'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (2)

'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (2)

 

อรุณรุ่งวันใหม่ ณ ดินแดน สิกขิมเรามุ่งหน้าสู่ “Namgyal Institute of Tibetology”

ที่นี่เป็นพิพิธภัณฑ์ และที่ศึกษาเรื่องราวชาวทิเบต โดยได้รับทุนสนับสนุน จากกษัตริย์สิกขิมองค์สุดท้าย

อาคารพิพิธภัณฑ์เด่นตระหง่านด้วยสถาปัตยกรรมแบบทิเบต รูปทรง สีสัน สะดุดตา ภายในเต็มไปด้วยโบราณวัตถุมีค่า เช่น พระพุทธรูป ภาพพุทธประวัติ หรือ ภาพ ทังก้า (Thangka)

ลวดลายแห่งความศรัทธา ถูกถ่ายทอดอย่างเป็นเอกลักษณ์  เก่าแก่ งดงาม ตามความเชื่อของพระพุทธศาสนาแบบทิเบต ที่หาชมได้ยาก

จากพิพิธภัณฑ์ เราเดินไปตามทางเล็ก ๆ ที่ประดับด้วยธงมนต์ 5 สี  อันหมายถึงสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติ

 

สีแดงคือไฟ สีขาวคือเมฆ สีเขียวคือต้นไม้  สีเหลืองคือดิน และสีฟ้าคือท้องฟ้า

ที่ปรากฏตรงหน้าเมื่อไปสุดทางเดิน คือสิ่งก่อสร้างสีขาวขนาดใหญ่รูปร่างแปลกตา ที่ชื่อ Duddul Chhoedtenศาสนสถานสำคัญของเมืองกังต๊อก

 

Chhoedten หมายถึง สถูป และรายล้อมองค์สถูปคือ กงล้อธรรม ที่จารึกคาถา โอม มณี ปัทเมหุม” ให้ผู้เดินทางมาแสวงบุญ ได้เดินวนไปรอบ ๆ พร้อม ๆ กับการสวดภาวนา

แสงวอมแวมของตะเกียงน้ำมันนับร้อย ลอดผ่านช่องหน้าต่าง ๆ เล็ก ๆ  นี่คืออีกหนึ่งสถานที่สำหรับการอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ ขณะที่ใครอีกหลายคน ก็เดินทางมาเพื่อกระทำสิ่งที่ตนเชื่อและศรัทธา

คนส่วนใหญ่ของอินเดีย นับถือศาสนาฮินดู แต่กว่าร้อยละ 60 ของคนที่นี่ นับถือพระพุทธศาสนา โดยมีศูนย์กลางในการเผยแผ่ อยู่ที่ รุมเต็ก” (Rumtek Monastery) ที่อยู่ห่างจาก กังต๊อก ราว 25 กม.

 

เส้นทางสู่ รุมเต็ก อุดมสมบูรณ์เขียวชอุ่มด้วยไม้ยืนต้น ที่สร้างความชุ่มชื้นให้ทั้งปี ตลอดรายทางประดับด้วยธงมนต์ปลิวสะบัดล้อลม ประหนึ่งว่า จะประกาศความศรัทธาของผู้คนที่นี่ ให้โลกได้ประจักษ์

รุมเต็ก เป็นที่ตั้งของ ศูนย์ธรรมจักร (Dharma Chakra Centre) ศูนย์กลางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 9

ที่นี่ ยังเป็นที่ตั้งของ “Karma Shri Nalanda”  สถาบันการศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูงอีกด้วย

 

ก่อนจาก กังต๊อก เราแวะซื้อของฝากที่โรงเรียนฝึกอาชีพ ที่นี่มีผลิตภัณฑ์งานฝีมือนักเรียนจากหลักสูตรต่าง ๆ เช่น พรมทิเบตซึ่งมีชื่อเสียงไปทั่วโลก การทอผ้า แกะสลักไม้ และการเขียนภาพ Thangka

นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชาวทิเบตที่มีฐานะยากจน พวกเขาได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วโลก

 

เราอำลา กังต๊อก ด้วยความอิ่มเอม ที่นี่เราเห็นผู้คนใช้ชีวิตอย่างเป็นมิตรกับธรรมชาติ โดยไม่ต้องเสแสร้ง หลากหลายชนชาติอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ด้วยความเชื่อความศรัทธาเดียวกัน

จากที่นี่ เรามุ่งสู่ ดาร์จีลิง” (Darjeeling) ที่ตั้งอยู่ในรัฐเบงกอลตะวันตก มีแม่น้ำ ทีสตา กั้นเป็นพรมแดนธรรมชาติกับ สิกขิม  สองข้างทางสวยงาม และหนาแน่นไปด้วยต้นสนกับต้นสักจำนวนมาก

 

“Lovers meet” สถานที่แวะพักระหว่างทาง เป็นจุดบรรจบของแม่น้ำ 2 สาย ทีสตา” (Teesta River) และ รังกีต” (Rangeet River)  เราสั่งชามาดื่ม และฟังไกด์เล่าเรื่องราวอันน่าตื่นตาตื่นใจ

ตำนานพื้นบ้านกล่าวถึง คู่รัก” ชายหนุ่มและหญิงสาวที่ลอบพบกัน ฝ่ายหนึ่งมีงูนำทาง จนกลายเป็นแม่น้ำที่ไหลคดเคี้ยว ขณะที่อีกฝ่ายมีเหยี่ยวนำทาง จึงไหลเป็นเส้นตรง กระทั่งได้พบกัน

“Lovers meet” เป็นสถานที่ยอดนิยมของนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะ คู่รัก ที่มักเก็บภาพไว้เป็นที่ระลึก

และใช้เวลานั่งจิบชา ชื่นชมทัศนียภาพอันงดงามเบื้องหน้า อย่างไม่รู้เบื่อหน่าย

 

เราเดินทางสู่เขต ดาร์จีลิง พบกับไร่ชาที่ทอดยาวสุดสายตาเบื้องหน้า ที่นี่รู้จักกันดีว่า เป็นแหล่งปลูกและผลิตชาที่ดีที่สุดในโลก ในอดีตอังกฤษได้พัฒนาให้เป็นเมืองตากอากาศ และศูนย์กลางการค้าในภูมิภาคนี้

หลังจากอังกฤษถูกยกเลิกการนำเข้าชาจากประเทศจีน จึงบุกเบิกการทำไร่ชาในอินเดีย และทดลองปลูกชาสายพันธุ์เดียวกับชาอู่หลง ซึ่งลักลอบนำเข้ามาจากจีน

เมื่อชาที่ทดลองปลูกและผลิตใน ดาร์จีลิง มีคุณภาพดีเทียบเท่ากับชาจีน จึงมีการขยายพื้นที่การปลูกมากขึ้น ส่งผลให้อินเดียกลายเป็นผู้ผลิตและส่งออกชา รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก

และพวกเขายังได้คิดค้นกรรมวิธีในการผลิตชา ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของคนที่นี่อีกด้วย

 

เราได้เข้าชมโรงงานผลิตชาเก่าแก่ ซึ่งมีอยู่เกือบร้อยแห่ง ใน ดาร์จีลิง ผู้จัดการโรงงานตั้งใจอธิบายกรรมวิธีต่าง ๆ พร้อมกับชงชาให้ดื่ม และนั่นก็ทำให้เราได้ของฝากเป็นชาหลายชนิด ติดมือกลับมาเมืองไทย

 

ก่อนเข้าที่พัก เราแวะถ่ายภาพรถไฟขบวนเล็ก ๆ “Toy Train” หรือชื่อเต็ม ๆ ว่า Darjeeling Himalayan Railway ซึ่งเป็นรถไฟใช้หัวรถจักรไอน้ำ ที่ใช้มาตั้งแต่สมัยอังกฤษ เข้ามาปกครองดินแดนแถบนี้

