วธ. จัดงาน “วันภาษาไทยแห่งชาติ” 29 กรกฎาคม 2562

นายอิทธิพล  คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เป็นประธานในเปิดงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปี 2562  พร้อมมอบเข็มและโล่เชิดชูเกียรติแก่ผู้ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติด้านภาษาไทย โอกาสนี้ นายกฤษศญพงษ์ ศิริ ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ผู้บริหารกระทรวงวัฒนธรรมและผู้แทนหน่วยงาน     ที่เกี่ยวข้อง ร่วมงาน ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

 

นายอิทธิพล กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน
เป็นของตัวเอง เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่ชาวไทยทุกคนภาคภูมิใจ จากประวัติศาสตร์และหลักฐานการประดิษฐ์อักษรไทยที่ปรากฏตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน เป็นเวลากว่า 730 ปี “ภาษา” เป็นสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลาและยุคสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีสารสนเทศ และมีการประดิษฐ์คิดค้นวิธีการติดต่อสื่อสารในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ซึ่งมีผลกระทบต่อคนจำนวนมากในสังคม โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้น เพื่อให้การใช้ภาษาไทยเกิดความเหมาะสมในการติดต่อสื่อสารและเป็นการสืบสาน สืบทอดการใช้ภาษาให้ถูกต้อง จึงมีความจำเป็นที่คนไทยทุกคนต้องเรียนรู้เช่นเดียวกัน   

ดังพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  ที่ได้พระราชทานไว้เมื่อวันที่ 29กรกฎาคม พุทธศักราช 2505 ว่า “ภาษาไทยนั้น เป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งของชาติ ภาษาทั้งหลายเป็นเครื่องมือของมนุษย์ชนิดหนึ่ง คือเป็นทางสำหรับแสดงความคิดเห็นอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งที่สวยงามอย่างหนึ่ง เช่น ในทางวรรณคดี เป็นต้น ฉะนั้น จึงจำเป็นต้องรักษาเอาไว้ให้ดี เราโชคดีที่มีภาษาของตนเอง   มาแต่โบราณกาล จึงสมควรอย่างยิ่งที่จะรักษาไว้”  กระทรวงวัฒนธรรมตระหนักถึงการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง เหมาะสมเพื่อร่วมกันสร้างค่านิยมและจิตสำนึก พร้อมทั้งส่งเสริมให้เด็ก เยาวชนและประชาชนเห็นความสำคัญและคุณค่าของภาษาไทย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ยังได้แสดงความยินดีต่อผู้ได้รับรางวัลยกย่องเชิดชูเกียรติเนื่องในวันภาษาไทยแห่งชาติในปีนี้ พร้อมทั้งขอให้ดำรงรักษาความดีงามนี้ไว้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้แก่เด็ก เยาวชนและประชาชนของชาติต่อไป โดยในปีนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรม  ได้ยกย่องเชิดชูเกียรติปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น  ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่นและผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย พุทธศักราช 2562 ดังนี้

 

 1.ปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย จำนวน  1 ราย ได้แก่ นายบุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาตร์

 2.ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น จำนวน 17 คน แบ่งเป็นคนไทย 15 คน ได้แก่ นายกรนันสักก์     ตั้งหทัยชูหิรัญ ครูสอน วิชานาฏศิลป์ โรงเรียนถนอมศรีศึกษา จ.ยะลา,นายกฤษฎา สุนทร  ผู้สื่อข่าว นักจัดรายการวิทยุ จ.ร้อยเอ็ด ,นายคารม ธรรมชยาธร นักเขียนอิสระ อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต  , แพทย์หญิง ชัญวลี ศรีสุโข นักเขียน ,นายธีระ ธัญไพบูลย์ พิธีกร ผู้ดำเนินรายการ ,นายบุญมา ศรีหมาด                  นักสื่อสารมวลชน กรมประชาสัมพันธ์ ,รองศาสตราจารย์ปรมินท์ จารุวร อาจารย์ประจำ ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,นายภาสวัฒก์ บุญจันทร์ พิธีกร นักพูดและนักเขียน 
รองศาสตราจารย์ยุรฉัตร บุญสนิท ข้าราชการบำนาญและกรรมการฝ่ายวิชาการ สภามหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยทักษิณ ,รองศาสตราจารย์เรไร ไพรวรรณ์ ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี      นางวโรกาส มังกรพิศม์  นักสื่อสารมวลชน กรมประชาสัมพันธ์ ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์วัลยา ช้างขวัญยืน ข้าราชการบำนาญ มหาวิทยาลัยศิลปากร  ,นายวิษณุ  พุ่มสว่าง ครูสอนชำนาญการพิเศษ โรงเรียนกระทุ่มแพ้ววิทยา จ.ปราจีนบุรี ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมเกียรติ   คู่ทวีกุล ข้าราชการบำนาญ อาจารย์พิเศษ สาขาการสื่อสารภาษาไทยสมัยใหม่ มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต  นายอดิสรณ์ พึ่งยา ผู้ประกาศข่าวกีฬา ผู้บรรยายกีฬา ช่อง ๗  และชาวต่างประเทศ 2 คน ได้แก่  น.ส.เจือง ถิ หั่ง (Ms.Truong Thi Hang) อาจารย์ประจำสาขาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง และนายอเล็กซ์ซานเดอร์ วิลส์ (Mr. Alexander Wills) เลขานุการโทฝ่ายการเมืองและเศรษฐกิจ สถานทูตออสเตรียประจำประเทศไทย

