“อานันท์ นาคคง” ศิลปินศิลปาธร กับเส้นทางของซีอาเซียนคอนโซแนนท์

          “เครือญาติดนตรี วิถีอาเซียน” เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่จัดพิมพ์ขึ้นในวาระพิเศษ มีชื่อภาษาอังกฤษว่า “Here ASEAN soul, Hear ASEAN sounds” บรรจุเรื่องราวจากประสบการณ์และการเรียบเรียงของ “อานันท์ นาคคง” ผู้ได้รับคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรม ยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินร่วมสมัยดีเด่นรางวัล “ศิลปาธร” สาขาดนตรี ประจำปี พ.ศ. 2562

 

          หนึ่งในบทความภายในเล่มที่เขียนขึ้นล่าสุด คือ “บทบันทึก บนเส้นทางดนตรีของซีอาเซียนคอนโซแนนท์” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวที่นับเป็นหนึ่งในหมุดหมายสำคัญบนเส้นทางการทำงานของ “อานันท์ นาคคง” และบอกเล่าลมหายใจของดนตรีที่มีอยู่ทั่วทุกแห่ง 

“บทบันทึก บนเส้นทางดนตรีของซีอาเซียนคอนโซแนนท์”

 

          การเกิดประชาคมอาเซียน (ASEAN community) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวของเศรษฐกิจการเมืองสังคมวัฒนธรรมและศิลปะในหลายด้าน วงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ C Asean Consonant  เป็นหนึ่งในความเคลื่อนไหวทางศิลปวัฒนธรรมที่เปิดพื้นที่ใหม่ในการเรียนรู้ด้านการบริหารจัดการมรดกรากเหง้าทางดนตรีของผู้คนในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในโลกสมัยใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สอดรับกับวิถีชีวิตที่ก้าวไปด้วยกันของชุมชนอาเซียน อันมีเอกลักษณ์เด่นคือความหลากหลายทางวัฒนธรรม การแสวงหาคำตอบร่วมกันว่า

          ทำอย่างไรที่ดนตรีในภูมิภาคนี้ ที่มีความแตกต่างหลากหลายในระบบเสียง รูปร่างลักษณะของเครื่องดนตรี ความเชื่อในดนตรี ประวัติศาสตร์ดนตรี ความเชื่อ ฯลฯ จะสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจและการยอมรับนับถือกันในสมาชิกประเทศอาเซียนได้ และนอกจากการสร้างวงดนตรี สร้างเพลงดนตรี สร้างศิลปินผู้แสดงขึ้นมาแล้ว หัวใจสำคัญที่ต้องขบคิดคือการสร้างผู้ฟังผู้ชม ในขณะที่สื่อบันเทิงในโลกโลกาภิวัฒน์เคลื่อนไหวไปอย่างไม่หยุดยั้ง มีตัวอย่างของการเติบโตของธุรกิจบันเทิงมากมายหลากหลาย ดนตรีอาเซียนจะสามารถดำรงอยู่อย่างสง่างามด้วยได้ไหมและสร้างความนิยมได้อย่างไร

          การเติบโตของวงดนตรีเล็กๆ  วงนี้ วิสัยทัศน์การทำงาน การดำเนินโครงการ ดูแลบริหารจัดการโดยศูนย์ ซี อาเซียน C ASEAN ซึ่งเป็นองค์กรเพื่อสังคม ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2556 ด้วยแนวคิด "Collaboration for the better of ASEANís connectivity" ภายใต้การสนับสนุนของบริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซีอาเซียนมีเป้าหมายเพื่อเป็นเวทีเสริมสร้างความร่วมมือกันในภูมิภาคอาเซียนทั้งในด้านเศรษฐกิจ ศิลปะ และวัฒนธรรม ผ่านกิจกรรมอันหลากหลาย ด้วยความมุ่งหวังที่จะเป็นศูนย์กลางของการสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนของภูมิภาค เติบโตไปเป็นกำลังสำคัญในการสร้างสรรค์ร่วมกันอย่างช่วยเหลือเกื้อกูลและเติบโตร่วมกันอย่างยั่งยืน โครงการดนตรีซีอาเซียนคอนโซแนนท์ นับเป็นตัวอย่างของงานนวัตกรรมทางศิลปวัฒนธรรมอย่างงดงามและเป็นรูปธรรม

          จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดขึ้นเมื่อกลางปี พ.ศ. 2558 โดยทางศูนย์ซีอาเซียนและไทยเบฟเวอเรจฯ มอบหมายให้อานันท์ นาคคง นักมานุษยวิทยาดนตรี อาจารย์คณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ตัวแทนมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเชื้อเชิญเครือข่ายนักวิชาการ ศิลปินผู้เชี่ยวชาญดนตรีพื้นบ้านพื้นเมืองจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งสิบประเทศ เดินทางมาพบปะกันเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ดนตรีแนวประเพณีในประเทศของตน ร่วมแลกเปลี่ยนทัศนะในการพัฒนาดนตรีแนวประเพณีในโลกอนาคต ระดมความคิดเกี่ยวกับการผลิตงานเพลงอาเซียนในแนวสร้างสรรค์ร่วมกัน ในช่วง 25-27 กันยายน พ.ศ. 2558

