คุยกับ ‘หมอหนุ่ย’ : ‘กัญชา’ ยาวิเศษจริงหรือ ?

คุยกับ หมอหนุ่ย’: ‘กัญชา ยาวิเศษจริงหรือ ?

 

 

               "กัญชา" เป็นเรื่องหนึ่ง ที่อยู่ในความสนใจของผู้คนในสังคมมาได้นานหลายเดือนแล้ว

 

               ดังที่เราได้ยินมาว่า มีพรรคการเมืองหยิบยกเอาเรื่องกัญชาเสรีมาใช้หาเสียง มีการแก้ไข พรบ.เกี่ยวกับยาเสพติด จัดประเภทกัญชาใหม่ จากสารเสพติดไปเป็นพืชสมุนไพร มีประกาศกำหนดระยะเวลาการนิรโทษกรรมแก่ผู้ครอบครองกัญชา มีข่าวอนุญาตให้คนไข้บางกลุ่มสามารถใช้กัญชารักษาโรคได้ รวมถึงมีการอนุญาตให้กลุ่มเกษตรกร สถาบันวิจัย หรือบุคคลบางกลุ่มสามารถปลูกกัญชาได้

 

                กระแสข่าวเกี่ยวกับกัญชามีทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย บ้างก็ว่ากัญชาเป็นสารเสพติดทำให้เกิดอาการประสาทหลอน ไม่ดี บ้างก็ว่ากัญชาเป็นเหมือนยาวิเศษ สามารถนำมาใช้ในการรักษาโรคภัยไข้เจ็บได้อย่างชะงัด แถมยังสามารถใช้รักษาได้สารพัดโรคอีกด้วย

 

                แล้วความเป็นจริงนั้นเป็นเช่นไร เราสามารถเชื่อถือข้อมูลทางด้านใดได้บ้าง

 

                เพื่อตอบข้อสงสัยนี้ จึงควรมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกัญชาให้ถ่องแท้เสียก่อน

 

                ความรู้เกี่ยวกับกัญชาในปัจจุบันยังเป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนมาก กลไกการออกฤทธิก็ยังไม่กระจ่างชัด ไม่สามารถอธิบายได้ในทุกกรณี สิ่งที่จะเขียนเล่าต่อไปนี้อาจดูยุ่งยากอยู่บ้าง จึงต้องขออภัยไว้ล่วงหน้านะครับ

 

                ขอเริ่มเรื่องด้วยการทำความเข้าใจกลไกการออกฤทธิ์ของยา และสารเคมีต่าง ๆ ที่กระทำต่อร่างกายกันก่อน

 

                ยาหรือสารเคมีเมื่อถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายแล้ว มันจะแพร่กระจายไปตามกระแสโลหิตเอ่ออาบไปทั่วร่าง กล่าวได้ว่ายาหรือสารเคมีนั้นเข้าถึงเกือบทุกอวัยวะเกือบทุกเนื้อเยื่อของร่างกาย แต่ยาจะออกฤทธิเฉพาะต่อเซลล์หรือเนื้อเยื่อที่จำเพาะเจาะจงต่อมันเท่านั้น ตัวอย่างเช่น  ยาลดความดันโลหิตก็จะออกฤทธิ์เฉพาะที่เส้นเลือดหรือหัวใจเพื่อลดความดันโลหิต  ยาขับปัสสาวะก็จะออกฤทธิขับปัสสาวะที่ไต โดยไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับเนื้อเยื่ออื่น เหล่านี้ เป็นต้น

 

                ความจำเพาะเจาะจงในการออกฤทธิ์ ถูกกำหนดโดยโครงสร้างส่วนหนึ่งของเซลล์ ที่เรียกว่า "ตัวรับ (receptor)" แต่ละเนื้อเยื่อ แต่ละอวัยวะต่างก็มีชนิดของตัวรับแตกต่างกันออกไป ทำให้แต่ละเนื้อเยื่อหรืออวัยวะนั้น ๆ ทำหน้าที่ได้แตกต่างกัน

 

                ภายในระบบประสาท ซึ่งแบ่งย่อยออกเป็นระบบประสาทส่วนกลาง และระบบประสาทส่วนปลายนั้น มีการทำงานทำงานชนิดหนึ่งเรียกว่า endocannabinoid system (ECS) การทำงานนี้กี่ยวข้องกับหลาย ๆ กระบวนการของร่างกาย อย่างเช่น การนอนหลับ อารมณ์ความรู้สึก ความอยากอาหาร ความจำ การเจริญพันธุ์ เป็นต้น ECS ทำงานได้เองตลอดเวลาอยู่แล้ว แม้ว่าเราจะไม่ได้เสพกัญชาเลยก็ตาม

 

                ECS ของร่างกายเรามีองค์ประกอบสามอย่างคือ

                1) กลุ่มสารเคมีที่เรียกว่า endocannabinoid

                2) ตัวรับ

                3) น้ำย่อย (เอนไซม์)

 

                Endocannabinoid ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาได้เองเท่าที่รู้จักกันในปัจจุบันคือ anandamide (AEA) และ 2-arachidonoylglycerol (2-AG)

 

                ตัวรับใน ECS เรียกว่า Cannabinoid receptor แบ่งย่อยลงไปได้อีกเป็น 2 ชนิด เรียกว่า cannabinoid receptor 1 (CB1) และ cannabinoid receptor 2 (CB2)

 

                CB1 พบมากในระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง

                CB2 พบที่ระบบประสาทส่วนปลาย และระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

 

