'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (1)

'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (1)

 

ใครหลายคนเคยพูดถึง สิกขิมดินแดนที่ได้ชื่อว่า สวิสเซอร์แลนด์แห่งดินแดนตะวันออก

รัฐเล็กที่สุดทางตอนเหนือของประเทศอินเดีย มีชื่อเสียงในเรื่องความงดงามของธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งปลายทางยอดนิยม ของนักปีนเขาจากทั่วโลก

สิกขิม มีประวัติศาสตร์ยาวนาน เกี่ยวข้องกับ ทิเบต ภูฏาน เนปาล และจีน ไม่เว้นกระทั่งอังกฤษ เจ้าอาณานิคมเดิมของอินเดีย แต่แทบทุกคนที่ได้ไปเยือน ต่างบอกตรงกันว่า ที่นี่ไม่เหมือนอินเดียที่คุณรู้จัก

คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการพิสูจน์ด้วยตนเอง ดังนั้น เราจึงมุ่งหน้าจากสนามบินสุวรรณภูมิ สู่ โกลกาตา” (Kolkata)เมืองหลวงของ รัฐเบงกอลตะวันตก (West Bengal) โดยใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง แล้วต่อเที่ยวบินภายในประเทศอีก 1 ชั่วโมง ไปยัง แบกโดกรา” (Bagdogra) ซึ่งตั้งอยู่ตอนเหนือของรัฐเบงกอลตะวันตก

 

เพียงพ้นประตูอาคารสนามบินแบกโดกรา เสียงโหวกเหวกจากบรรดาคนขับรถรับจ้างก็เซ็งแซ่ เฮละโลยื้อยุดจับรถเข็น หวังได้เราเป็นลูกค้า จนทำให้ต้องรีบจ้ำอ้าว เพื่อไปให้ถึงรถของเราโดยเร็วที่สุด

เราอดคิดในใจไม่ได้ว่า เหมือนอินเดียชะมัด แล้วก็แอบโล่งใจที่ติดต่อไกด์ท้องถิ่นไว้ล่วงหน้า จากนั้นรถยนต์โฟล์วิล ก็พาเรามุ่งหน้าสู่ กาลิมปง” (Kalimpong) เมืองเชิงเขา จุดพักคืนแรก

 

รถวิ่งหลบหลุมขนาดใหญ่มาก บนถนน 2 เลนแคบ ๆ อย่างทุลักทุเล เรากังวลว่า ถ้าตกไปคง งานเข้า แน่ ๆ ตลอดรายทางเสียงแตรดังสนั่น ไม่ต่างจากอินเดียที่เรารู้จัก ขณะที่ผู้คนและรถราขวักไขว่บนท้องถนน

ที่แตกต่างจากอินเดีย และสะดุดตาตั้งแต่ลงจากเครื่องบิน เห็นจะมีแค่ความเขียวชอุ่ม ตลอดสองข้างทาง ที่เต็มไปด้วยไม้ยืนต้นขนาดใหญ่จำนวนมาก เกินกว่าที่คาดคิดไว้

 

เราถึงที่พัก พนักงานโรงแรมกุลีกุจอต้อนรับ ด้วยความยินดีที่มีนักท่องเที่ยวมาเยือน นี่อาจเป็นเพราะก่อนหน้านี้ มีฝนตกติดต่อกันมาหลายวัน ต้องยอมรับว่า สายฝนเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับแหล่งท่องเที่ยวบนภูเขาสูง เพราะนั่นหมายถึงการเดินทางที่ยากอยู่แล้ว จะยิ่งลำบากขึ้นอีก

จะเว้นก็แต่สิ่งมีชีวิตที่ชื่อต้นไม้ ที่ดูจะยินดีปรีดากับสายฝนชุ่มฉ่ำ เฉกเช่นหัวใจเราในวันที่เดินทางมาถึง พนักงานฉีกยิ้มเป็นมิตร พร้อมกับชาร้อน ๆ ท่ามกลางหมู่แมกไม้ และบรรยากาศเงียบสงบ

