‘อิธิโอเปีย’ : ‘ลาลิเบลล่า’ เยรูซาเล็มที่สอง

อิธิโอเปีย’ : ‘ลาลิเบลล่า เยรูซาเล็มที่สอง

 

 

สนามบินลาลิเบลล่า เส้นทางสะดวกที่สุดที่จะมาเมืองนี้

 

             เอ่ยถึงคำว่า สิ่งมหัศจรรย์ของโลกแทบทุกคนคงรู้จักกันดี แถมหลายคนคงรู้ดีว่า เกือบทั้งหมดของบรรดาสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนั้น ล้วนเป็นสิ่งก่อสร้างด้วย...หิน

“มหาปิรามิด”...“กำแพงเมืองจีน”....“นครวัด”  หรือแม้แต่น้องใหม่อย่าง “เพตรา” ที่ประเทศจอร์แดน

เหล่านี้ล้วนรังสรรค์จากฝีมือมนุษย์ โดยใช้หินเป็นวัสดุในการสร้าง แน่ละ ! สร้างด้วยหินย่อมน่าทึ่งมากกว่า ทำด้วยไม้ หรือโลหะเป็นไหน ๆ

สิ่งมหัศจรรย์ของโลกในแต่ละยุค ล้วนมีด้วยกัน 7 สิ่ง แต่สำหรับชาว “อิธิโอเปียน” แล้ว สิ่งมหัศจรรย์อันดับ 8 ของโลก ไม่ใช่ที่ไหน แต่อยู่ในประเทศของเขานี่เอง ที่นั่นคือ “ลาลิเบลล่า”

 

บ้านดินแบบอิธิโอเปียน พบได้ทั่วไป

 

“ลาลิเบลล่า” นอกจากจะเป็นชื่อเมืองทางด้านเหนือเกือบจะสุด ของประเทศ “อิธิโอเปีย” แล้ว

ยังเป็นชื่อของ “กลุ่มโบสถ์” ใน “นิกายอิธิโอเปียนออร์โธด็อกซ์” หลายหลัง

ที่ล้วนสร้างขึ้นมาจากหินทั้งสิ้น

เอาเป็นเกร็ดประดับความรู้ไว้ว่า เมืองหลวงสำคัญหรืออาณาจักร นับแต่อดีตถึงปัจจุบัน ของ “อิธิโอเปีย” มีด้วยกัน 4 แห่ง คือ “อักซุม” “ลาลิเบลล่า” “กอนดาร์” และปัจจุบันคือ “แอดดิส อะบาบา”

 

คนงานซ่อมมรดกโลก ใช้ชีวิตกินอยู่ง่าย ๆ เข้าโบสถ์สวดมนต์เป็นกิจวัตร

 

“ลาลิเบลล่า” นอกจากเคยเป็นศูนย์กลางอาณาจักร ของชาว “อิธิโอเปียน” แล้ว พวกเขายังบอกว่า ครั้งหนึ่ง ที่นี่เคยเป็น “ศูนย์กลาง” ของ “คริสต์ศาสนา” ของ “โลก” เลยด้วยซ้ำ

นี่เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินจริง หากได้ไปเห็น “ลาลิเบลล่า” ซึ่งถือว่าเป็นไฮไลท์สำคัญของการมาท่องเที่ยวในประเทศนี้

“อิธิโอเปีย” เป็นหนึ่งในชาติที่มีประวัติศาสตร์อันต่อเนื่องยาวนานที่สุด ในทวีปแอฟริกา

และเป็นดินแดนที่ได้รับอารยธรรม จาก “อียิปต์” และ “กรีก” มาตั้งแต่สมัยโบราณ

 

โบสถ์เซนต์จอร์จ มองจากด้านบนเห็นเป็นรูปกางเขน (St George's Cross)

  

ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 โลกเคยเรียกดินแดนนี้ว่า “อบิสสิเนีย”

ชาว “อิธิโอเปียน” ถือกันว่า กษัตริย์ที่ปกครองดินแดนของเขา มาตั้งแต่อดีตยาวนานนั้น สืบเชื้อสายมาจาก “พระเจ้าเมเนลิก ที่ 1” พระราชโอรสของ “พระเจ้าโซโลมอน” แห่ง “อาณาจักรอิสราเอลโบราณ” และ “พระนางชีบา” ตาม “ตำนานฮิบรู”

เก่าแก่ไปได้ยาวนานขนาดนั้น

ชื่อ ลาลิเบลล่ามาจากชื่อของกษัตริย์ ใน “ราชวงศ์ซากุย” (Zagwe dynasty)

“พระเจ้าลาลิเบลล่า” ผู้ตั้งเมืองนี้ขึ้นมา โดยแยกตัวออกมาจาก “อาณาจักรอักซุม” ที่อยู่ทางตอนเหนือ ติดกับประเทศซูดานในปัจจุบัน

ทำไม “พระเจ้าลาลิเบลล่า” ต้องนำผู้คนแยกตัวออกมาจาก “อาณาจักรอักซูมไมต์” อันยิ่งใหญ่ ?

