. Helen Han, Senior Investment Officer, Infrastructure and Natural Resources จาก International Finance Corporation (IFC) ซึ่งเป็นคณะผู้บริหารบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (International Finance Corporation: IFC) เป็นสถาบันการเงินในเครือของธนาคารโลก (World Bank Group) ได้เข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของบริษัทฯ ณ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) สำนักงานใหญ่ อาคารแคปปิตอล เวิร์ค เพลส แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา กรุงเทพฯ

 

 

          ดร.วันดี นำคณะผู้บริหารเข้าเยี่ยมชมห้องประมวลผลและควบคุมโครงการโซลาร์ฟาร์มแบบ Real-time ด้วยระบบ SCADA (Monitoring Room) ซึ่งแสดงให้เห็นการติดตามและควบคุมการทำงานของโครงการโซลาร์ฟาร์มทั้ง 36 แห่ง ทั่วประเทศที่ส่งตรงมายังห้องควบคุมภายในสำนักงานใหญ่ด้วยระบบเคเบิลใยแก้วนำแสง ทั้งนี้ SPCG ยังเพิ่มการติดตามค่าพลังงานของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) สำหรับลูกค้าทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มลูกค้าบ้านที่อยู่อาศัย กลุ่มลูกค้าอาคารพาณิชย์ อาคารสำนักงาน อาคารส่วนราชการ และกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรมผ่านทางระบบประมวลผลและ การใช้พลังงานของลูกค้าในแบบเรียลไทม์ พร้อมทั้งเยี่ยมชมระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Roof) ซึ่งเป็นระบบการทำงานจริงบนหลังคา ณ ชั้น 12 อาคารสำนักงานใหญ่

 

 

          นอกจากนี้ ดร.วันดี และคณะผู้บริหาร ยังได้ปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อขยายโอกาสทางธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงเล็งเห็นว่าเป็นการสร้างประโยชน์ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศไทย ซึ่งที่ผ่านมา SPCG ได้รับการสนับสนุนจาก IFC ในการร่วมทุนพัฒนาโซลาร์ฟาร์มและร่วมให้การสนับสนุนทางด้านการเงิน จนประสบความสำเร็จ ทั้งนี้การเข้าเยี่ยมชมในครั้งนี้ ถือเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์อันเหนียวแน่นระหว่าง SPCG Public Company Limited และ International Finance Corporation (IFC) อีกด้วย

 

          ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารธนาคารโลกได้ให้การรับรองกรอบความร่วมมือระดับประเทศฉบับใหม่สำหรับประเทศไทย เมื่อปลายปี 2561 โดยกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์สำหรับบทบาทของกลุ่มธนาคารโลกที่จะทำงานร่วมกับประเทศไทยในช่วงปี 2562 - 2565 ซึ่งกรอบความร่วมมือนี้จะสนับสนุนการปฏิรูปของประเทศไทยให้พัฒนาเป็นเศรษฐกิจที่มีการพัฒนาด้านนวัตกรรม เป็นเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างมีส่วนร่วมและมีความยั่งยืน โดยกรอบความร่วมมือระดับประเทศนี้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย (2560-2579) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ของประเทศไทยซึ่งมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้  

          1. การพัฒนาสภาพแวดล้อมของการประกอบธุรกิจด้วยการส่งเสริมการแข่งขันและใช้นวัตกรรม

          2. เสริมสร้างความเข้มแข็งขององค์กรทางการเงินและการคลัง

          3. การเพิ่มคุณภาพของการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในภาคการขนส่งทางราง

          4. การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการทรัพยากรน้ำ

          5. ส่งเสริมการศึกษาที่มีคุณภาพ

          6. สนับสนุนการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่มีความเปราะบางและความขัดแย้งในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย

          ทั้งนี้ การจัดทำกรอบความร่วมมือระดับประเทศได้มีการการปรึกษาหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วประเทศ และได้แจ้งเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นการพัฒนาแล้ว

 

CR : www.worldbank.org