‘ไขความลับสู่การเลี้ยงลูกให้เชื่อฟังคล้อยตาม พร้อมกับการมี EQ ดี’

ไขความลับสู่การเลี้ยงลูกให้เชื่อฟังคล้อยตาม พร้อมกับการมี EQ ดี

 

 

คุณพ่อคุณแม่จะหาวิธีที่จะพูดคุยกับลูกอย่างไรดี ให้ลูกคล้อยตาม และไม่เบื่อ

ลองมาอ่านบทความนี้กันนะคะ

“กุญแจลับ” นั้นก็คือ Self-awareness และ Self-consciousness โดย Self-awarenessคือ “ความเข้าใจในตนเอง” เข้าใจอารมณ์ ความรู้สึก ชอบหรือไม่ชอบ ข้อดีข้อเสียของตน

ส่วน Self-consciousness คือ “การมีสติรู้” ความละอาย ขวยเขิน ซึ่งจะอยู่ในระดับสัญชาตญานของมนุษย์

         ทั้ง 2 ตัวนี้ จะทำให้ “การพัฒนาทางอารมณ์” หรือที่เราเรียกกันว่าEQนั้น ดีขึ้น โดยจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่และลูก และจะง่ายต่อการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินชีวิตของเขาเอง

ในที่นี้ จึงจะขอเรียกทั้ง Self-awareness และ Self-consciousness นี้แบบสั้น ๆว่า “ความตระหนักรู้ในตนเอง”

          เปรียบเทียบวิธีที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนมากมักใช้ในการปรับพฤติกรรมลูก

          แบบ A ใช้การบอกให้ทำ ใช้คำสั่ง และกฏระเบียบ

ผลคือ ลูกทำตามบอก แต่ทำได้ไม่ทุกครั้ง บางครั้งเบื่อหงุดหงิดไม่อยากทำ พ่อแม่ต้องพูดบ่อยขึ้น แรงขึ้น หรือในบางครั้งลูกเริ่มเรียนรู้ว่า ความรักของพ่อแม่อยู่เหนือกฏได้ จึงมีข้อต่อรองสารพัดให้พ่อแม่ต้องเหนื่อยหน่ายกันไป

         แบบ B ใช้การให้เหตุผลควบคู่กันไปกับการบอกให้ทำ

ผลคือ ทำได้ตามบอกด้วยความเต็มใจ แต่ไป ๆ มา ๆ ก็ชักจะไม่เสมอไป บางทีลูกกลับมีเหตุผลของลูกมาพูดเพื่อแย้งและต่อรอง และร้องให้พ่อแม่ต้องฟังเหตุผลของลูก ซึ่งที่เจอมามักจะเกิดในเด็กที่อยู่มากับแนวบูรณาการ และแบบโฮมสคูล

         ทั้ ง A และ B เมื่อลองพิจารณาให้ดี ต่างก็ไม่ใช่การสร้างความตระหนักรู้ให้ลูก แต่เป็นการบอกให้เชื่อพ่อแม่มากกว่า

         ทีนี้มาดูวิธีที่จะพบ “กุญแจแห่งความลับ” ซึ่งหมายถึงการสร้างความตระหนักรู้ หรือ Self-awareness และ Self-consciousness นี้กันนะคะ

         1.เข้าใจความต้องการพื้นฐานทางอารมณ์ตามวัยของลูก Put yourself in his/her shoes.

หากอยากให้ลูกรู้จักตัวตนของเขาเอง คุณพ่อคุณแม่ในฐานะผู้มีประสบการณ์มากกว่า จึงควรที่จะรู้ความต้องการ การชอบ ไม่ชอบ ของลูกด้วย

ลูกวัยอนุบาล ความต้องการพื้นฐานของพวกเขาคือ ความใกล้ชิดของแม่ การหอม กอด รอยยิ้มของผู้ใหญ่รอบ ๆ ตัว ความรู้สึกปลอดภัยและของเล่น

ลูกวัยประถม จะต้องการคำชมเชย รางวัล ความสนุกสนาน และต้องการเวลาของการเล่น และเริ่มเข้าใจเหตุและผลแต่ยังไม่ดีมาก