เรื่องนี้ ต้องย้อนเวลายาวไกลไปถึงสมัย “ครูเสด” หรือสมัยที่ชาว “คริสเตียน” ทำสงครามกับชาว “มุสลิม”  ยาวนานนับร้อยปี เพื่อช่วงชิง “เมืองเยรูซาเล็ม” แผ่นดินอันศักดิ์สิทธิ์ของทั้งสองศาสนา

หลังจาก “จอมทัพซาลาฮ์ดิน” ของ “มุสลิม” ยึด “กรุงเยรูซาเล็ม” ได้ ในปีพ.ศ.1730

เขาไม่ได้สังหารชาวคริสเตียนในเมืองนั้น แต่ยอมให้ออกจากเมืองได้ โดยต้องจ่ายค่าไถ่ตัวเองออกมา

ใครอยากรู้รายละเอียดแบบฮอลลีวู้ด ลองกลับไปหาภาพยนตร์ Kingdom of Heaven ดูเอาเองแล้วกัน

 

มองจากด้านบน จึงเห็นว่า โบสถ์เซนต์จอร์จ ขุดภูเขาลงไปทั้งลูก

 

ชาวคริสเตียนที่ถูกขับออกมาจาก “เยรูซาเล็ม” เขาไปไหน ?

ในหนังไม่ได้บอก แต่ “ประวัติศาสตร์เชิงตำนาน” ของ “อิธิโอเปียน” บอกว่า พวกเขาอพยพมายังดินแดนซึ่งแยกตัวออกมาจาก “อาณาจักรอักซุม” (ซึ่งเป็นคริสเตียน)

แล้วพากันสร้าง “เยรูซาเล็มแห่งที่ 2” ขึ้นมา

ซึ่งนั่นก็คือ “ลาลิเบลล่า” นี่เอง

นักโบราณคดีส่วนใหญ่ เชื่อตรงกันว่า กษัตริย์พระนามว่า ลาลิเบล่า มีดำริให้สร้างโบสถ์ทั้งหลายนี้ขึ้น

 

แทบทุกวัน จะมีกลุ่มผู้แสวงบุญเดินทางมายังโบสถ์ต่าง ๆ ใน ลาลิเบลล่า

 

 

มีตำนานกล่าวว่า พระองค์ถูกอนุชาวางยาพิษจนสลบไป 3 วัน ระหว่างนั้น “พระเจ้า” ได้พา “กษัตริย์ลาลิเบล่า” ไปยังสวรรค์ และเห็นเมืองที่แกะสลักจากหินผาอย่างสวยงาม

และบางตำนานก็กล่าวว่า “กษัตริย์ลาลิเบล่า”ถูก “พระเจ้า” พาไปเห็น “กรุงเยรูซาเล็ม”

พระองค์สัญญาว่า เมื่อกลับไปบ้านเมืองตนเองแล้ว จะสร้าง “เยรูซาเล็ม” ขึ้นมาใหม่

และนี่เป็นต้นกำเนิด “กลุ่มคริสต์สถานศิลา” แห่งแรก ใน “ทวีปอาฟริกา” ที่ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ใน “ตะวันออกกลาง”

“วิหารศิลา” ใน “ลาลิเบลล่า” มีทั้งหมด 11 แห่ง บ้างก็ติด ๆ กัน แบบเดินถึงกันได้ แต่บางกลุ่มก็ห่างหน่อย ต้องนั่งรถไป เนื่องจากเดินที่ “ลาลิเบลล่า” แม้จะไม่กี่ร้อยเมตร แต่เล่นเอาลิ้นห้อยได้ เพราะแสงแดดที่รุนแรงเสียเหลือเกิน

 

มุมบนของ โบสถ์ Beta Medhand Alem โบสถ์สกัดจากหินก้อนเดียว( monolithic) ใหญ่ที่สุดในโลก

 

ทุก ๆ แห่งของ “วิหารศิลา” ใน “ลาลิเบลล่า” ไม่ใช่การสกัดหินเป็นก้อน ๆ แล้วเอามาประกอบขึ้นเป็นอาคาร แบบ “นครวัด”

แต่ความน่าอัศจรรย์ของ “ลาลิเบลล่า” คือ เขาสกัดภูเขาทั้งลูก ให้เป็นอาคาร มีห้องหับ หน้าต่าง-ประตูพร้อมสรรพ

ดูราวกับมิใช่ผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์

ครับ ! เช่นเดียวกับ “วิหาร” แห่ง “โซโลมอน” ใน “เยรูซาเล็ม” หรือ “เพตรา” ใน “จอร์แดน” รวมถึง “คริสต์สถาน” อีกมากมาย ในดินแดน “ตะวันออกกลาง” ที่สร้างซ่อนเร้นอยู่ในภูเขา ราวกับถ้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์