          ศิลปินและนักวิชาการดนตรีอาเซียน ผู้ร่วมประชุมระดมสมองในครั้งแรก ประกอบไปด้วย 1) อ.ดาดัง สุปริอัตนา Dadang Supriatna (Brunei Darussalam) นักดนตรีฝีมือเอกของบรูไนและนักประพันธ์เพลง โปรดิวเซอร์รายการดนตรี บริษัท DíFinda Entertainment, 2) ศาสตราจารย์ยศ จันดารา Prof. Yos Chandara (Cambodia) นักไวโอลิน คณบดีคณะดนตรีและการแสดง ราชวิทยาลัยวิจิตรศิลปะกัมพูชา Royal University of Fine Arts (RUFA), 3) ดร.แฟรงกี้ ระเด่น Dr. Franki Raden (Indonesia) นักมานุษยวิทยาดนตรี นักประพันธ์เพลงประกอบภาพยนตร์รางวัล Best Film Music Award (Piala Citra) โปรดิวเซอร์งานเทศกาลดนตรี และผู้ก่อตั้งวงดุริยางค์แห่งชาติอินโดนีเซีย Indonesian National Orchestra (INO), 4) ดร.ดวงจำปี วุฒิสุข Dr.Douangchampy Vouthisouk (Laos PDR) รองอธิบดีกรมศิลปการแสดง กระทรวงข้อมูล วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว สปป.ลาว นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญศิลปการแสดงพื้นบ้านลาว, 5) อ.โมฮัมหมัด ยาซิด ซากาเรีย Mohd Yazid Zakaria (Malaysia) วาทยกร  นักประพันธ์เพลงรางวัลยอดเยี่ยมของ MPO Forum ผู้เชี่ยวชาญดนตรีมาเลเซียที่ได้รับมอบหมายจากอดีตนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ดาโต๊ะ ซรี โมฮัมหมัด นาจิบ บิน ตุน อับดุล ราซัค ให้เป็นผู้ก่อตั้งควบคุมดูแลวงออร์เคสตร้าพิเศษรวมชาติพันธุ์มาเลเซีย Orkestra Tradisional Malaysia (OTM), 6) อ.เนเมียว ออง Ne Myo Aung (Myanmar) ผู้อำนวยการสถาบันดนตรีคีตมิตร Gitameit Music Institute นักเปียโน Sandaya และนักวิชาการจดหมายเหตุดนตรีเมียนมาร์, 7) อ.อาร์วิน ควินโนเนส ตัน Arwin Quinones Tan (Philippines) [หมายเหตุ : ต่อมาเปลี่ยนเป็น รศ.ดร.ลาเวิร์น เดอ ลา เพนญา Assoc. Prof. Dr. Laverne David De La Pena (Philippines) นักวิชาการดนตรีวิทยา คณบดีวิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ University of the Phillippines Dilliman, 8) ดร.โจเซฟปีเตอรส์ Dr. Joseph Peters (Singapore) ผู้เชี่ยวชาญวิทยาศาสตร์วัฒนธรรมทางเสียงดนตรีในภูมิภาคอาเซียน นักมานุษยวิทยาดนตรี อดีตอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ National University of Singapore, 9) อ.โง ชามี Ngo Tra My (Vietnam) ศิลปินผู้เชี่ยวชาญดนตรีประจำชาติเวียดนาม ดนตรีร่วมสมัย และดนตรีทดลอง อาจารย์ประจำวิทยาลัยดนตรีแห่งชาติฮานอย Vietnam National Academy of Music และ 10) อานันท์ นาคคง (Thailand) นักมานุษยวิทยาดนตรี นักประพันธ์เพลงละครเวที

          ศิลปินและนักวิชาการดนตรีอาเซียนเหล่านี้ ล้วนผ่านประสบการณ์การทำงานดนตรีในระดับนานาชาติมากแล้วทั้งสิ้น รวมทั้งมีวิสัยทัศน์ในการแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาดนตรีประจำชาติ ดนตรีในท้องถิ่น ให้มีความก้าวหน้าและยั่งยืน ทั้งในมิติของการศึกษาและสังคม สำหรับตัวแทนประเทศไทย ผู้ร่วมรับฟังและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับศิลปินดนตรีอาเซียนได้แก่ คุณฐาปณ สิริวัฒนภักดี (กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน)), คุณนิติกร กรัยวิเชียร ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปวัฒนธรรม บริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ, อ.อัษฎาวุธ สาคริก เลขาธิการมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง), อ.พงษ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ศิลปินศิลปาธร นักประพันธ์เพลง โปรดิวเซอร์ ผู้เชี่ยวชาญพันธุกรรมในวัฒนธรรมดนตรี (Genomusic), ดร.อโณทัย นิติพน นักประพันธ์เพลงร่วมสมัย ผู้บริหารสถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา, ดร.ประภัสสร ตัณฑโอภาส ผู้เชี่ยวชาญงานศิลปวัฒนธรรม บริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ, ดร.ประภัสสร ว่องรัตนพิทักษ์ บริษัท Absolutely Thai, อ.ชัยภัค ภัทรจินดา ศิลปินดนตรีไทยร่วมสมัย วงกอไผ่ เป็นต้น