ลูกวัยมัธยม ต้องการการยอมรับ ทั้งจากเพื่อน ๆ และจากคนที่บ้าน ต้องการความท้าทายใหม่ ๆ กิจกรรมใหม่ ๆ คำพูดแปลก ๆ ใหม่ ๆ และยังคงต้องการความสนุก ความเข้าใจในเหตุผลเริ่มดียิ่งขึ้นกว่าสมัยประถม

         ความเข้าใจในตัวลูกของคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยให้สามารถจูงใจให้ลูกทำหรือหยุดทำพฤติกรรมต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น และชี้นำให้ลูกได้รู้จักคิด ตระหนักรู้ถึงตัวตนของเขา อีกทั้งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์กับลูกได้

         ตัวอย่าง ลูกวัยอนุบาลกำลังงอแง (A) และตัวอย่าง ลูกวัยมัธยมชอบเล่นเกมมากไป (B)

A. ใช้วิธีการกอดหอม และพาไปเล่นที่อื่น ๆ หรือของเล่นอย่างอื่น เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจของลูก

B. อาจชวนลูกและเพื่อนลูกไปทำกิจกรรมท้าทายใหม่ ๆ นอกบ้าน และอธิบายเหตุผลของผลเสียของการเล่นเกมมากเกินไป อีกทั้งต้องชวนให้เห็นตัวอย่างจริงของผลกระทบ ในการหมกมุ่นกับการเล่นเกม เวลาบอกหรือคุยกับลูก อาจลองใช้คำพูดกับลูกแปลก ๆ ใหม่ ๆ หรือใช้คำที่ลูกชอบพูดกับเพื่อน ๆ เป็นต้น

         2.ให้ตัวอย่าง และให้ลูกได้เป็นตัวอย่าง ในการให้บทเรียนกับตัวเขาเอง คือปล่อยให้เกิดการเรียนรู้โดยอนุญาตให้ทำผิดพลาดเองดู เพราะจะทำเกิดการตรึกตรอง วิเคราะห์ในเหตุและผลของการกระทำของเขาด้วยตัวเขาเอง ไม่ใช่โดยที่พ่อแม่มาบอกผลลัพธ์ให้ลูกเชื่ออย่างเดียว แต่พ่อแม่ควรทำหน้าที่แค่เป็นผู้ชี้แนะและชี้นำให้ลูกรู้จักคิด วิเคราะห์ แยกแยะถึงข้อเท็จจริงต่าง ๆ เพราะเหตุผลของพ่อแม่ แม้จะเป็นหลักความจริง แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่ลูกคิด เพราะลูกไม่เคยเห็นจริง และไม่รู้สึกร่วม

ตัวอย่างวิธีเช่น อาจชวนกันดูข่าวหรือหนัง พร้อมกับชี้ชวนอธิบายเหตุและผล คุยสรุปบทเรียนกันบ่อย ๆ

         อีกหนึ่งตัวอย่าง ให้เขาตามงานที่โรงเรียนเอง หากไม่ทัน ไม่ต้องยื่นมือไปช่วย แค่มองอยู่ห่าง ๆ และบอกเขาว่า ต้องการความช่วยเหลืออะไรให้บอกนะ หากเขาถูกครูทำโทษ ก็เป็นโอกาสดีที่จะเข้าไปชี้แนะ ให้เคล็ดลับดี ๆ ให้ลูกเพื่อจะปรับปรุงให้ดีขึ้น

         3.พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างที่ดีที่เหมาะ ให้ลูกได้ค่อย ๆ เรียนรู้จากพฤติกรรมพ่อแม่ (Being such an example) เพราะหากสิ่งที่พ่อแม่บอกให้ลูกทำนั้น สอดคล้องกับพฤติกรรมของพ่อแม่เอง ก็จะทำให้เขาปรับเปลี่ยนได้ง่ายขึ้น คุยกันง่ายขึ้น โดยพฤติกรรมของพ่อแม่ มีผลให้ลูกค่อย ๆ ปรับทัศนคติและมุมมองของเขา ให้คล้อยตามไปกับสิ่งที่เขาเห็น จนเกิดเป็นความเคยชิน