เชื่อกันว่า ในช่วงแรกเริ่มของศาสนาคริสต์ อำนาจของ “จักรวรรดิโรมัน” ยังแข็งแกร่งอยู่

อีกทั้ง “ลัทธิยูดาย” ของ “ยิว” ก็ตั้งตนเป็นศัตรูกับคริสเตียน ด้วยมองเห็นว่า เป็นพวกนอกรีต

คริสต์ชนและนักบวช จึงต้องสร้างที่ประกอบศาสนกิจอย่างซ่อนเร้น

 

คนเฝ้าวิหาร ที่หน้าโบสถ์ Beta Mariam

 

“วิหารศิลา” ทั้งหมดใน “ลาลิเบลล่า” สร้างเสร็จในเวลาเพียง 24 ปี

โดยทั่วไป เรามักจะเห็นว่า บ้านชาว “อิธิโอเปียน” ส่วนใหญ่ทำด้วยดิน แต่ไม่น่าเชื่อว่า บรรพบุรุษของพวกเขา จะสามารถสกัดภูเขาทั้งลูก ให้เป็นโบสถ์ได้น่าทึ่งขนาดนี้

น่าทึ่งในความสามารถคำถามจึงมีว่า “พระเจ้าลาลิเบล่า” สร้าง “วิหารศิลา” ทั้งหมดนี้ได้อย่างไร ในเวลาเพียง 40 ปีที่ทรงครองราชย์

 

ภายในโบสถ์เซนต์จอร์จ (Beta Ghiorghis) มีพระคอยสวดให้ผู้มาแสวงบุญตลอดเวลา

 

 

นี่จึงเป็น “ที่มา” ของ “ตำนาน” ที่ชาว “อิธิโอเปียน” เชื่อว่า มนุษย์สร้างที่นี่ตอนกลางวัน ส่วนยามค่ำคืน เทวทูตหรือแองเจิล จะลงมาช่วยสร้างให้

หากคุณได้มีโอกาสมาที่นี่ เวลาเดินชม “วิหารศิลา” ต่าง ๆ แล้วได้ยินเสียงสวดดังแว่วขึ้นมาจากซอกหลืบ ของหมู่หินล่ะก็ ไม่ต้องตกใจ

โบสถ์ทุกหลังใน “ลาลิเบลล่า” ยังมีชีวิตอยู่ ยังถูกใช้เป็นที่แสวงบุญ สำหรับชาว “อิธิโอเปียนออร์โธด็อกซ์” จวบจนปัจจุบัน

 

แทบทุกจุด จะเห็นผู้คนนั่งสวดมนต์เช่นนี้เสมอ

 

“อิธิโอเปียนออร์โธด็อกซ์” จะสวดมนต์ด้วย “ภาษากีเอซ” (ge'ez) ซึ่งเป็นภาษาโบราณในตระกูล “เซมิติค” และสมัยก่อนใช้สื่อสารในหมู่คนภาคเหนือ

“ภาษาอมาหริค” ที่ชาว “อิธิโอเปียน” พูดกันอยู่ในปัจจุบัน ก็พัฒนามาจากภาษานี้

ว่าไปแล้ว ก็เหมือนชาวไทย ใช้ “ภาษาบาลี” ในการสวดมนต์นั่นเอง

ในจำนวน “โบสถ์ศิลา” แห่ง “ลาลิเบลล่า” ทั้ง 11 แห่งนั้น มีจำนวน 3 หลัง ที่น่าสนใจสุด ๆ แบบว่า ถ้ามาแล้วพลาดไม่ได้คือ  คือ “เบธ เมดแฮน อเลม” หรือ “โบสถ์ของพระเยซูคริสต์” (Beta Medhand Alem)

“เบธ มารีอาม” หรือ “โบสถ์พระแม่มารี” (Beta Mariam)

และสุดท้าย “เบธ กียอร์เกส” หรือ “โบสถ์ของนักบุญจอร์จ” (Beta Ghiorghis)

ปัจจุบัน ทาง “ยูเนสโก” ขึ้นทะเบียน “ลาลิเบลล่า” เป็น “มรดกโลก” แล้วตั้งแต่ ในปี พ.ศ.2521

แถม “สภาการท่องเที่ยวยุโรป” หรือ ECTT(The European Council on Tourism and Trade ) ยังยกให้ “อิธิโอเปีย” เป็นจุดหมายแห่งการท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลก หรือ Best Destination

คงเห็นด้วยแล้วกระมังว่า เที่ยว “อิธิโอเปีย” ไม่เพลียอย่างที่คิดจริง ๆ...

 

ภายในโบสถ์ Beta Mariam ซึ่งมีการแกะสลักภายในงดงามที่สุด

 

//..................

หมายเหตุ: ‘อิธิโอเปีย’ : ‘ลาลิเบลล่า เยรูซาเล็มที่สอง : คอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย ศรัณย์ บุญประเสริฐ

//..................