          ผลของการประชุม คือการเห็นพ้องต้องกันว่าจะมีการสร้างวงดนตรีขึ้นมาใหม่หนึ่งวง เป็นพื้นที่ทดลองสำหรับการสร้างงานเพลงดนตรีอาเซียนใหม่ๆ และคนดนตรีอาเซียนรุ่นใหม่ โดยจะคัดเลือกเครื่องดนตรีที่เป็นตัวแทนแต่ละวัฒนธรรม กับเยาวชนประเทศละ 1 คนที่มีความสามารถในการแสดงเครื่องดนตรีที่หลากหลาย มีความเป็นเลิศในฝีมือดนตรี อายุไม่เกิน 30 ปี เพศใดก็ได้ ศาสนาใดก็ได้ มีทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษที่ดีพอสมควร สามารถอ่านเขียนบันทึกโน้ตสากลได้ มีบุคลิกภาพที่ดี และมีหัวใจเปิดกว้างต่อการเรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ในชีวิตร่วมกับเยาวชนอื่นๆ  ภารกิจเมื่อเกิดวงนี้ขึ้นมาแล้ว บรรดาผู้เชี่ยวชาญดนตรีอาเซียนที่เข้าร่วมประชุมการก่อตั้งวงดนตรี ก็จะต้องทำหน้าที่เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา (Music Advisor) หรือ “ครูเพลง” (music guru) ช่วยกันให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการทำงาน ร่วมรับผิดชอบคัดเลือกคนเล่นดนตรี เครื่องดนตรี เพลงดนตรี จากพื้นที่สังคมวัฒนธรรมของตน มาประกอบโครงสร้างใหม่ให้เป็นวงดนตรีใหม่ขึ้นมา ช่วยกันดูแลให้โครงการดนตรีในฝันนี้ เติบโตอย่างแข็งแรงมั่นคง และภารกิจใหญ่ที่ต้องทำควบคู่กันคือการพัฒนา “คนรักเพลงดนตรีอาเซียน” ASEAN Music Audiences ขึ้นมาให้เป็นจริงให้ได้ ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์ การครอบงำอำนาจวัฒนธรรมบันเทิงของสื่อทั่วโลก ทำอย่างไรจึงจะมีคนรุ่นใหม่ที่ยอมรับนับถือ มีความรัก ความนิยมในเพลงพื้นเมืองอาเซียน ทำอย่างไรจะมีการส่งเสริมให้เกิดการสืบทอดและพัฒนาดนตรีรากเหง้าในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรมและเห็นประโยชน์ของงานที่จริงจัง

          ปลายปี 2558 นั้น ถือเป็นช่วงประกาศการรวมตัวอย่างชัดเจนของประชาคมอาเซียน คุณฐาปณ สิริวัฒนภักดี ในฐานะผู้บริหารบริษัทไทยเบฟเวอเรจฯ และผู้ริเริ่มก่อตั้งศูนย์ซีอาเซียน ได้ตกลงใจที่จะให้การสนับสนุนโครงการพัฒนาดนตรีอาเซียนอย่างจริงจัง ได้กำหนดวาระการแสดงคอนเสิร์ตดนตรีอาเซียนครั้งแรก คือ 13 ธันวาคม 2558 ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์ซีอาเซียน ต่อหน้าคณะทูตานุทูต ผู้บริหารจากภาครัฐและเอกชน รวมถึงกลุ่มศิลปินในวงการดนตรีจากทั่วทุกภูมิภาค ซึ่งโอกาสนี้จะเป็นการพิสูจน์ความเป็นไปได้ในการสร้างวงดนตรีใหม่ขึ้นมา จากการที่ครูเพลงนำเอาลูกศิษย์มาร่วมเรียนรู้และเล่นดนตรีกัน โดยไม่มีกรอบเกณฑ์กติกาขวางกั้นอีกต่อไป นักดนตรีเยาวชนจะได้สืบทอดความรู้ประสบการณ์จากครูเพลงอาเซียนและจากการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลาง ใช้โน้ตสากลเป็นสื่อกลาง ที่ประชุมเสนอให้ยกเพลงของทุกชาติให้เป็นของกลาง นักดนตรีไทยควรจะเล่นเพลงอินโดนีเซียได้ นักดนตรีบรูไนควรจะเล่นเพลงเมียนมาร์ได้ ซึ่งในทางกายภาพ ประเทศเหล่านี้อาจอยู่คนละพื้นที่ภูมิศาสตร์ แต่ดนตรีสามารถเลื่อนไหลถึงกันได้ ดนตรีเข้าถึงกันได้โดยสำนึกของความเป็นพี่เป็นน้อง ความเป็นเครือญาติชาติพันธุ์  เพลงอาเซียนสามารถตีความหมายใหม่ได้ โดยใช้อารมณ์ความรู้สึกร่วมของคนอาเซียนรุ่นใหม่ ทำให้พรมแดนของวัฒนธรรมดนตรีที่ถูกจัดกรอบเอาไว้ในยุคหลังอาณานิคมสลายไป

          ที่ประชุมได้มอบหมายให้ อานันท์ นาคคง ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยการดนตรี (Music Director) บริหารการดำเนินงาน ออกแบบการแสดง ดูแลรายละเอียดทางดนตรีของโครงการ, โมฮัมหมัด ยาซิด ซากาเรีย ทำหน้าที่เป็นวาทยกร ผู้อำนวยเพลงหลัก (Principle Conductor), และคุณสุทธิพรรณ นุชฉายา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการพัฒนาธุรกิจและสื่อสารองค์กร ศูนย์ซีอาเซียน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการงานบริหารทั่วไป (General Manager) ของวงดนตรี โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์ซีอาเซียนและมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะฯ ร่วมประสานงานในหน่วยย่อยต่างๆ  ของโครงการ