เราหลับใหลด้วยความเหน็ดเหนื่อย กับราตรีแรกที่ กาลิมปง พื้นที่หนาวเย็นตลอดปี บนความสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 4 พันฟุต

 

เช้าวันรุ่งขึ้น เรามุ่งหน้าสู่ เดโลฮิลล์” (Delo Hill) จุดชมวิวยอดนิยม น่าเสียดายที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ ไม่แค่ฝนที่ตกปรอย ๆ แต่ยังมีหมอกหนาจัด จนแทบไม่เห็นสีสันสดใสของมวลดอกไม้ เราได้แต่นั่งจิบชาอุ่น ๆ กับสายหมอก และคอยโบกมือลานักท่องเที่ยวอีกหลายคน ที่กลับลงไปด้วยความผิดหวัง

พนักงานของโรงแรมบน เดโลฮิลล์ เล่าให้ฟังด้วยความภูมิใจว่า กาลิมปง เป็นแหล่งสำคัญในการเพาะพันธุ์ไม้ของอินเดีย โดยเฉพาะกล้วยไม้ซึ่งส่งออกไปจำหน่ายทั่วโลก

ว่ากันว่า วัฒนธรรมการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ ได้รับอิทธิพลจากชาวอังกฤษ

เช่นเดียวกับวัฒนธรรมด้านการศึกษา ที่อังกฤษทิ้งไว้ให้ และทำให้ชื่อเสียงอีกด้านของ กาลิมปง คือสถาบันพัฒนาภาษาอังกฤษ ที่อยู่ในระดับแนวหน้าของเอเชีย จนใครต่อใครก็อยากส่งลูกหลานไปเล่าเรียน
          เราอ้อยอิ่งไม่นานนัก ก็เดินทางสู่ กังต๊อก (Gangtok) เมืองเอกของ สิกขิม และเมื่อสายหมอกจางลง ความเขียวสดของทุ่งข้าวขั้นบันได ที่ซุกซ่อนอยู่ในหุบเขา ก็ปรากฏต่อสายตาอย่างน่าอัศจรรย์

 

พาหนะคู่ใจพาเราไต่ความสูง ที่ความเร็วประมาณ 30 กม.ต่อชั่วโมง สลับกับการหลบหลีกหินก้อนใหญ่ ที่หล่นลงมาขวางถนนเป็นช่วง ๆ จนต้องลงจากรถ เดินเลาะริมถนนอยู่หลายครั้ง

คนขับรถชาว เนปาลี หัวเราะอารมณ์ดี โดยเฉพาะเมื่อเห็นเราทำท่าหวาดผวา กับหุบเหวสองข้างทาง

รถวิ่งผ่านน้ำตกเล็ก ๆ หลายแห่ง มองเห็นสายน้ำไหลลัดเลาะเซาะภูเขาสูงลงมา เป็นสายธารเล็ก ๆ ที่ว่ากันว่า ต้นทางของสายน้ำเหล่านี้ มาจาก เทือกเขาหิมาลัย อันศักดิ์สิทธิ์

 

ไกด์เล่าเรื่องราว “สิกขิม ว่า เป็นรัฐที่ตั้งอยู่สูงที่สุดของอินเดีย สูงกว่าระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,600 เมตร มีเมืองเอก คือ “กังต๊อก” และเดิมเป็นรัฐอิสระปกครองตนเอง มีผู้คนหลากหลาย

สิกขิม หมายถึง บ้านใหม่ มีที่มาจากชาว เลปชา ที่อพยพจาก ทิเบต มาตั้งถิ่นฐาน

ไกด์ให้เราลองทายว่า เขาเป็นชาวเนปาลี ทิเบต หรือเลปชา คำตอบของเราทำให้เขายิ้มกว้าง เมื่อเราบอกว่า เขาเป็นชาว สิกขิม เพราะเราแยกไม่ออกถึงความแตกต่าง

