ยก “ผ้ายกเมืองนคร” มาให้ชมในงาน OTOP ศิลปาชีพ

 

          เมื่อพูดถึงผ้าไทย โดยเฉพาะผ้าที่มีความงดงาม ประณีต และมีประวัติความเป็นมายาวนาน น่าสนใจ หนึ่งในนั้นต้องยกให้  “ผ้ายกเมืองนคร” ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราช มรดกภูมิปัญญาที่สืบต่อกันมาแต่โบราณของ “ชาวนคร”  

          สันนิษฐานกันว่ามีการทอผ้าลวดลายสีสันแบบ “ผ้ายกเมืองนคร” กันมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลายหรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น  แบบอย่างการทอผ้าที่มีลักษณะพิเศษสลับซับซ้อนและพิถีพิถันนั้น ว่ากันว่าได้มาจากเมืองไทรบุรี  และเมื่อประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งสูงค่ามีราคา  จึงทำให้ผ้ายกเมืองนครได้รับการยกย่องงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมมาตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย  จนกลายเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าที่ขึ้นชื่อในลำดับต้นๆ ของเมืองไทยในเวลาต่อมา  แต่เดิมผ้ายกเมืองนครถือเป็นผ้าสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์  เจ้าเมือง  และขุนนางชั้นสูง  ต่อมาจึงมีการดัดแปลงเป็นผ้าสำหรับคหบดี  เจ้านายลูกหลานเจ้าเมือง  และสามัญชนทั่วไป  ใช้นุ่ง สำหรับงานพิธีสำคัญต่างๆ

 

           ทว่าเมื่อเวลาผ่านเลยไป  มรดกวัฒนธรรมผ้าทอไทยอย่างผ้ายกเมืองนคร แทบจะเหลือสถานะเพียงโบราณวัตถุในพิพิธภัณฑ์  จนกระทั่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงฟื้นฟูการผลิต  “ผ้ายกเมืองนคร”  ให้กลับมาอีกครั้ง ด้วยฝีมือช่างทอของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ  ที่
“ศูนย์ศิลปาชีพเนินธัมมัง”  และ “ศูนย์ศิลปาชีพบ้านตรอกแค”  จังหวัดนครศรีธรรมราช  และกลายเป็นผลิตภัณฑ์  OTOP  ขึ้นชื่อในปัจจุบัน

 

          วิไล  จิตรเวช  ประธานกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค ตำบลขอนหาด อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช บอกเล่าด้วยรอยยิ้มว่า จุดเริ่มต้นของผลิตภัณฑ์  OTOP  ผ้ายกเมืองนคร  เริ่มมาจากโครงการศูนย์ศิลปาชีพ โดยมีศูนย์ศิลปาชีพที่บ้านตรอกแค จัดหาวิทยากรมาช่วยสอนและอบรมกลุ่มทอผ้าเพื่อจำหน่ายในชุมชนและใช้เองด้วย ซึ่งช่วงแรกมีสมาชิก 21 คน

 

          ในช่วงเริ่มต้นนั้น มีการทอผ้าเป็นผ้ายกดอกประมาณ  10  ลาย  ต่อมาจึงส่งผ้าเข้าคัดสรร และได้รับเลือกจากกรมการพัฒนาชุมชน  กระทรวงมหาดไทย  ให้เป็นผลิตภัณฑ์  OTOP ระดับ  5  ดาวตั้งแต่ครั้งแรก  ทำให้ผ้ายกเมืองนครจากกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแคเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้น

          ต่อมามีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช  ทำวิจัยเรื่องลายโบราณที่ได้รับเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์ OTOP ระดับ 5 ดาวตั้งแต่ครั้งแรก โดยการมุ่งเน้นเรื่องการผลิตผ้าทอที่มีคุณภาพ ถ้าสังเกตจะพบว่าผ้ายกเมืองนครมีลักษณะเป็นผ้าที่เรียกกันว่า เนื้อแน่น  ดอกดี  ดอกเด่น  และที่สำคัญผ้ายกเมืองนครนี้เป็นลายโบราณของจังหวัด  ซึ่งที่อื่นไม่มี  และเป็นการทองจากฝีมือของชาวบ้านที่มีเอกลักษณ์  หากไปศึกษาจะพบลายโบราณลักษณะนี้มีอยู่ในพิพิธภัณฑ์เมืองนคร  ซึ่งก่อนหน้านี้ต้องเรียกว่าเกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่ หากจะเรียกว่าเป็นลวดลายแห่งประวัติศาสตร์ก็คงไม่ผิด

 

          กรรมวิธีการทอผ้าของกลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแคมีประมาณ  10  ขั้นตอน  ขึ้นอยู่กับประเภทของผ้าที่ทอ  ว่าเป็นผ้าขาวม้า  ผ้ายกดอก  หรือผ้ายกเมืองนคร  โดยมีการทำงานที่เป็นระบบในลักษณะของกลุ่มชุมชน  และได้รับการสนับสนุนจากรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการคัดสรรผลิตภัณฑ์  การพัฒนาผลิตภัณฑ์  รวมถึงสนับสนุนงบประมาณใน การแปรรูป  และปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและกลุ่มเป้าหมาย  ทั้งยังส่งเสริมด้านการตลาดผ่านงานแสดงสินค้าต่างๆ ที่ทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสได้พบกับผู้บริโภคโดยตรง โดยนอกจากงานแสดงสินค้า  OTOP  แล้ว  ผ้ายกเมืองนครยังมีวางจำหน่ายที่ศูนย์ศิลปาชีพในพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถฯ  ระหว่างประเทศที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  ส่วนในจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น สามารถเลือกชมได้ที่ ร้านนครธรรม  ร้าน  12  นักษัตริย์  สนามบินนครศรีธรรมราช  และยังมีจำหน่ายออนไลน์ผ่าน Facebook  ชื่อ กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค อีกด้วย

 

          ทุกวันนี้ “กลุ่มทอผ้าบ้านตรอกแค” ยังคงพยายามพัฒนาผลงาน ให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเรื่อยๆ  เพื่อสร้างงาน  สร้างอาชีพ  และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านต่อไป พร้อมทั้งสืบทอดมรดกภูมิปัญญาของบรรพชนที่ได้สร้างสรรค์ไว้ ให้เป็นความภาคภูมิใจของลูกหลานเมืองนครในอนาคต

          หากใครสนใจเรื่องราวของ “ผ้ายกเมืองนคร” เร็วๆ นี้ ทางกลุ่มกำลังจะนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงและจำหน่าย รวมทั้งการสาธิตกระบวนการทอผ้ายกเมืองนครให้เห็นกับตา ในงาน  “ศิลปาชีพประทีปไทย OTOP  ก้าวไกลด้วยพระบารมี  2562” หรือที่เรียกกันทั่วไปว่างาน "OTOP ศิลปาชีพ" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่  10  -  18  สิงหาคม 2562  ชาเลนเจอร์  1  -  3  อิมแพ็ค  เมืองทองธานี