          สำหรับชื่อวงดนตรี “ซี อาเซียน คอนโซแนนท์” อานันท์ นาคคง เป็นผู้ตั้งขึ้น โดยหลักคิดว่า คำว่า “คอนโซแนนท์” Consonant มีความหมายเกี่ยวกับเสียงที่หลากหลาย ไทยแปลว่า “พยัญชนะ” หมายถึงเสียงที่มองไม่เห็นและเสียงที่มองเห็น เสียงที่มองไม่เห็นนั้นเปล่งออกมาโดยอวัยวะออกเสียงด้วยกลไกที่แตกต่างกัน จากลิ้น จากฟัน จากลำคอ จากจมูก รวมทั้งการใส่คุณลักษณะต่างๆ  เช่น การพ่นลม เสียงก้อง เสียงไม่ก้อง เสียงกลุ่มสูง กลาง ต่ำ ซึ่งพยัญชนะจะมีบทบาทมากขึ้นเมื่อนำมาผสมกับสระ วรรณยุกต์ นอกจากนี้ยังหมายถึงเสียงที่มองเห็นคือตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะด้วย ซึ่งตัวอักษรมีการแลกเปลี่ยนกันทั้งในช่วงเวลาต่างๆ  ของประวัติศาสตร์ ในพื้นที่ภูมิศาสตร์ ในทางสังคมการเมือง ส่วนในภาษาละติน หมายถึง “sounding-together” ภาษากรีกโบราณ หมายถึง ìs”symphōnon” ส่วนจีนหมายถึง “pinyin” ซึ่งมีวิวัฒนาการมายาวนานควบคู่กับประวัติศาสตร์จีน มีหน้าที่ทั้งการสื่อสาร การแปลงสัญญะทางภาพเป็นตัวอักษร และการรักษาความรู้ภูมิปัญญาเอาไว้ใน consonant นั้น และเมื่อนำคำว่า C ASEAN มาผสมกัน ก็คือความหวังที่จะเห็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจกระบวนการสร้างชุมชน (Community) มีการสนทนาแลกเปลี่ยน (Conversation) ให้เกิดความร่วมมือกัน (Collaboration) อันเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยน (Catalyzing) ที่นำมาสู่การสร้างความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) เหล่านี้เป็น Value Creation ที่อยู่ในตัว C นอกจากนี้ ก็ต้องคิดถึงปลายทางของงานที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ Creativity เชื่อมโยง Connectivity ให้มีความเป็นพลเมืองอาเซียน Citizen ที่พึงปรารถนาด้วย

          ขั้นตอนการทำงานสำคัญก่อนที่จะเกิดคอนเสิร์ตคือการทำเวิร์คชอป เพื่อให้เยาวชนดนตรีจากทุกประเทศที่คัดเลือกมา ได้รู้จักกัน เรียนรู้ที่จะทำงานร่วมกัน เรียนรู้วัฒนธรรมดนตรีของผู้อื่น เรียนรู้การนำดนตรีของตนไปใช้ในวงดนตรีที่แตกต่างจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคย การสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษและโน้ตสากลเป็นภาษากลางในการทำงานร่วมกัน การทำเวิร์คชอปนี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2558 นอกจากจะมีเยาวชนดนตรีอาเซียนมาเป็นหัวใจหลักของการทดลองแล้ว ยังได้มีโอกาสทดลองนำเพลงพื้นบ้านอาเซียนของแต่ละประเทศมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่ สร้างสกอร์เพลงที่เป็นรูปแบบโน้ตของวงดนตรีใหม่โดยเฉพาะ มีการออกแบบการจัดวางเครื่องดนตรีให้เป็นรูปแบบการประสมวงใหม่ที่มีความน่าสนใจทั้งมุมมองภูมิสถาปัตยกรรม การนั่ง การยืน การทดลองกับเพลงที่มีเสียงร้อง เพลงที่มีเสียงธรรมชาติ และการทดลองบันทึกเสียง มีอาสาสมัครเข้ามาร่วมทำงานเวิร์คชอปด้วยหลายราย อาทิ อลิเชีย เด ซิลวา จอยซ์ นักประพันธ์เพลงและวาทยกรจากสิงคโปร์, อ.วัชระ ปลื้มญาติ วาทยกร นักประพันธ์เพลงรางวัล Young Thai Artist Award และอาจารย์จากโรงเรียนหัวหินวิทยาลัย, อ.ธนพล ยงค์โพธิ์ ผู้เชี่ยวชาญงานบันทึกโน้ตจากคณะดุริยางคศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร, อ.ทศพร ทัศนะ - นันทิภา ตั้งปรัชญากูล - ชนัดดา ชั้นบุญ ทีมจัดการดนตรีจากมูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) ฯลฯ ถือว่าการทำเวิร์คชอปครั้งแรกนี้ มีประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาประสบการณ์ของผู้ร่วมงานทุกฝ่าย เห็นทิศทางของการทำงานของโครงการ และการเตรียมตัวบุคลากรทั้งทีมงานเบื้องหน้าเบื้องหลังในการแสดงคอนเสิร์ตจริง

