คุยกับ ‘หมอหนุ่ย’ : รู้ให้ลึกถึง ‘พาราควอต’ ถึงเวลาทบทวนแล้วหรือยัง ?

คุยกับ หมอหนุ่ย’ : รู้ให้ลึก พาราควอตถึงเวลาทบทวนแล้วหรือยัง ?

 

 

 

          พาราควอตเป็นชื่อเล่นของสารเคมีหนึ่ง ซึ่งหากแม้ว่าใครที่ไม่ได้เป็นนักเคมีแล้ว ก็มักจะมีความลำบากในการอ่านและจดจำชื่อของมัน

สารเคมีที่ว่านั้นคือ 1,1’dimethyl-4,4’-bipyridinium chloride

เห็นไหมครับ ชื่อของมันช่างอ่านและจำยากเสียเหลือเกิน

พาราควอต ถูกนำมาใช้เป็น ยาปราบวัชพืช ออกฤทธิ์ทำให้ใบแห้งกรอบ แล้วหลุดร่วงลงหมดจนตาย

          นักเคมีสามารถสังเคราะห์ “พาราควอต” ขึ้นมาได้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2425 ก่อนที่จะพบว่า มันสามารถทำลายพืชได้ในปี พ.ศ.2498 กระทั่งปี พ.ศ. 2504 ได้มีการนำมาทดลองใช้ปราบวัชพืชในภาคสนาม

เขาทดลองใช้ใน “สวนยางพารา” ที่ประเทศ “มาเลเซีย” หนึ่งปีต่อมา จึงได้มีการจดทะเบียนเพื่อใช้งานขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศอังกฤษ

ปัจจุบันนี้ “จีน” เป็นประเทศที่ “ผลิต” และ “ส่งออก” สารเคมี “พาราควอต” ได้มากที่สุดในโลก โดยมีประมาณ 100 ประเทศที่ยังคงใช้ “พาราควอต” ในทางการเกษตรอยู่

มีเพียง 32 ประเทศเท่านั้นที่ห้ามการใช้ “พาราควอต” !

         “พาราควอต” ทำลายพืชด้วยการแทรกซึมผ่านใบเข้าไปอย่างรวดเร็ว แล้วทำให้กลไกการสังเคราะห์แสงของพืชเสียหาย ทำลายเนื้อเยื่อของใบให้แตกสลาย น้ำที่อยู่ในนั้นรั่ว ระเหยออกไปอย่างรวดเร็วจนกระทั่งใบแห้งกรอบ หลุดร่วงลงหมดจนพืชตาย

         ถึงแม้ว่า “พาราควอต” จะมีพิษที่นับได้ว่า มีความร้ายแรงมากก็ตาม แต่มันไม่สามารถออกฤทธิได้ เมื่อจับกับอนุภาคของดิน

“พาราควอต” ที่หมดฤทธิ์นั้นไม่ได้ถูกดินทำลายนะครับ เพราะว่า เมื่อใดก็ตามที่มันหลุดออกมาจากอนุภาคของดิน มันก็จะกลับมามีฤทธิ์ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

จากการศึกษาพบว่า ระยะเวลาการรอ ให้ปริมาณ “พาราควอต” ที่จับกับดินสูญสลายไปเอง จนกระทั่งเหลืออยู่ครึ่งหนี่งนั้น

ต้องใช้เวลายาวนานถึง 20 ปี !