 

กังต๊อก ต้อนรับเราด้วยทิวทัศน์มุมสูง ผ่านกระเช้าไฟฟ้าใจกลางเมือง ที่ไม่ใช่แค่บริการนักท่องเที่ยว แต่ยังเป็นพาหนะของผู้คนที่นี่ เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ ๆ อยู่ในระดับความสูงที่มากขึ้น

ณ จุดที่เรียกว่า “A majestic views of Gangtok” เป็นจุดสูงที่สุดของ กังต๊อก ประมาณ 1,800 เมตร จากระดับน้ำทะเล อยู่บริเวณวัดฮินดู ที่เรียกกันว่า “Ganeshtok” เรามองเห็นพระราชวังของกษัตริย์ “สิกขิม บน ยอดเขาอีกฝั่งหนึ่งไกลออกไป กระนั้น ภาพที่เห็น ก็งดงามราวกับชะลอวิมานลงมาเลยทีเดียว

 

เจ้าของร้านขายเครื่องดื่มขนาดกระทัดรัด ที่จุดชมวิว ยิ้มกว้างมารับออเดอร์ แล้วบอกอย่างภูมิใจว่า แม้ชาที่นี่จะสู้ที่ ดาร์จีลิง ไม่ได้ แต่ที่นั่นไม่มีจุดชมวิวสวยเท่าที่นี่แน่ ๆ นี่ทำให้เราอดอมยิ้มเล็ก ๆ ไม่ได้

ตลอดการเดินทาง เสียงชื่นชมความงามของธรรมชาติ เข้าหูเราตลอดเวลา แล้วก็ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ในเมื่อธรรมชาติสร้างสรรค์สิ่งงดงามเช่นนี้ แล้วเหตุใด มนุษย์จึงพยายามจะเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

ที่ กังต๊อก เราเห็นป้ายรณรงค์งดใช้ถุงพลาสติกอยู่ทั่วไป และเห็นผู้คนช่วยกันทำอย่างจริงจัง ที่นี่ เราเห็นขนมห่อด้วยใบไม้ ซึ่งก็ทำให้เราอดคิดถึงขนมห่อใบตองที่เมืองไทยไม่ได้ด้วยเหมือนกัน

 

เราดื่มชาอย่างอ้อยอิ่ง มองบ้านหลังเล็ก ๆ ลดหลั่น เรียงราย หลากสี โอบล้อมด้วยสีเขียวสดของขุนเขาและทุ่งข้าว สายหมอกค่อย ๆ เคลื่อนผ่านยอดเขาช้า ๆ

เราดื่มด่ำกับธรรมชาติงดงามตรงหน้า จนไม่รู้ว่า เวลาเดินทางผ่านไปนานเพียงใด

 

เพียงแค่ 2 วันใน สิกขิม ที่ได้รับการขนานนามว่า สวิสเซอร์แลนด์แห่งดินแดนตะวันออก” มนต์เสน่ห์บางอย่างของที่นี่ ก็ทำให้เราอยากยืดเวลาอยู่ต่อไป ให้ยาวนานที่สุด

การเดินทางยังไม่จบลงง่าย ๆ โดยเฉพาะบนเส้นทางที่โอบล้อมความงดงาม ที่ธรรมชาติได้รังสรรค์

สิกขิม ยังมีจุดหมายให้ไปต่อ กับความหมายของดินแดน ที่ไม่เหมือนอินเดียที่คุณรู้จัก...

 

//....................

 

หมายเหตุ : 'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (1) : คอลัมน์ “ลมหายใจเดินทาง” โดย “จตุระคน” (ออนอาร์ต)

 

'สิกขิม' : จิบชาในอ้อมกอดของขุนเขา (2)

 

http://bit.ly/2NYeG4T

 

//....................