        นักดนตรีเยาวชนอาเซียนชุดแรกที่เข้ามาร่วมโครงการซีอาเซียนคอนโซแนนท์ ประกอบไปด้วย 1) สุคีรมาน สุกัตโต Sukirman Sugadto (Brunei Darussalam) สมาชิกของ DíFida Entertainment และผู้ชนะเลิศการแข่งขันบรรเลงฆ้องกูลินตังในงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชาธิบดีแห่งบรูไน มีความสามารถในการบรรเลงฆ้อง กลอง และเพอร์คัสชั่นรอบด้าน, 2) พิเศษ สารท Peseth Sart (Cambodia) นักศึกษาเอกดนตรีประเพณีขะแมร์จาก RUFA มีความสามารถทางการบรรเลงโตรวซอ โตรวอู กลอง กีตาร์ [หมายเหตุ : ในปีต่อมาเปลี่ยนเป็น พาน จำเริญ Phan Chamroeun จากสถาบันเดียวกันกับพิเศษ], 3) อากุง เอโร เฮอร์นันดา Agung Hero Hernanda (Indonesia) นักศึกษาวิชาเอกประพันธ์เพลงจากวิทยาลัยศิลปะอินโดนีเซียสุมาตรา Indonesia Arts Institute เมืองปาดัง มีความสามารถในการเป่าขลุ่ยซาลวง ดีดกาชาปี ตีกลองเก็นดัง การเต้นรำของสุมาตรา กีตาร์ และเพอร์คัสชั่นต่างๆ, 4) สินทะวง เสงมุนทอง Sinthavong Sengmounthong (Laos PDR) อาจารย์ภาควิชาดนตรี โรงเรียนศิลปะการแสดงแห่งชาติ สปป.ลาว มีความสามารถในการเป่าแคน ตีระนาด เป่าแซ็กโซโฟน, 5) นูร์ เลซัม อาลี Noor Leyzam bin Ali (Malaysia) นักดนตรีสังกัดโรงละครแห่งชาติมาเลเซีย สมาชิกวงออร์เคสตร้าพิเศษรวมชาติพันธุ์มาเลเซีย Orkestra Tradisional Malaysia (OTM) เชี่ยวชาญการบรรเลงพิณกัมบุส ซาเปะ กีตาร์ เบส และการเรียบเรียงเสียงประสาน, 6) วาวา ซาน War War San (Myanmar) จากสถาบันดนตรีคีตมิตร ย่างกุ้ง มีความสามารถในการดีดพิณซองก็อก การขับร้อง และไวโอลิน [หมายเหตุ : ต่อมาเปลี่ยนเป็น นันดา ซอ วิน Nanda Saw Win (Myanmar) จากแผนกดนตรี สถานีวิทยุโทรทัศน์เมียนมาร์ มีความสามารถในการดีดพิณซองก็อก การขับร้อง และต่อมาภายหลัง เปลี่ยนเป็น ตาซิน ทวย Thazin Htwe นักศึกษาเอกดนตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปะและวัฒนธรรม the National University of Art and Culture Yangon  มีความสามารถในการดีดพิณซองก็อก ตีระนาดปัตตลา], 7) มาร์วิน ทามาโย Marvin Tamayo (Philippines) นักศึกษาวิชาเอกดนตรีวิทยา มหาวิทยาลัยแห่งชาติฟิลิปปินส์ มีความสามารถในการบรรเลงฆ้องกูลินตัง เปียโน ดนตรีไม้ไผ่ โคโตะ การอำนวยเพลง รวมทั้งการจัดการงานสัมมนาวิชาการดนตรี, 8) นิรันจัน พานดิน Niranjan Pandian (Singapore) ประธานสมาคมเยาวชนดนตรีสิงคโปร์ Association of Young Musicians, Singapore มีความสามารถในการบรรเลงขลุ่ยบันซูรี อินเดียเหนือ ขลุ่ยเวณู อินเดียใต้ และฟลูทตะวันตก แตกฉานในทฤษฎีดนตรีอินเดีย, 9) กามเทพ ธีระเลิศรัตน์ Kammathep Theeralertrat (Thailand) อาจารย์โรงเรียนนานาชาติโชรส์เบอรี่ Shrewsbury International School จบการศึกษาเอกดนตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้ชนะเลิศการแข่งขันดนตรีไทยหลายรายการ มีความสามารถในการบรรเลงปี่พาทย์รอบวง ระนาด ขิม ขลุ่ย กลอง,  และ 10) เลอ ทุย หลิง Le Thuy Linh (Vietnam) จบการศึกษาจากวิทยาลัยดนตรีแห่งชาติฮานอย Vietnam National Academy of Music มีความสามารถในการบรรเลงพิณด่านเบ๋า โปงลางด่านตรึง และเครื่องดนตรีพื้นเมืองเวียดนามอีกหลายชิ้น รวมทั้งความรู้ในการเรียบเรียงเสียงประสาน

          เยาวชนเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ มีทักษะความสามารถทางดนตรีแนวประเพณีดีเยี่ยม มีความรู้ในการอ่านเขียนโน้ตภาษาอังกฤษ และมีจิตใจเปิดกว้างที่จะเรียนรู้ดนตรีเพื่อนบ้าน รวมทั้งกล้าที่จะทดลอง โดยมีผลงานการแสดงดนตรี การประพันธ์เพลงใหม่ การเผยแพร่ความรู้สู่กลุ่มเยาวชนในสถานศึกษา เครือข่ายคนรักดนตรีอาเซียน เป็นเยาวชนดนตรีตัวอย่างของภูมิภาค ผ่านประสบการณ์ในการเดินทางเผยแพร่ดนตรีในระดับชาติและนานาชาติมาแล้วมากมาย นอกจากเยาวชนที่เป็นสมาชิกหลักของวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์แล้ว ยังมีศิลปินเยาวชนรับเชิญในพื้นที่เมืองต่างๆ  ของอาเซียนและจากประเทศจีนเข้าร่วมโครงการแสดงดนตรีประมาณกว่าสองร้อยคน (รวมนักดนตรีพิเศษ, คณะนักร้องประสานเสียง, นักเต้นรำ, นักประพันธ์เพลงเยาวชนที่มีโอกาสสร้างงานคีตนิพนธ์ใหม่สำหรับเครื่องดนตรีอาเซียน)

