‘อิธิโอเปีย’ : ‘กอนดาร์’ : ‘คาเมล็อต’ แห่ง ‘แอฟริกา’

 

 

Fasil Gemb หรือ Fasilides castle ปราสาทเด่นที่สุดในกลุ่มปราสาทแห่งเมืองกอนดาร์

 

หาก “แอดดิส อะบาบา” คือบุปผาดอกใหม่แล้ว “กอนดาร์” ก็คงเป็นเช่นดอกไม้ของเมื่อวันวาน

แต่กระนั้นก็ใช่ว่า จะร่วงโรยรามิน่ายล ตรงกันข้าม “กอนดาร์” กลับเป็นเสมือนความ “คลาสสิก” ของ “อิธิโอเปีย” สมฉายาว่า เมืองนี้ เป็น คาเมล็อตแห่งแอฟริกา

“กอนดาร์” อดีตเมืองหลวง ของ “อิธิโอเปีย” เป็นหนึ่งในเมืองหลักที่ต้อง ไม่พลาด สำหรับการมาเยือน “อิธิโอเปีย” เพราะคุณไม่อาจรู้จักประเทศนี้ได้อย่างถ่องแท้ หากมิได้มาที่เมืองนี้

จาก “แอดดิส อะบาบา” หากดูจากแผนที่ “กอนดาร์” อยู่ทางด้านเหนือเฉียงไปทางตะวันตกนิด ๆ ระยะทาง 725 กิโลเมตร

 

Fasil Gemb หรือ Fasilides castle ปราสาทเด่นที่สุดในกลุ่มปราสาทแห่งเมืองกอนดาร์

 

สายการบินเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ พาเราบินไปลงเมือง “บาฮาร์ ดาร์” (Bahir Dar) นอกจากแวะชมที่นี่แล้ว เรายังต้องการนั่งรถสักช่วง เพื่อให้เห็นประเทศอิธิโอเปียทางภาคพื้นดินบ้าง

จาก “บาฮาร์ ดาร์” ไปยังเมือง “กอนดาร์” (Gondar) ใช้เวลาราว 3 ชั่วโมง สำหรับระยะทาง 175 กิโลเมตร

ไม่ต้องตกใจ แม้ “อิธิโอเปีย” จะมีเมืองหลวงที่เจริญอย่าง “แอดดิส อะบาบา” แต่การเดินทางระหว่างเมืองต่อเมืองนั้น ก็ยังถือว่า ไม่ค่อยสะดวกนัก

โดยเฉพาะกับนักเดินทางที่มีเวลาจำกัด

ดังนั้น การใช้บริการของเอธิโอเปียนแอร์ไลน์ สายการบินแห่งชาติของเขา จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

“อิธิโอเปีย” หาได้แห้งแล้งไปเสียทั้งหมดอย่างที่จินตนาการพาเรานึกคิดไปถึง ออกจาก “บาฮาร์ ดาร์” ไป เราได้เห็นผู้คนเดินเท้ากันไปเป็นกลุ่ม ๆ

บ้างก็ไปโบสถ์ เพราะชาวอิธิโอเปียน ถือเป็นคริสตชนที่เคร่งครัดมากเหลือเกิน และบางกลุ่มก็ออกเดินไปไร่นา

ถนนพาเราผ่านท้องทุ่งผืนดิน ที่ได้รับความชุ่มเย็น จาก “ทะเลสาบทีอานา” (Tana lake) จากนั้น เส้นทางนำเราขึ้นสู่ “ที่ราบสูงไซเมี่ยน” (Simien plateau) พื้นที่ธรรมชาติที่สำคัญ และถูกปกป้องในฐานะอุทยานแห่งชาติ

ในทางธรณีวิทยา ประเทศอิธิโอเปีย เกิดจากการยกตัวขึ้นมาของแผ่นดิน จึงเต็มไปด้วยร่องรอยธรณีกาล ที่เกิดจากภูเขาไฟ และการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก

 

มุมมองจากปราสาทเล็ก

 

“กอนดาร์” ถือเป็น “เมืองหลวงแห่งราชวงศ์” (Royal Capital of Ethiopia)

และเป็นเมืองหลวงถาวรแห่งแรก ของ “อิธิโอเปีย” ก่อนจะย้ายไป “แอดดิส อบาบา”

ก่อนหน้านั้น กษัตริย์แต่ละพระองค์ มักย้ายสถานที่พำนักเปลี่ยนไปตามฤดูกาล และรัชสมัย จนกระทั่งมาถึงสมัย “จักรพรรดิ์ฟาซิล” หรือ “ฟาซิลิดิส” (Fasil - Fasilidas))

พระองค์เลือกดินแดนบน “ที่ราบสูงอบิสซิเนีย” แห่งนี้เป็นเมืองหลวง พร้อมกับสร้างพระราชวังถาวรขึ้นเป็นครั้งแรก ในปี พ.ศ.2179

หากเปรียบกับเมืองไทย ก็ตรงกับสมัย “พระเจ้าปราสาททอง” ของ “กรุงศรีอยุธยา” ซึ่งเป็นยุคสมัยที่ปอร์ตุเกสกำลังรุ่งเรืองทางการค้าอยู่ในเอเชีย

สถานที่ซึ่งถือว่า โดดเด่น เป็น “ไอคอน” ของ “กอนดาร์” ก็คือ พระราชวังต้องห้าม (Royal Enclosure)

ซึ่งก็คือพระราชวังของกษัตริย์พระองค์ต่าง ๆ ในสมัยที่ยังใช้ “กอนดาร์” เป็นเมืองหลวงอยู่

ทั้ง กษัตริย์ฟาซิล , โยฮันเนส, อิยาสุ , เบคาฟฟา และ เดวิด

แต่ละพระองค์ต่างก็มีวังส่วนพระองค์ อยู่ภายในกำแพงของพระราชวังต้องห้ามทั้งหมด

 

โบสถ์เดเบร เบอร์ฮาน เซลาสซี่ ที่แสวงบุญสำคัญของชาวอิธิโอเปียนออร์โธดอกซ์ 

 

แต่ที่เด่นที่สุดและเป็นสัญลักษณ์ของ “กอนดาร์” ก็คือ Fasil Gemb หรือ “ปราสาทของฟาซิล” ซึ่งอยู่หน้าสุดของกลุ่มอาคารต่าง ๆ มีหอคอยโดดเด่น ราวปราสาทยุคกลางของยุโรป

จากการค้าขายหลากหลายสินค้ากับอาหรับ กาแฟ/งาช้าง/นอแรด และทาส พวกนี้ คือ สินค้าจากอาณาจักร ของ “จักรพรรดิ์ฟาซิล” ที่ส่งไปยังโลกอาหรับ สร้างความร่ำรวยให้กับพระองค์ จนสามารถจ้าง “ปอร์ตุเกส” จาก “เมืองกัว” ใน “อินเดีย” มาสร้าง “พระราชวัง” ซึ่งยิ่งใหญ่อลังการ จนได้ฉายาว่า “คาร์เมล็อตแห่งแอฟริกา”

ใครมาเห็นที่นี่ ก็อดไม่ได้ที่จะต้องนึกถึง คาร์เมล็อต ปราสาทของ “อาเธอร์” กษัตริย์ในตำนานแห่งอังกฤษ ที่มีพ่อมดคู่พระทัยชื่อ “เมอร์ลิน” และเป็นต้นตำนานของ “อัศวินโต๊ะกลม”

 

รูปใบหน้าเครูป 135 ตน บนเพดานของโบสถ์เดเบร เบอร์ฮาน เซลาสซี่ 

 