3.ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น จำนวน 12 คน แบ่งเป็นคนไทย 9 คน ได้แก่ นายดำรงศักดิ์    บุญสู่ ข้าราชการบำนาญ และนักเขียนอิสระ ,นายดุสิต  เชาวชาติ ครูสอนภาษาล้านนาและภูมิปัญญาพื้นบ้าน          จ.เชียงใหม่  ,นายปั่น นันสว่าง  กรรมการสภาวัฒนธรรมตำบลถืมตอ  อ.เมือง จ.น่าน,พระครูสีลสาราภรณ์ (สมสิทธิ์ รกฺขิตสีโล) เจ้าคณะอำเภอและเขียนภาษาไทยอีสานโบราณ วัดป่าสักดาราม ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ     จ.ร้อยเอ็ด ,นายมนตรี คงแก้ว  ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จ.นครศรีธรรมราช
นายเมตต์ เมตต์การุณจิต อาจารย์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ วิทยาลัยเทคโนโลยีพนมวันท์  จ.นครราชสีมานางยินดี ตรีรัญเพชร นักสื่อสารมวลชน กรมประชาสัมพันธ์ จ.สงขลา รองศาสตราจารย์วีณา วีสเพ็ญ  ประธานที่ปรึกษาโครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม  และนางอบเชย ศรีสุข  นักร้องเพลงล้านนา และชาวต่างชาติ 3 คน ได้แก่ นายคริสโตเฟอร์ เชฟ (Mr. Christopher Chaafe)  นักร้องและนักแสดง,นายมาร์ติน วีลเลอร์ เกษตรกร วิทยากร และนักแสดง (Mr. Martin Wheeler) และ
นายอุดม สุขเสน่ห์ (Mr. Allen Robert Dean Long) เกษตรกรและวิทยากร

4.ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทย ประกอบด้วย ประเภทบุคคล ได้แก่ รองศาสตราจารย์สืบพงศ์ ธรรมชาติ  ผู้อำนวยการ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จ.นครศรีธรรมราช และประเภทองค์กร ได้แก่ กลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ,ชมรมโจ๊กปริศนาพนัสนิคม และศุมาสถาบันภาษาและวัฒนธรรม

โอกาสนี้ สวธ. ยังมอบโล่ให้เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน  การเขียน พุทธศักราช 2562   จำนวน  10 ราย  ได้แก่ นายกุมภารักษ์ น้อยคำ โรงเรียนเบญจมเทพอุทิศ    จ.เพชรบุรี ,น.ส.จันทิมา จิตนิยม โรงเรียนบ้านไร่พิทยาคม จ.สุโขทัย ,นายชินวัฒน์ อรัญทม โรงเรียนกำแพง   จ.ศรีสะเกษ ,นายโชคชัย พลธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ ,นายต่อพงศ์ เชื้ออุ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น จ.ขอนแก่น ,นายธีระวัฒน์ ชูรัตน์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จ.ปทุมธานี ,นายภูริวัฒน์ เขนย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จ.เชียงใหม่ ,นายรณชัย หวังกวดกลาง มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ จ.สุรินทร์ น.ส.วรรณธิดา สามสี มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต จ.ภูเก็ต และนายสมชาย ทุนมาก มหาวิทยาลัยนเรศวร            จ.พิษณุโลก

สำหรับกิจกรรมต่างๆที่น่าสนใจภายในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ อาทิ นิทรรศการปูชนียบุคคลด้านภาษาไทย ผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่น ผู้ใช้ภาษาไทยถิ่นดีเด่น ผู้มีคุณูปการต่อการใช้ภาษาไทยและเยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการอ่าน การเขียน การพูด พุทธศักราช 2562 และนิทรรศการรางวัลเพชรในเพลง ของกรมศิลปากร การแสดงหมอลำภาษาไทยถิ่น จากนายต่อพงศ์ เชื้ออุ่น เยาวชนผู้ใช้ภาษาไทยดีเด่นที่มีความสามารถด้านการพูด การอ่าน การเขียน  การสาธิตอาหารคาวหวาน การสาธิตการสวดโอ้เอ้วิหารราย เป็นต้น