          ในแง่งานคีตนิพนธ์ นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน มีบทเพลงอาเซียนที่เกิดขึ้นใหม่ บทเพลงดั้งเดิมที่ผ่านการนำมาเรียบเรียงเสียงประสานใหม่จากวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์เป็นจำนวนมาก อาทิ The ASEAN Way (ASEANís Anthem), Sarika Keo (Cambodia), Nan Bone Thi Har Bwe (Myanmar), Man Taung Yeik Kho (Myanmar), Seang Lhaen Lao (Lao PDR), Hola Hela (Brunei Darussalam), Pandang Pandang Jeling Jeling (Malaysia), Balqis & Cindai (Malaysia), Was Bulan (Makaysia), Dayung Sampan (Singapore), Singapore Fantasia (Singapore), Desh (Singapore), Loy Kratong (Thailand), The King for all seasons (Thailand), MuayThai (Thailand), Chang (Thailand), Love Hunting (Thailand), Anoman Obong (Indonesia), Tak Tong Tong (Indonesia), Salidummay (Philippines), Ti Ayat Ti Maysa Nga Ubing (Philippines), Xe Chi Luon Kim (Vietnam), To the South (Vietnam), The Garland of Love (ASEAN), ASEAN Voices with Erhu Concerto (China)  ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีเพลงสร้างสรรค์ใหม่ original music จากนักประพันธ์เพลงร่วมสมัยของจีนอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผลจากการทำงานร่วมระหว่างวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์กับภาควิชาประพันธ์เพลง วิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ Shanghai Conservatory of Music ในงานเทศกาลดนตรีฤดูใบไม้ผลิ Shanghai Spring International Music Festival และงานเพลงใหม่ที่ร่วมกับคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยศิลปะกวางสี Guangxi Arts University ในงานเทศกาลดนตรีจีน-อาเซียน China-ASEAN Music week นครหนานหนิง นักประพันธ์เพลงและผู้เรียบเรียงเสียงประสานของวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ได้แก่ Dadang Supriatna (Brunei), Mohd Yazid Zakaria (Malaysia), Alicia De Silva Joyce (Singapore), Dr. Joe Peters (Singapore), Dr. Laverne David De La Pena (Philippines), Ne Myo Aung (Myanmar), ชัยภัค ภัทรจินดา (Thailand), อานันท์ นาคคง (Thailand), วัชระ ปลื้มญาติ (Thailand), Dr. KeeYong Chong (Malaysia), Dr. Michael Edward Edgerton (U.S.A.), Prof.Dai Wei (Zhuang), Shen Yiren (China), Chen Shijun (China), Wang Shu (China), Luo Mengyong (China), Zhao Zixiang (China), Ti Shiyi (China), Xiang Kewei (China), Zhang Hao (China), Li Yiguo (China), Sheng Xinyue (China), Han Ke (China), Le Thuy Linh (Vietnam) บรรดาบทเพลงใหม่ๆ  ที่เกิดขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมานี้ ทุกชิ้นงานเพลงและทุกการแสดงคอนเสิร์ต ได้ถูกบันทึกข้อมูลด้วยระบบดิจิทัลอย่างจริงจัง ทั้งโน้ตรวมวง(Full score for orchestra), โน้ตเครื่องดนตรีย่อย (part score), โน้ตเพลงขับร้อง (vocal score with lyrics) รวมทั้งการจัดทำคำอธิบายเพลงทั้งในส่วนของสูจิบัตรภาษาอังกฤษ ภาษาจีน การตีพิมพ์สกอร์เพลงอย่างเป็นมาตรฐานสากล และการสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาเป็นห้องสมุดดนตรีดิจิทัลอาเซียนในโอกาสต่อไป

          เครื่องดนตรีในวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ ถูกคัดเลือกโดยครูเพลง ว่าเป็นเครื่องดนตรีที่เป็นตัวแทนวัฒนธรรมของชาตินั้นๆ  ได้ชัดเจน บ่งบอกเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีน้ำเสียงไพเราะหรือน้ำเสียงน่าสนใจ มีทั้งประวัติศาสตร์ที่แฝงอยู่ในเครื่องดนตรี มีความงาม มีความสามารถในชั้นเชิงช่างและความงามทางศิลปะที่ปรากฏอยู่บนเครื่องดนตรี เครื่องดนตรีเหล่านี้สามารถเดินทางไปยังสถานที่เวทีต่างๆ  ได้ทั่วทุกทิศ มีความทนทานต่อสิ่งแวดล้อม มีความยืดหยุ่นในการปรับเปลี่ยนระบบเสียง (tuning system) และสามารถสอดประสานเข้ากันได้อย่างลงตัว ทางศูนย์ซีอาเซียน ได้ลงทุนซื้อเครื่องดนตรีคุณภาพดีจากทุกประเทศเอาไว้เป็นส่วนกลาง เก็บรักษาดูแลอย่างระมัดระวัง ในบางโอกาส เครื่องดนตรีเหล่านี้ได้ใช้ประโยชน์ในทางการจัดนิทรรศการด้วย นอกเหนือไปจากการใช้บรรเลงจริงบนเวทีคอนเสิร์ต

          การฝึกซ้อมดนตรี มีทั้งการจัดสรรการเดินทางของนักดนตรีจากประเทศต่างๆ  มารวมซ้อมด้วยกัน และการซ้อมที่อาศัยประโยชน์จากวิทยาการเทคโนโลยี ใช้ระบบการนัดหมายฝึกซ้อมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการสร้างเว็บเพจของสมาชิกวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์เพื่อใช้ในการสื่อสารและปรับปรุงข้อมูลการทำงานกันตลอดเวลา

          รูปแบบการนำเสนอการแสดง มีความแตกต่างกันไปตามโอกาส พื้นที่ สิ่งแวดล้อม และเงื่อนไขอื่นๆ  เช่น ทุนทรัพย์ในการทำงาน เวลาในการเตรียมงาน วาระในการแสดง นอกจากจะมีการบรรเลงขับร้องบทเพลงบทเวทีกันตามขนบคอนเสิร์ตแล้ว ยังได้เพิ่มเติมการใช้งานทัศนศิลป์ นาฏศิลป์ เข้าไปด้วย มีการคัดเลือกภาพเขียนงดงาม ภาพถ่ายงดงาม ฝีมือศิลปินสำคัญของอาเซียน มาฉายขึ้นจอประกอบบทเพลงคัดสรร นำการเคลื่อนไหวร่ายรำ ตั้งแต่นาฏศิลป์ขนบจนถึงการเต้นรำร่วมสมัย เข้ามาใช้สร้างสีสันการแสดง การออกแบบแสงไฟบนเวที การออกแบบเสื้อผ้า การออกแบบภูมิทัศน์ของเวที ตลอดจนเรื่องการสอดแทรกมุกตลก อารมณ์ขัน และการมีส่วนร่วมของผู้ชมกับประสบการณ์ดนตรีอาเซียน