ไม่ใช่แค่เพียงเมืองหลวงเก่า ของ “อิธิโอเปีย” เท่านั้น แต่ “กอนดาร์” ยังถือเป็น “เมืองศักดิ์สิทธิ์” ของชาว “อิธิโอเปียนออร์โธดอกซ์”

เพราะเชื่อกันว่า เมืองนี้ เคยเป็นที่สถิตของ Ark of the Covenant หรือ หีบแห่งพันธะสัญญา

ตามพระคัมภีร์เก่า ระบุว่า “โมเสส” ได้สร้างหีบขึ้นตามรูปแบบที่พระเจ้าทรงตรัสไว้แก่เขา

เพื่อเก็บ “แผ่นหินจารึกโอวาทของพระเจ้า” ที่เรียกกันว่า บัญญัติ 10 ประการ

และเชื่อว่าเมื่อ “กองทัพมุสลิม” ของ “ซาลาฮ์ดิน” ยึด “เยรูซาเล็ม” ได้

หีบนี้ได้ถูก “ชาวคริสต์” นำมาไว้ที่ “อาณาจักรอักซุม” ก่อนถูกเคลื่อนย้ายมาที่ “กอนดาร์”

 

สำรับแบบชาวอิธิโอเปียน

 

“โบสถ์เดเบร เบอร์ฮาน เซลาสซี่” (Debre Berhan Selassie) ในเมือง “กอนดาร์” นี่แหละ ที่เชื่อว่า เคยเป็นที่เก็บ “หีบแห่งพันธะสัญญา”

โบสถ์นี้ สร้างในสมัย “จักรพรรดิอียาสุ ที่ 2” (Emperor Eyasu II) เพื่อเก็บ “หีบแห่งพันธะสัญญา”

แต่เมื่อราว 130 ปีที่แล้ว “กองทัพมุสลิม” จาก “ซูดาน” ได้บุกเข้าทำลายโบสถ์แห่งนี้จนพินาศ และ “หีบแห่งพันธะสัญญา” ก็ได้สูญหายไปนับแต่นั้น

“จักรพรรดิ์ฟาซิล” ได้สร้างโบสถ์ขึ้นมาใหม่ พร้อมกับจำลอง “หีบแห่งพันธะสัญญา” ใบใหม่ขึ้นมา

“โบสถ์เดเบร เบอร์ฮาน เซลาสซี่” แม้จะไม่ใหญ่ แต่ก็งดงามสุด โดยเฉพาะ “เพดานโบสถ์” ที่วาดเป็นรูปใบหน้า “เครุบส์” (cherubs) หรือ “ทูตสวรรค์” 135 ตน ที่จับจ้องมองลงมาเบื้องล่าง

“เดเบร เบอร์ฮาน เซลาสซี่” อาจมิใช่โบสถ์ที่น่าอัศจรรย์ อย่าง “ลาลิเบลล่า” หรืองดงามสีสันอย่าง “โบสถ์เซนต์แมรี” แห่ง “ภูเขาเอ็นโตโต้”

แต่ที่นี่ ก็ได้ชื่อว่า เป็นโบสถ์สำคัญ และสวยงามที่สุดแห่งหนึ่ง ของ “อิธิโอเปีย”

ถ้ามาเมือง “กอนดาร์” แล้วพลาดที่นี่ละก็ อภัยให้กันไม่ได้จริง ๆ !