กรณีที่ “พาราควอต” ปนเปื้อนอยู่ใน “แหล่งน้ำ” นั้น ผลการศึกษาในยุโรป พบว่า ต้องใช้เวลานาน 2-280 ปีทีเดียว กว่าที่ปริมาณของมันจะลดลงเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง

ระยะเวลาการสลายตัวในแหล่งน้ำ ที่แตกต่างกันอย่างมากมายนี้ อธิบายได้จากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันของแต่ละแหล่งน้ำที่เขาทำการศึกษา ซึ่งคือความตื้น ลึก อัตราการไหล การสัมผัสแสงแดดที่แตกต่างกันนั่นเอง

         “พาราควอต” เข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 3 ช่องทาง คือ การสูดดม การรับประทาน และการซึมผ่านผิวหนัง

ได้มีการจัดลำดับ “ความเป็นพิษ” ของ “พาราควอต” เอาไว้ว่า หากเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดมเข้าไป จะก่อให้เกิดผลที่รุนแรงที่สุด

รองลงมาคือการกิน ลำไส้ดูดซึม “พาราควอต” เข้าสู่ร่างกายได้ประมาณร้อยละสิบของที่กินเข้าไป

และที่เป็นพิษน้อยที่สุดคือ การดูดซึมผ่านผิวหนัง โดยร่างกายดูดซึม “พาราควอต” ผ่านผิวหนังได้เพียงร้อยละ 0.5

         เมื่อเข้าสู่ร่างกาย “พาราควอต” จะถูกขนส่งผ่าน “กระแสโลหิต” ไปยัง “ตับ” และ “ไต” เป็นลำดับแรก

ก่อนที่จะถูกขนส่งไปสะสมที่ “ปอด” ซึ่งเป็น “อวัยวะเป้าหมาย” ในการ “ทำลายล้าง” ของมัน

ร่างกายไม่สามารถทำลาย “พาราควอต” ได้ มันจึงถูกขับออกจากร่างกายไปกับอุจจาระ โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีใด ๆ นั่นคือ มันยังคงมีพิษร้ายแรงอยู่เท่าเดิม

         ในการศึกษาความเป็นพิษนั้น นักพิษวิทยาเขาจะใช้ค่าที่เรียกว่า Lethal dose 50 (LD50) ซึ่งคือค่าปริมาณของสารพิษที่ได้ร่างกายได้รับเข้าไป แล้วทำให้สัตว์ทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง

หรือหากจะคิดง่าย ๆ ก็คือ ค่า LD50 ยิ่งน้อย สารนั้นยิ่งมีความเป็นพิษมาก !

“พาราควอต” เข้าสู่ร่างกายด้วยการสูดดมมีความเป็นพิษมากที่สุด จากการทดลองให้หนูสูดดม “พาราควอต” พบว่า ความเข้มข้นของ “พาราควอต” เพียง 0.6-1.4 มก.ต่อน้ำหนักหนูทดลอง 1 กก. ก็ทำให้หนูทดลองตายไปครึ่งหนึ่ง

         LD50 สูดดม =  0.6-1.4 mg/kg BW

ด้วยการศึกษาในทำนองเดียวกันนี้

         LD50 การกิน = 93.4-113.5 mg/kg BW

         LD50 ซึมผ่านผิวหนัง > 660 mg/kg BW

         จะเห็นว่า “พาราควอต” จะมีความเป็นพิษมากที่สุด ถ้าร่างกายได้รับเข้าไปโดยการสูดดม เป็นพิษน้อยที่สุดโดยการซึมผ่านผิวหนัง

แต่โดยสถิติแล้ว มนุษย์เรา “เสียชีวิต” จากการกิน “พาราควอต” เพื่อ “ฆ่าตัวตาย” มากที่สุด พบว่า “พาราควอต” เพียง 17 mg/kg BW ก็ทำให้คนเสียชีวิตได้แล้ว

เมื่อเปรียบเทียบค่าความเป็นพิษนี้ “พาราควอต” เป็นพิษต่อมนุษย์มากกว่าหนูทดลอง คนกินเข้าไป ไม่ต้องมากถึง 93.4 - 113.5 mg/kg BW ก็ทำให้เสียชีวิตได้แล้ว

         ดังที่กล่าวไว้ในตอนต้นว่า เป้าหมายการทำลายล้างของ “พาราควอต” คือ “ปอด” อวัยวะนี้ จะถูกทำลายตั้งแต่ตอนแรก ๆ ที่ร่างกายได้รับ “พาราควอต” เข้าไปทั้งโดยการสูดฝอยละออง หรือการรับประทาน