          วาทยกร หรือ ผู้อำนวยเพลง (Conductor) เป็นผู้มีบทบาทในการตีความหมายของบทคีตนิพนธ์ กำกับการฝึกซ้อม และเป็นผู้มีชั้นเชิงในการดึงเอาศักยภาพของนักดนตรีและเครื่องดนตรีในวงให้ปรากฏออกมาในขณะที่แสดงคอนเสิร์ต สำหรับวงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ มีวาทยกรประจำ 2 คนคือ Mohd Yazid Zakaria (Malaysia) และ วัชระ ปลื้มญาติ (Thailand) ซึ่งร่วมกันพัฒนาเสียงและผลงานของวงมาตลอดตั้งแต่คอนเสิร์ตครั้งแรกจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังมีวาทยกรรับเชิญที่เคยร่วมงานเทศกาลดนตรีฤดูใบไม้ผลิ Shanghai Spring International Music Festival ณ วิทยาลัยดนตรีเซี่ยงไฮ้ ในปี พ.ศ. 2560 คือ ศ.ดร.ไฉ จิงต้ง Prof. Dr. Cai Jindong จาก Stanford University U.S.A. และ the US-China Music Institute

          ผลงานการแสดงดนตรี นับตั้งแต่ พ.ศ. 2558 จนถึงปัจจุบัน วงดนตรีซีอาเซียนคอนโซแนนท์ได้เผยแพร่ผลงานการแสดงพลังดนตรีแห่งภูมิภาคอาเซียน การทำงานเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของบรรพบุรุษอาเซียนในรูปแบบของ Roadshows, Concert, Workshop, Lectures, Televisions, Redio และ Social Media ทั้งในพื้นที่ประเทศต่างๆ ของภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ มาเลเซีย (2559), สิงคโปร์ (2559), สาธารณรัฐประชาชนจีน (เซี่ยงไฮ้-หนานหนิง 2560), วงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ได้รับเกียรติบรรเลงเพลงชาติอาเซียน ณ สำนักเลขาธิการใหญ่กรุงจาการ์ตาในวันเกิดครบ 50 ปี ของประชาคมอาเซียน (2560), เป็นตัวแทนของภูมิภาคอาเซียนในการเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ครบ 40 ปีของอาเซียนกับสหภาพยุโรป (2560), งานบางกอกอาร์ต เบียนนาเล ประเทศไทย (2561), งานประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 34 (2019 ASEAN Summit) ที่กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2562 และ ล่าสุดคืองานเปิดตึกอำนวยการใหม่ของ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา อินโดนีเซีย ในวันชาติอาเซียน 8 สิงหาคม 2562 การแสดงทุกครั้ง มีการผลิตสื่อสิ่งบันทึกภาพและเสียง ตลอดจนการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรมดนตรีอาเซียนเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ชมด้วยบันทึกถึงการเดินทางของวงดนตรีเล็กๆ วงหนึ่งในช่วงเวลา 4 ปี

          ขอขอบคุณศูนย์ซีอาเซียน บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด มหาชน ที่สนับสนุนการสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เล็กๆ แห่งหนึ่งขึ้นมาด้วยเงินทุนและแรงขับเคลื่อนที่มีประสิทธิภาพขององค์กร ให้โอกาสของการทำความฝันให้เป็นจริง ขอบคุณกัลยาณมิตร เพื่อนครูเพลงอาเซียน เพื่อนศิลปินเยาวชนอาเซียน ที่ร่วมเหน็ดเหนื่อยเพียรพยายามบนเส้นทางการทำงานเพื่อสังคมที่แตกต่างจากวงดนตรีร่วมสมัยทั่วไป ร่วมฝันถึงอนาคตของเพลงใหม่ๆ ที่เกิดจากการเรียนรู้ร่วมกัน แบ่งปันความสุขทางดนตรีให้กับผู้คนรอบด้าน ผมเตือนเพื่อนที่ร่วมสร้างฝันเสมอ ว่าเส้นทางสัญจรของวงดุริยางค์เยาวชนซีอาเซียนคอนโซแนนท์ มิใช่เพียงความบันเทิงฉาบฉวยบนเวทีคอนเสิร์ตเพื่อสร้างกระแสตื่นตัวในประชาคมใหม่ หากแต่ยังต้องใส่ใจในโลกการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งปลูกฝังความรู้ความเข้าใจจริงแก่คนในสังคมอนาคตด้วย แต่ละท้องถิ่นที่เราไปแสดงคอนเสิร์ต เราจะหาโอกาสเข้าไปเยี่ยมเยียนชั้นเรียนดนตรี พบปะกับครูนักเรียน สื่อสาร ถ่ายทอด สร้างประสบการณ์เรียนรู้ให้คนรุ่นใหม่เสมอ ในขณะเดียวกัน เราต่างก็ได้เรียนรู้จากกิจกรรมนี้ไปด้วยว่าอนาคตของดนตรีที่ปู่ย่าตายายเคยสร้างสรรค์มานั้นจะเป็นอย่างไรต่อไป สมาชิกวงดนตรีเล็กๆ วงนี้จะต้องพัฒนาตัวเองอย่างไรต่อไป แม้แต่ตัวเราเองในฐานะครูสอนดนตรีด้วย จะมีส่วนในการสร้างนักเรียนรุ่นใหม่อย่างไร