         4.หมั่นพูดคุยความรู้สึกกันเสมอ ๆ และฟังอย่างเปิดใจ อีกทั้งถ่ายทอดความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกฟัง เมื่อรู้อารมณ์ความรู้สึกลูกแล้ว จะได้ช่วยลูกวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งในตัวของเขา และช่วยคอยปรับอารมณ์ของเขา

ส่วนการพูดคุยความรู้สึกของคุณพ่อคุณแม่ จะช่วยสร้างความตระหนักรู้ด้านสังคมให้กับเขา คือตระหนักว่า การกระทำของเขา ไม่ได้มีผลกับแค่ตัวเขาเองเท่านั้น หรือที่เรียกว่า Social-awareness และเมื่อเกิด social-awareness แล้ว การปฏิบัติตามกฎระเบียบใด ๆ ในบ้านก็ง่ายขึ้น แถมยังช่วยปูพื้นฐานทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมนอกบ้านต่อไปอีกด้วย (social quotient)

         5.การให้แรงเสริม (Reinforcement) ซึ่งข้อนี้จะสอดคล้องกับ ข้อ 1. ที่กล่าวมาข้างต้น แรงเสริมที่ดีที่สุดก็คือ คำชมและกำลังใจของคุณพ่อคุณแม่

แรงเสริมหรือรางวัล จะช่วยย้ำความมั่นใจในการกระทำนั้น ๆ และจะช่วยสร้างความตระหนักรู้ในตัวตนได้ชัดขึ้น จะสังเกตได้ว่า เด็กที่ไม่เคยได้รับคำชมเชยใด ๆ จะคลำหาทางกันอยู่นานว่า สิ่งที่เขาชอบเขาทำนั้น ถูกหรือไม่ ดีหรือยัง

วัยอนุบาลชอบคำชม ความใกล้ชิด การหอมกอด ส่วนวัยประถมและมัธยม ต่างก็ชอบคำชมเชยและความสนุก หากลูกทำพฤติกรรมที่เหมาะสมแล้ว อย่าลืมที่จะให้คำชมหรือรางวัลนั้น ๆ กับลูกด้วยนะคะ

         เพียงเท่านี้ คุณพ่อคุณแม่ก็จะเป็นส่วนหนึ่ง ที่ช่วยสร้างความตระหนักรู้ในตัวตนให้ลูก เพื่อให้เขาได้มีความฉลาดทางอารมณ์ และที่สำคัญจะมีลูกที่น่ารักเชื่อฟังไม่ดื้อด้วยค่ะ

         ติดตามสาระดี ๆ ด้านจิตวิทยา ที่จะช่วยบำรุงจิตใจ และสร้างสมดุลกับให้กับชีวิตได้ ในเพจนี้นะคะ หากมีคำถาม สามารถ Inbox เข้ามา หรือใส่ comment มาในโพสก็ได้ค่ะ

 

         “แพรวจิตบำบัด”

 

 

//...................

หมายเหตุ :ไขความลับสู่การเลี้ยงลูกให้เชื่อฟังคล้อยตาม พร้อมกับการมี EQ ดี’ : คอลัมน์ 'แพรวจิตบำบัด': ‘บางกอกไลฟ์นิวส์

 

[ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม] You've been invited to the chat "ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม".

https://line.me/ti/g2/rooEoUs9W5mKkJUxuCFPKg

คอมมูนิตี้นี้ ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นในทุก ๆ แง่มุม และเปิดพื้นที่สำหรับทุกท่าน ได้แสดงความรู้สึกส่วนตัว โดยความร่วมมือของผู้ชำนาญด้านจิตศาสตร์และนิติศาสตร์คอยรับฟัง และให้คำแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการ

 

เพจ "รักษาใจสู่สมดุล"

         https://www.facebook.com/1525590614237527/posts/1610274839102437/

//...................