สิ่งที่ตรวจพบคือ ถุงลมปอดถูกทำลาย ปอดบวมน้ำ และมีพังผืดแทรกอยู่ในเนื้อปอด

ผู้ที่กิน “พาราควอต” มักจะเสียชีวิตภายใน 3 สัปดาห์ จากระบบการหายใจล้มเหลว อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากภาวะปอดบวมน้ำ หรือการมีพังผืดในเนื้อปอด

ส่วนจะเป็นจากภาวะใดนั้น ก็ขึ้นกับปริมาณสารพิษที่เข้าสู่ร่างกาย

“พาราควอต” ปริมาณมากถึง 5-10 กรัม ทำให้ผู้ได้รับเสียชีวิตจากพังผืดสะสมในปอดร่วมกับไตวาย หลอดอาหารฉีกขาด และเลือดออกในปอด

         สำหรับอวัยวะอื่น ๆ นั้น ก็ใช่ว่าจะรอดพ้นจากพิษของ “พาราควอต” ไปได้

ตัวอย่างเช่น “ไตวาย” มักจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 1-4 หลังได้รับ “พาราควอต” เข้าสู่ร่างกาย เป็นต้น

         “ข่าวร้าย” สำหรับเรื่องนี้ก็คือ จนกระทั่งปัจจุบัน ยังไม่มีการค้นพบ “ยาแก้พิษพาราควอต” !

การรักษาคนไข้เท่าที่ทำได้นั้น คือการรักษาแบบประคับประคอง และแก้ไขตามอาการเจ็บป่วยเท่านั้น

         ทั้งนี้ เนื่องเพราะว่า “พาราควอต” เป็น “สารเคมี” ที่มี “พิษรุนแรง” และยังไม่มี “ยาแก้พิษ”

ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสารเคมีเกษตร ได้มีความพยายามลดผลกระทบจากการใช้งาน เริ่มตั้งแต่ในเรื่องของการสูดดม

ผู้จำหน่ายแจ้งว่า “พาราควอต” ไม่ใช่สารระเหย คนจึงไม่อาจสูดดมเอา “พาราควอต” เข้าไปได้

อย่างไรก็ตาม วิธีใช้งานเพื่อกำจัดวัชพืชนั้น ต้องพ่นสารให้เป็นฝอยละออง ดังนั้นถ้าเกษตรกรไม่ตระหนักถึงอันตราย ไม่สวมหน้ากากป้องกันเอาไว้ ก็อาจสูดเอาฝอยละออง “พาราควอต” เข้าสู่ร่างกายได้

         ส่วนอันตรายจากการรับประทาน “พาราควอต” เพื่อฆ่าตัวตายนั้น ทางผู้ผลิตก็ได้หาทางป้องกันเอาไว้แล้ว ด้วยการเติมสารเคมีที่มีกลิ่นฉุนไม่น่ารับประทาน เติมยากระตุ้นอาเจียนเข้าไป เพื่อให้ผู้ที่กิน “พาราควอต” เข้าไป อาเจียนออกมาก่อนที่มันจะถูกดูดซึมเข้าสู่ภายในร่างกาย

และแม้กระทั่งผสมเจลลงไปในผลิตภัณฑ์ เพื่อจับตัวสารเอาไว้ ให้ร่างกายค่อย ๆ ดูดซึมเข้าไปอย่างช้า ๆ มีเวลาพอที่จะล้างท้องได้ทัน

อย่างไรก็ตาม “พาราควอต” มีฤทธิ์กัดกร่อนโดยตัวของมันเอง สารพิษนี้จึงทำลายหลอดอาหาร ในระหว่างที่กลืนลงไปแต่แรกแล้ว

         ด้วยความที่ “พาราควอต” เป็นสารเคมีอันตราย จึงมี 32 ประเทศ ที่ประกาศห้ามการใช้ “พาราควอต” โดยเด็ดขาด

ประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในยุโรป ได้ออกเป็นกฎหมายห้ามใช้สารนี้ในการเกษตรขึ้นมา

ขณะที่ “นอรเวย์” และ “สวิสเซอร์แลนด์” นั้น สมัครใจหยุดการใช้ “พาราควอต” เองโดยไม่ต้องตรากฎหมาย

ที่น่าสนใจคือ เพื่อนบ้านของเรา “กัมพูชา” ได้ประกาศห้ามการใช้ “พาราควอต” เรียบร้อยไปแล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546

และอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจคือ “มาเลเซีย” ที่นอกจากจะเป็นประเทศแรก ที่มีการทดลองใช้ “พาราควอต” ในทางเกษตรเมื่อปี พ.ศ.2504 แล้ว ในปี พ.ศ. 2545 ประเทศ “มาเลเซีย” เคยประกาศมาว่า จะค่อย ๆ หยุดการใช้ “พาราควอต” ด้วยการ “ห้ามโฆษณา” ขายผลิตภัณฑ์ที่มี “พาราควอต” ก่อนในเบื้องต้น

แล้วตั้ง “เป้าหมาย” ที่จะ “หยุด” การใช้ “พาราควอต” ในปี พ.ศ. 2548

แต่แล้วในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2550 “รัฐบาลมาเลเซีย” ก็ประกาศเลื่อนแผนการห้ามใช้ “พาราควอต” ออกไปอีกโดยไม่มีกำหนด

         นอกจาก 32 ประเทศ ที่ห้ามการใช้ “พาราควอต” อย่างเด็ดขาดแล้ว ก็ยังมีบางประเทศ ที่ควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด

ตัวอย่างเช่น “สหรัฐอเมริกา” ให้เฉพาะผู้ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น ที่สามารถพ่น “พาราควอต” ได้

และมีการห้ามใช้ในบ้าน โรงเรียน สวนสาธารณะ สนามกอล์ฟ และสนามเด็กเล่น พร้อมกับกำหนดว่า ต้องรอเวลาให้ผ่านไป 12-24 ชั่วโมงก่อน จึงจะอนุญาตให้ผู้คนเข้าไปในพื้นที่ที่ผ่านการพ่น “พาราควอต” ได้

เพื่อนบ้านอาเซียนของเรา คือ “ฟิลิปปินส์” และ “อินโดนีเซีย” มีการควบคุมการใช้อย่างเข้มงวด อนุญาตให้เฉพาะผู้เชี่ยวชาญใช้ “พาราควอต” ในกรณีจำเป็น ไม่อนุญาตให้เกษตรกรทั่วไปใช้

         ขณะที่ “ประเทศไทย” ปัจจุบันยังใช้กันได้อย่างเสรี

ดังที่มีการ “โฆษณา” ขายยา “พาราควอต” ในชื่อการค้า “ยี่ห้อดัง” ยี่ห้อหนึ่ง ที่เกษตรกรคุ้นชื่อกันดีทางวิทยุอยู่เรื่อย ๆ

เกษตรกรของเราไม่มีความรู้ หรือไม่ก็ไม่ป้องกันตนเอง ด้วยการใส่หน้ากาก หรือเสื้อผ้าป้องกันการสัมผัสสารพิษในระหว่างการพ่นใช้งาน

รวมทั้งยังมีคนฆ่าตัวตาย ด้วยการกิน “พาราควอต” เข้ามารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่เรื่อย ๆ

ถึงเวลาแล้วหรือยัง ? ที่เราจะมาทบทวนการใช้ “พาราควอต” กันใหม่ ให้เหมือนกับประเทศอื่น ๆ

ที่ไม่ปล่อยให้มีการขาย การใช้ โดยไม่มีความรู้ และไม่มีความระมัดระวังดังเช่นในปัจจุบัน...

 

//.................

หมายเหตุ : หมอหนุ่ย เป็น นามปากกาของ ผศ.นพ.ธีรวรรธน์ ขันทอง

//.................