 

ทิวทัศน์ข้างทาง จากบาฮาร์ดาร์ ถึง กอนดาร์

 

“กอนดาร์” เป็นเมืองที่มีตึกรามสวย ๆ แบบยุโรปอยู่หลายแห่ง ไม่ต้องแปลกใจอะไร เพราะเมืองนี้ เคยถูกอิตาลียึดครองไว้ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.2479 จนกระทั่งสิ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่ “จักรพรรดิไฮเลเซลัสซี่” จะขับไล่ออกไปได้

อาคารบ้านเรือนต่าง ๆ ในเมือง จึงมี “สถาปัตยกรรม” แบบ “อิตาเลี่ยน” อยู่มากมาย

หาก “แอดดิส อะบาบา” คือความทันสมัยแล้ว “กอนดาร์” ก็คงเป็นความงามแบบคลาสสิก

ดังนั้น มาถึงนี่ เราจึงต้องลองตำรับอาหารแบบชาวอิธิโอเปียนแท้ ๆ กันสักหน่อย

อาหารที่ไม่ว่าใครมา “อิธิโอเปีย” เป็นต้องมีโอกาสได้ชิมแน่ ๆ เรียกว่า เป็น “เมนูประจำชาติ” ของเขาเลยก็ว่าได้ คือ “แผ่นแป้งนึ่ง” ที่เรียกว่า “อินเจอร่า” (Injera)

ชาวอิธิโอเปียน กิน “อินเจอร่า” ต่างข้าวกันเลยทีเดียว

 

ความอุดมของผืนดิน ที่ได้รับผลจากทะเลสาบทีอานา (Tana lake)

 

“อินเจอร่า” เป็นแป้งที่ทำจาก “เมล็ดพืชโบราณ” ที่ขึ้นในเขต horn of Aferica หรือแถบ “เอธิโอเปีย” และ “เอริเทรีย” เรียกว่า “เทฟ” ( teff)

เขาจะเอา “แป้งเทฟ” หมักไว้ประมาณ 3 วัน ทำเป็นแผ่นกลม ๆ เอาไปนึ่ง

รสชาติของ “อินเจอร่า” จึงออกเปรี้ยวนิด ๆ และนุ่มนวลนัก

เวลาทาน จะฉีก “อินเจอร่า” ให้พอดีคำ แล้วเอากับข้าวจำพวกเนื้อที่ทำเป็นแนวสตูว์ ย่าง หรือผัด วางบน “อินเจออร่า” แล้วห่อแป้งให้ม้วนหุ้มกับข้าว หยิบเข้าปากได้เลย

อ้อ ! ถ้าจะทานแบบชาวอิธิโอเปียนแท้ ๆ นี่ ต้องใช้มือหยิบทานกัน

และตามธรรมเนียม ต้องใช้มือขวาเท่านั้น เพราะมือซ้ายจะนำโชคร้ายมาให้ 

เจ้า “เทฟ” ซึ่งเดิมเป็น “ธัญพืชป่า” แต่ปัจจุบันเขาปลูกเป็นพืชไร่แล้ว เป็นธัญพืชที่อุดมด้วยคาร์โบไฮเดรตและเส้นใย มีความสามารถในการดูดซับน้ำสูง

สำคัญคือเป็น “ธัญพืช” ที่ไม่มี “โปรตีนกลูเตน” (gluten) ซึ่งเป็นโปรตีนที่ก่อ “ภาวะภูมิแพ้” (food allergen) และพบมากใน “แป้งข้าวสาลี”

“เทฟ” จึงมีคุณค่าทางโภชนาการ เหมือนพวก “มิลเล็ต” (millet) และ “คีนัว” (quinoa)

ซึ่งบ้านเรากำลังฮิตในหมู่คนที่รักอาหารประเภท “เฮลตี้”

ปัจจุบัน ยังไม่มีใครสั่ง “แป้งเทฟ” มาขายที่บ้านเรา น่าสนใจไหมเล่า ?

 

 

แท่งหินภูเขาไฟ เย อีเกอะซี ฮ่าแบ็บ ธ็าด” (y' egzihaber tsat(t'at) นิ้วโป้งของพระเจ้า

 

//..................

หมายเหตุ: ‘อิธิโอเปีย’ : ‘กอนดาร์’: ‘คาเมล็อตแห่ง แอฟริกาคอลัมน์ ลมหายใจเดินทางโดย ศรัณย์ บุญประเสริฐ

//..................