                เมื่อ endocannabinoid จับกับตัวรับ ไม่ว่าจะเป็น CB1 หรือ CB2 ก็ตาม ผลของการออกฤทธิ์ก็จะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการทำงานของเนื้อเยื่อที่มีตัวรับนั้น ตัวอย่างเช่น endocannabinoid จับกับ CB1 ที่ไขสันหลัง ก็จะหยุดยั้งการส่งสัญญาณความเจ็บปวดผ่านไขสันหลังไปที่สมอง ทำให้ไม่รู้สึกเจ็บปวด อีกกรณีหนึ่งคือ endocannabinoid จับกับ CB2 ของเม็ดเลือดขาวแล้วทำให้ให้ลดกระบวนการอักเสบของเนื้่อเยื่อต่าง ๆ ลดลง

 

                องค์ประกอบที่สามของ ECS คือน้ำย่อยหรือเอนไซม์ มีไว้เพื่อทำลาย endocannabinoid ไม่ให้ออกฤทธิ์ยาวนานต่อเนื่องเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย endocannabinoid มี 2 ชนิด เอนไซม์จึงมี 2 ชนิดด้วยเช่นกัน คือ fatty acid amide hydrolase ไว้สำหรับทำลาย AEA และ monoacylglycerol acid lipase สำหรับทำลาย 2-AG

 

                ที่กล่าวผ่านมานั้นเป็นภาคทฤษฎี ขออภัยท่านผู้อ่านด้วย หากว่าจะมีคำศัพท์ยาก ๆ และกลไกยุ่ง ๆ ไม่คุ้นเคยทำให้สับสนได้

 

                หากจะสรุปง่าย ๆ ก็เป็นว่า ในร่างกายของเรามีระบบการทำงานที่เรียกว่า endocannabinoid อยู่แล้ว ระบบนี้ทำงานค่อนข้างซับซ้อน มันทำงานเกี่ยข้องกับหลาย ๆ อย่าง เช่น ความรู้สึกอยากอาหาร การย่อยอาหาร การเผาผลาญสารอาหารของร่างกาย ความรู้สึกเจ็บปวด ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การอักเสบ อารมณ์ความรู้สึก การเรียนรู้ ความจำ การนอนหลับ การสืบพันธุ์ การเจริญพันธุ์ ฯลฯ

 

                กัญชาเป็นพืชที่ผลิตสารเคมีที่สามารถจับกับตัวรับใน ECS ได้ สารสกัดจากกัญชามีมากกว่า 100 ชนิด แต่ที่รู้จักกันดีมีอยู่ 2 ชนิดคือ Tetrahydrocannabinol (THC) กับ Cannabidiol (CBD) สารทั้งสองออกฤทธิ์แตกต่างกัน

 

                THC มีฤทธิ์กระตุ้นสามารถจับกับตัวรับได้ทั้ง CB1 และ CB2 ผลการออกฤทธิ์ทำให้เกิดทั้งสิ่งที่พึงปรารถนาและที่ไม่พึงประสงค์ ฤทธิ์ของ THC ทำให้ลดอาการเจ็บปวด ทำให้เจริญอาหาร แต่ในขณะเดียวกัน THC ก็กระตุ้นให้เกิดความตื่นตัว ประสาทหลอน หวาดระแวงขึ้นมาด้วย

 

                CBD ไม่ได้มีฤทธิ์กระตุ้นอย่าง THC มันไม่สามารถจับกับตัวรับ CB1 หรือ CB2 ได้ นักวิจัยเชื่อกันว่า CBD ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการทำงานของน้ำย่อย fatty acid amide hydrolase และ monoacylglycerol acid lipase เอาไว้ ไม่ให้ทำลาย endocannabinoid เร็วเกินไป หรือไม่ก็ไปออกฤทธิ์โดยจับกับตัวรับอื่นของ ECS ที่ยังไม่ได้ค้นพบ

 

                ปัจจุบันประเทศไทยอนุญาตให้ใช้กัญชาได้ ในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล หรือควบคุมอาการไม่ได้แล้วเท่านั้น โดยมีโรคหรือภาวะที่แนะนำให้ใช้ได้เพียง 4 อย่าง คือ

                1) ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดในคนไข้โรคมะเร็ง

                2) โรคลมชักที่รักษายาก หรือดื้อต่อยารักษา กรณีนี้ให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทเป็นผู้สั่งยา

                3) ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง (multiple sclerosis)

                4) ภาวะปวดประสาท (neuropathic pain)

 

                นอกจากนี้ยังมีโรคหรือภาวะที่อาจใช้กัญชาได้ แต่ต้องทำพร้อมกับการเก็บข้อมูลวิจัยร่วมด้วย ภาวะเหล่านี้ได้แก่

                1) ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง เนื่องจากรักษาโรคให้หายขาดแล้วไม่ได้

                2) ผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย

                3) โรคพาร์กินสัน

                4) โรคอัลไซเมอร์

                5) โรควิตกกังวลทั่วไป

                6) โรคปลอกประสาทอักเสบ

 

                ส่วนกรณีที่มีข่าวมาว่า กัญชารักษามะเร็งได้นั้น ปัจจุบันความรู้ในเรื่องนี้นั้น ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัยเกี่ยวประสิทธิผลในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้กัญชารักษามะเร็งในสัตว์ทดลองอยู่ ยังไม่ถึงขั้นตอนที่จะนำมาประยุกต์ใช้ในมนุษย์

 

      หากในอนาคตกัญชาสามารถรักษามะเร็งได้ ก็จะเป็นอีกโรคหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากการใช้กัญชาทางการแพทย์...

 

 

//.................

          หมายเหตุ : หมอหนุ่ยเป็น นามปากกาของ ผศ.นพ.ธีรวรรธน์ ขันทอง

//.................