ปัจจุบัน “Toy Train” มีเพียง 2 โบกี้ จำนวน 18 ที่นั่ง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น มรดกโลก และคอยให้บริการนักท่องเที่ยว ที่อยากจะสัมผัสบรรยากาศการนั่งรถไฟกลางไร่ชา

 

แล้วราตรีก็มาเยือนอีกครั้ง คืนนี้ เราเลือกพักโรงแรมที่มีล็อบบี้เป็นโถงครึ่งวงกลม กระจกใสมองเห็นหมอกขาวเคลียคลอกับขุนเขา และบ้านหลังเล็ก ๆ เรียงรายลดหลั่นกันตามระดับความสูง

ชาหอมละมุนกลางทัศนียภาพงดงามของ ดาร์จีลิง เมืองแห่งขุนเขา คงไม่เกินเลยไปนัก ถ้าจะบอกว่า นี่คือความรื่นรมย์ที่ชาวอังกฤษชื่นชอบ จนถึงกับขนานนามว่า ราชินีแห่งขุนเขา” (The Queen of Hills)

เราเข้านอนแต่หัวค่ำ เพราะพรุ่งนี้ ยังมีภารกิจสำคัญของอีกวัน ในช่วงเช้าตรู่

 

ไทเกอร์ฮิลล์ (Tiger Hill) คือความปรารถนาของนักท่องเที่ยวจำนวนมาก ในการขึ้นสู่ยอดบนสุด เพื่อนั่งจิบชา ชม เทือกเขาหิมาลัย” อันเป็นเทือกเขาศักดิ์สิทธิ์ ของผู้คนแถบนี้

ในวันที่ท้องฟ้าสดใส จะสามารถมองเห็น ยอดเขา คันเช็งจุงก้า” (Kanchenjunga) ยอดเขาที่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจาก เอเวอร์เรสต์ และ เคทู

 

คันเช็งจุงก้า หมายถึงสิ่งมีค่าทั้งห้าแห่งหิมะ คือ ทอง เงิน อัญมณี เมล็ดพันธุ์ และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์

เราหวังจะได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นจากยอดเขา คันเช็งจุงก้าที่ ไทเกอร์ฮิลล์ แต่ฟ้าฝนยังไม่เป็นใจ  หมอกลงหนาจัด ไม่ต่างจาก เดโลฮิลล์ ที่ กาลิมปง

หลังจากหมดชาไปหลายแก้ว จนเวลาล่วงเลยไปมากโข ท้ายสุด เราก็ยอมจำนนลงจาก ไทเกอร์ฮิลล์

ที่เราได้ติดมือมา มีเพียงโปสการ์ด คันเช็งจุงก้า กับความรู้สึกอิ่มเอม ในความงามที่ธรรมชาติได้สร้างสรรค์ไว้บนโลกใบนี้ กระนั้น เราก็ยังหมายใจว่า สักวันหนึ่ง เราจะกลับมาเยือนอีกครั้งให้ได้

 

นี่คือความอุดมสมบูรณ์ของผืนแผ่นดิน ซึ่งเต็มไปด้วยการพึ่งพิงกัน ของสรรพสิ่งในธรรมชาติ

ดอกไม้แสนสวย ที่ กาลิมปง ชาหอมกรุ่น ที่ ดาร์จีลิง และสายหมอกหยอกล้อขุนเขา ที่ สิกขิม

ทั้งหมดนี้ จะประทับฝังแน่น อยู่ในความทรงจำอันงดงามไม่รู้เลือน...

 

//....................

 

หมายเหตุ : 'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (2) : คอลัมน์ “ลมหายใจเดินทาง” โดย “จตุระคน” (ออนอาร์ต)

 

'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (1)

 

http://bit.ly/2Y4Y3bO

 

//....................