'แพรวจิตบำบัด' : บางทีก็สุขบางทีก็เศร้า เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ?

'แพรวจิตบำบัด' : บางทีก็สุขบางทีก็เศร้า เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่า ? 

 

บางทีก็สุขบางทีก็เศร้า เอ๊ ! เราเป็นโรคซึมเศร้าหรือเปล่านะ ??? 

วันนี้อยากจะมาคุยเรื่อง เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราหรือคนใกล้ตัวเราเป็นโรคซึมเศร้า และหากเราพบคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าเราควรจะปฏิบัติต่อพวกเขาอย่างไร และเราควรใช้ชีวิตอย่างไรให้ห่างไกลโรคนี้

 

รู้หรือไม่ว่าโรคซึมเศร้าไม่ใช่โรคจิต เพราะโรคจิตนั้นหมายถึงอาการหลงผิด ประสาทหลอน ส่วนคนเป็นโรคซึมเศร้าเป็นอาการทางอารมณ์ที่เปลี่ยนไปจากปกติ บางครั้งอาจหลงผิดและประสาทหลอนแต่พบได้น้อย

 

โรคนี้เกิดมาจาก 4 ปัจจัยด้วยกันได้แก่สารเคมีในสมอง , สภาพแวดล้อม , ลักษณะนิสัยและกรรมพันธุ์ โดยสารเซโรโทนิน(serotonin) ในสมอง และ สารนอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) มีระดับต่ำกว่าคนปกติ ซึ่งจะทำให้มีอาการหดหู่ ขาดความกระตือรือล้นในการทำงาน เหม่อลอย เบื่ออาหาร นอนหลับยาก ขาดปฏิสัมพันธ์ต่อผู้คน และบางทีคิดอยากตาย

 

อาการเหล่านี้ หากเป็นต่อเนื่องกัน 2 อาทิตย์ ก็อาจสมมติฐานได้ว่า เป็นโรคซึมเศร้า แนะนำไปพบจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลค่ะ โดยปกติแพทย์จะมีแบบสอบถามไม่กี่ข้อ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ถ้าใช่ทุกข้อ แปลว่า จะเป็นโรคซึมเศร้า แพทย์จะใช้เวลาซักถามประวัติไปอีก และถามว่ามีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือเคยฆ่าตัวตายหรือไม่

 

แต่หากเป็นเด็ก อาการแตกต่างไป เด็กอาจมีช่วงที่เล่นสนุกบ้าง ซึ่งอาจต้องใช้การสังเกตที่นานกว่าเคสผู้ใหญ่ เด็กอาจจะแสดงออกในรูปของการเป็นคนขี้หงุดหงิดง่ายแทน

 

บางครั้งผู้ที่คิดว่าตนเป็นโรคซึมเศร้า อาจเข้ามาพบนักจิตบำบัดก่อนเพื่อให้ช่วยดูอาการและบำบัดในเบื้องต้น หากดีขึ้นภายใน 1-2 สัปดาห์ ก็ไม่จำเป็นต้องรับยารักษากับจิตแพทย์ แต่หากนักจิตบำบัดมองว่า เป็นเคสที่มีความรุนแรงก็จะส่งตัวให้พบแพทย์ทันที

 

ในส่วนของผู้ที่สันนิษฐานว่า มีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคนี้ คำพูดที่ไม่ควรพูดกับพวกเค้าคือ “อย่าคิดมากน่า” , “สู้กับมันสิต้องเข้มแข็งหน่อยนะ” , “เลิกคิดเถอะ” , “แค่เรื่องแค่นี้จะเศร้าอะไรนักหนา” เพราะคำพูดเช่นนี้ จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเขาเป็นคนอ่อนแอ และเป็นภาระ ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง พวกเขามีความผิดปกติของสารเคมีในสมองร่วมด้วย ญาติควรมองพวกเขาเป็นผู้ป่วยคนหนึ่งเสมือนคนไม่สบายและดูแล ให้กำลังใจโดยการรับฟัง ซักถามความรู้สึก และพาผู้ป่วยออกไปทำกิจกรรมเพื่อให้คลายกังวล

 

ในการปฏิบัติที่อยากแนะนำให้ผู้ที่คาดว่า ป่วย หรือมีความรู้สึกเบื่อหน่ายบ่อย ๆ และผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคซึมเศร้าคือ 

1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

2. พยายามฝึกหาข้อดีของสิ่งต่าง ๆ รอบตัว มองบวก

3. เลือกทำกิจกรรมที่ชอบที่สนใจ

4. หมั่นพูดคุยกับเพื่อน เข้าสังคมบ่อย ๆ พากันไปทำกิจกรรมที่เปลี่ยนบรรยากาศ ไม่ให้อยู่ในสถานที่เดิม ๆ

5. ไม่ตั้งเป้าหมายสูงเกินไป

6. ฝึกวิเคราะห์และแยกแยะปัญหาเป็นประเด็น ๆ ไป ไม่นำมาเหมารวมกัน และจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่ต้องจัดการ ซึ่งจะทำให้มองเห็นความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหา ก็จะไม่เครียด และรู้สึกว่า ตนยังมีคุณค่า

 

แนะนำสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงในช่วงที่มีสภาวะซึมเศร้า คือ การเป็นที่ปรึกษาปัญหาให้กับคนอื่น ๆ เพราะจะทำให้จิตใจยิ่งหดหู่ไปด้วย

 

ขอให้ทุกท่านมีความสุขห่างไกลจากโรคซึมเศร้านะคะ 

แพรวจิตบำบัด

 

[ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม] You've been invited to the chat "ปรึกษาจิต+นิติเพื่อสังคม".

https://line.me/ti/g2/rooEoUs9W5mKkJUxuCFPKg

คอมมูนิตี้นี้ให้อิสระในการแสดงความคิดเห็นในทุกๆแง่มุม และเปิดพื้นที่สำหรับทุกท่านได้แสดงความรู้สึกส่วนตัว โดยความร่วมมือของผู้ชำนาญด้านจิตศาสตร์และนิติศาสตร์คอยรับฟังและให้คำแนะนำสำหรับท่านที่ต้องการ

 

เพจ "รักษาใจสู่สมดุล http://bit.ly/2XLV9Jy

 

//...................