          ฝันว่า สักวัน นักธุรกิจดนตรีในเมืองไทย ผู้ประกอบการร้านค้าเครื่องดนตรี จะสนใจเปิดกิจการนำเข้าดนตรีเพื่อนบ้านอย่างจริงจังบ้าง การเรียนรู้ดนตรีอาเซียนที่ได้ผลจริง มิใช่แค่อ่านตำราแล้วจินตนาการกัน นักเรียนต้องได้มีโอกาสสัมผัสของจริง ต้องได้เล่นเครื่องดนตรีจริงที่มิใช่ของที่ระลึกนักท่องเที่ยว ได้ยินได้ฟังเสียงที่มาจากของจริง ครูต้องหาโอกาสเปิดห้องเรียนที่มีเครื่องดนตรีอาเซียนที่หลากหลายในปริมาณที่มากพอแก่การศึกษาเรียนรู้ ตัวครูเองก็ต้องใช้เครื่องดนตรีอาเซียนให้เป็นด้วย งบประมาณโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ต้องรู้จักจัดสรรเพื่อการส่งเสริมองค์ความรู้ทางศิลปวัฒนธรรมอาเซียน รัฐต้องช่วยอำนวยความเป็นไปได้ในเจตนาของการสร้างประชาคมอาเซียนที่แข็งแกร่งให้เกิดขึ้นจริงทั้งในแง่ภาษีและการสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ ช่างทำเครื่องดนตรีไทย โรงงานผลิตเครื่องดนตรีไทย ก็ควรจะหาทางขยายฐานการผลิตมาเป็นเครื่องดนตรีอาเซียนกันบ้างแล้ว มิใช่ทำแต่เครื่องดนตรีไทยแพงๆ และใช้งานกันเพียงลำพังในขอบเขตประเทศนี้ ควรเผยแพร่เครื่องดนตรีไทยให้เพื่อนบ้านได้ชื่นชมด้วยเช่นกัน

          เคยฝันว่าจะมีชุมชนดนตรีพื้นบ้านอาเซียนเล็กๆ เกิดขึ้นมาเป็นของขวัญประชาคมอาเซียน ก็ได้ทำบ้างแล้ว มีผู้ใหญ่ใจดีมาช่วยสนับสนุนทุนในการตั้งวงดนตรีเล็กๆ วงหนึ่ง มีเพื่อนครูเพลงมาช่วยสั่งสอนและช่วยเติมฝัน มีนักดนตรีเยาวชนหนุ่มสาวมาช่วยลงมือลงแรง มีทีมงานน่ารักที่ช่วยประสานงานจัดการบริหารให้วงดนตรีแข็งแรงอยู่ได้ มีเวทีและโอกาสให้ทดลองความฝันเป็นระยะๆ  มีคนดูคนฟังที่พอจะเข้าใจสีสันอันหลากหลายของดนตรีพื้นบ้านในภูมิภาคนี้ มีข่าวสารข้อมูลที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ของผู้คนกับคำว่าดนตรีพื้นบ้านอาเซียนในโลกสมัยใหม่ได้บ้าง ช่วงเวลาที่ผ่านมา นับว่าเป็นฝันที่ดีงามพอที่จะตายตาหลับ ก่อนตาย ยังแอบฝันต่อ ฝันว่าจะมีนักเทคโนโลยีดนตรีมาช่วยดูแลคุณภาพของเสียงดนตรีพื้นบ้านอาเซียนอย่างที่ควรจะมีจะเป็นในโลกที่เปลี่ยนแปลง จะมีนักธุรกิจดนตรีที่รู้จักการทำการตลาดดนตรีพื้นบ้านอาเซียนให้เป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก จะมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ทางดนตรีที่เรียนรู้ได้นอกตำราเรียน นอกงานวิจัย และฝันว่าจะมีใครสักคน ช่วยสานความฝันให้เดินทางต่อไป แม้จะหลับไหลไม่ตื่นอีกแล้ว

          ในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งเป็นปีแห่งวัฒนธรรมอาเซียน วงดนตรีซีอาเซียนคอนโซแนนท์ ได้รับการสนับสนุนทุนการดำเนินงานจากคณะกรรมการกองทุนวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Cultural Fund) ในการทำงานกิจกรรมสร้างสรรค์และสื่อสารภาษาดนตรีเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในภูมิภาคอุษาคเนย์ กองทุนนี้เป็นดอกผลจากการบริจาคจากรัฐบาลญี่ปุ่นจำนวน 5,000 ล้านเยน หรือประมาณ 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ประเดิมให้แก่คณะกรรมการอาเซียนด้านวัฒนธรรมและสนเทศ (ASEAN Committee on Culture and Information - COCI) นับตั้งแต่ พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา โดยคณะกรรมการจาก 10 ประเทศสมาชิก ทำหน้าที่ควบคุมดูแลการดำเนินงานความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและสารสนเทศของอาเซียนทั้งในและนอกภูมิภาค การได้รับทุน ASEAN Cultural Fund ในครั้งนี้ นับเป็นนิมิตหมายอันดีที่ภาครัฐเห็นคุณค่าของการทำงานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์บนรากฐานของศิลปะดนตรีมรดกร่วมของผู้คนในภูมิภาคนี้ และเป็นกำลังใจให้วงซีอาเซียนคอนโซแนนท์ ก้าวเดินต่อไปในอนาคตอย่างตระหนักรู้รอบคอบในภารกิจที่กระทำอยู่

          ภูมิใจกับการเดินทางของผู้คนที่ใช้ชีวิตร่วมกันในวงดนตรีพื้นเมืองเล็กๆ วงหนึ่งจากดินแดนอุษาคเนย์ ภูมิใจกับการเดินทางของดนตรีท้องถิ่นสู่โลกภายนอกที่กว้างขวางหลากหลายขึ้น และเป็นอิสระจากกรอบการเมืองเศรษฐกิจสังคมภาษาวัฒนธรรม หวังว่าพวกเขาคงจะได้เรียนรู้อะไรกันจากโอกาสครั้งนี้ และหาทางเดินต่อไปในทางที่ถูกที่ควรกันได้ อย่างไม่หลงทาง

ภาพประกอบ C ASEAN